ในยุคที่ข้าวของขยับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มนุษย์เงินเดือนไม่ได้ปรับเงินเดือนขึ้นตามทุกเดือน สิ่งที่จะปรับได้ก็คงเป็น "พฤติกรรม" ของเราๆ ท่านๆ นั่นเองเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปต่อได้แบบไม่ลำบากมากนัก วันนี้เราจึงได้รวบรวม 5 ไลฟ์สไตล์ที่ควรปรับเปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตประหยัดมากขึ้นมาฝากกัน จะมีสิ่งใดบ้างนั้น ติดตามได้เลยค่ะ
1. เป็นนัก "เปลี่ยน" ในยุคของแพง
หากคุณทำใจทนใช้โปรโมชันโทรศัพท์มือถือแบบเดิมๆ มานานหลายปี (แม้จะโทรติดๆ ดับๆ เน็ตเดี้ยงบ้างหลุดบ้าง) ลองเปลี่ยนค่ายดูบ้างก็ดีค่ะหาโปรโมชันใหม่ที่มันโดนใจไม่แพ้กัน แต่ราคาถูกกว่าจากค่ายคู่แข่ง แล้วยกเลิกค่ายเก่าไปเลย ยุคนี้ของถูกกว่าประหยัดเงินกว่าย่อมดีกว่าเสมอ
นอกจากนั้นแล้ว คุณอาจลองทำความรู้จักร้านแก๊สใหม่ๆ บ้าง ลองสั่งจากร้านใหม่บ้าง ไม่แน่ว่าร้านใหม่นี้อาจขายแก๊สให้คุณราคาถูกกว่าร้านเดิม แถมบริการดีกว่าด้วยก็ได้ ซาเล้งรับซื้อของเก่าก็เช่นกัน คุณควรทำความรู้จักเอาไว้หลายๆ เจ้า และหาเจ้าที่ดีที่สุด ไม่ควรปักใจไว้ที่เจ้าใดเจ้าหนึ่ง เพราะเขาอาจกดราคาเวลารับซื้อของจากคุณก็ได้
สุดท้ายก็คือบริการเคเบิลทีวี เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าเก่าครองตลาดมานานจึงจะมีรายการที่ดีที่สุด แต่เจ้าใหม่ๆ บางทีก็น่าสนใจกว่า มีบอลดีๆ ให้ดู แถมถูกกว่า หนังก็ทันสมัยกว่าก็มีค่ะ ซึ่งบริการเหล่านี้ ถ้าไม่ลองเปลี่ยนก็อาจไม่ทราบก็ได้ว่าของใหม่นั้นดีกว่าอย่างไร ดังนั้น ลองกล้าเปลี่ยนกันดูนะคะ
2. ลดรายจ่ายรายวัน
ข้อนี้ลดไม่ยากหากตั้งใจ ขอเพียงลองเปลี่ยนวิธีการไปทำงานดู จากเคยขึ้นรถไฟฟ้า ลองเปลี่ยนเป็นว่าถ้าตั้งใจตื่นเช้ากว่านี้สักหน่อย แล้วขึ้นรถเมลไปแทนจะสะดวกไม่แพ้กันไหม (แถมประหยัดกว่า และไม่ต้องเดินขึ้นบันไดรถไฟฟ้าให้เหนื่อยด้วย) หรือคนมีรถขับ ถ้าออกแต่เช้าอีกหน่อยก็อาจไม่ต้องผจญรถติด เสียเวลา เสียน้ำมัน ดีต่อสตางค์ในกระเป๋าเช่นกัน
นอกจากนั้น ในระหว่างวันก็สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ เช่นลองห่อข้าวไปกินที่ทำงาน (ส่วนมากกับข้าวที่ทำเองที่บ้านมักจะดีต่อสุขภาพมากกว่ากับข้าวที่ไปหาซื้อข้างออฟฟิศมากมาย แถมประหยัดเงินได้มากอยู่ค่ะ) หรือจะลองค้นดูว่า ชา กาแฟชนิดซองที่เก็บกลับมาจากโรงแรมต่างๆ ที่เคยไปพัก อยู่ที่ไหนน่าจะเอามาใช้บ้าง เช่นเอาไว้ชงดื่มที่ทำงานก็ได้ จะได้ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินซื้อกาแฟเย็น - ชาเย็นแก้วละ 30 - 40 บาท
อีกนิสัยหนึ่งคือ การซื้อกับข้าวพร่ำเพรื่อเพราะเป็นไปได้ว่ากับข้าวบางอย่างซื้อมาอาจไม่ได้กิน แช่ตู้เย็นทิ้งไว้นานจนเน่าเสีย ลองเปลี่ยนเป็นจ่ายตลาดสัปดาห์ละหนวางแผนให้ชัดว่าจะทำเมนูใดบ้างก็น่าจะดีกว่า
3. ลดค่าใช้จ่ายในการออกกำลังกาย
การลดค่าใช้จ่ายในการออกกำลังกายไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องออกกำลังกาย แต่ให้ลองเปลี่ยนสถานที่ดู ยิ่งถ้าเคยเล่นฟิตเนสมาก่อน โดยมากแล้วจะทราบวิธีในการออกกำลังกายที่ได้ผลจากบรรดาเทรนเนอร์มาแล้ว ปีใหม่นี้ ไม่ต้องไปเสียเงินให้ฟิตเนสอีกก็ได้ค่ะ ลองเล่นเองที่บ้านดู ประหยัดทั้งเงินและเวลา เพราะลองคิดดูว่า จะไปเล่นฟิตเนสนั้น คุณต้องแต่งตัว เดินทางออกจากบ้าน เพื่อไปเล่น 1 - 2 ชั่วโมง แล้วก็ขับรถฝ่าการจราจรกลับบ้านอีก บางครั้งเสียเวลาเยอะกว่าเสียเหงื่ออีกค่ะ ตีแบดอยู่หน้าบ้านก็อาจสนุกกว่าก็ได้
4. ลดอบายมุข
ลองเลิกบุหรี่ เลิกตั้งวงเหล้า หรือเลิกเล่นหวย แล้วเอาเงินที่เคยให้อบายมุขมาฝากธนาคารดูฝากลืมๆ ทุกเดือน ไม่ต้องไปสนใจบัญชีนี้ให้มาก ไม่แน่ว่าสิ้นปี 2556 กลับมาเปิดดูคุณอาจพบว่า นี่ล่ะ คือบัญชีสะสมทรัพย์ตัวจริงก็ได้
ท่านที่ติดอบายมุขเหล่านี้จนงอมแงมอาจมีข้ออ้างว่า เป็นคนชอบลุ้น (รวยเมื่อไรค่อยว่ากัน) ชอบสนุกสนานเฮฮา แต่ถ้าลองเก็บเงินไปสักปี มีเงินเก็บแบบไม่ต้องลุ้น ไม่ดีกว่าหรือคะ
5. วางแผนสำหรับการใช้เงินตลอดทั้งปีดีกว่า
นอกจากเก็บเงินเอาไว้สำหรับอนาคตแล้ว ในแต่ละปี คุณควรวางแผนการเก็บเงินสำหรับใช้จ่ายในแต่ละปีเอาไว้ด้วย เพราะจะทำให้ทราบว่าคุณต้องใช้เงินก้อนใด เมื่อไร พอทราบข้อมูลที่จำเป็นเหล่านี้แล้ว ก็จะทำให้การเงินของครอบครัวมั่นคงมากขึ้นค่ะ