ย้อนอดีต"มือถือ"ครบรอบ 40 ปีแล้ว!!!
รายการ 60 minutes ทำสกู๊ปพิเศษในวาระครบรอบ 40 ปีของ"มือถือ" (cell-phone) ที่เกิดขึ้นมา และเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกจนถึงวันนี้ โดยในรายการได้สัมภาษณ์ Martin Cooper หนึ่งในผู้สร้างมือถือเครื่องแรกของโลกเป็นผลสำเร็จ เมื่อย้อนกลับไปวันที 3 เมษายน 1973
Martin Cooper มาพร้อมกับ DaynaTAC มือถือทีมีน้ำหนัก 2.2 ปอนด์ (ประมาณ 1 กิโลกรัม) และความยาวของตัวเครื่องอยู่ที่ 10 นิ้ว (ความยาวเกือบเท่ากับไม้บรรทัด) มันเป็นมือถือที่ออกมาก่อนถึง 10 ปีกว่าที่ทาง Motorola จะผลิตมือถือออกมาวางจำหน่ายในตลาด Cooper และเพื่อนของเขาได้จดสิทธิบัตรสำหรับระบบโทรศัพท์คลื่นวิทยุในเดือนตุลาคม 1973 แต่มือถือของพวกเขาไม่ได้วางจำหน่ายจนกระทั่งปี 1983 โดยสนนราคาต่อเครื่องประมาณ 4,000 เหรียญฯ (เทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันก็ประมาณ 120,000 บาท...อุ๊ปส์!!!) สำหรับไอเดียของมือถือเกิดขึ้นที่ Bell laboratories ในช่วงปลาย 1940 ซึ่งในตอนนั้นมีการทำนายกันด้วยว่า การสื่อสารด้วยอุปกรณ์โมบายจะถูกใช้แพร่หลายในอนาคต และ 40 ปีต่อมาก็เป็นจริง
อย่างไรก็ตาม 40 ปีต่อมาหลังจากการเกิดมือถือขึ้นบนโลก พวกมันได้เปลี่ยนจากการสื่อสารด้วยเสียงไปสู่การเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาที่สามารถใช้เซย์ฮัลโหลได้ เมื่อมือถือเริ่มกลายเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภค ขนาดของมันจึงถูกปรับให้เล็กลงมาเรื่อยๆ ซึ่งหากย้อนกลับไปก่อนหน้ายุค smartphone มือถือที่มีขนาดเล็กลงจนพกพาได้สะดวกอย่าง StarTAC ของ Motorola และอีกหลายๆ รุ่นของ Nokia ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วง 1990 และในปี 2000 เมื่อ BlackBerry เปิดตัว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมือถือที่ฉลาดกว่าเดิม เพราะไม่ใช่แค่ใช้ฮัลโหลอย่างเดียว แต่รับส่งอีเมล์ได้ด้วย จนกระทั่งในปี 2007 บริษัท Apple ได้ออก iPhone เครื่องแรก ไอเดียของมือถือได้ขยับเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาที่ใช้โทรศัพท์ได้ก็ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั่วโลกอย่างท่วมท้น
สำหรับในวาระครบ 40 ปีของมือถือ เรากำลังจะเห็นความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมโมบายอีกครั้งโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่เตรียมยกระดับจากมือถือ และสมาร์ทโฟนไปสู่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้สวมใส่ หรือเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายผู้ใช้ทีเรียกว่า wearable computing อย่างเช่น Google Glass หรือ Smart Watch (นาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ) จาก Apple และ Samsung อย่างไรก็ตาม Cipper คิดว่า มือถือสมัยใหม่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และเชื่อว่า มันยังมีช่องว่างของการพัฒนาอุปกรณ์สื่อสารไร้สายอีกมากมาย เทคโนโลยีที่แท้จริงในความคิดของ Cooper ต้องมองไม่เห็นมันโดดเด่นเป็นตัวตนอย่างทุกวันนี้ เรายังคงทำได้แค่ทำให้พวกมันเล็กลง และเบากว่าคู่มือที่มากับอุปกรณ์พวกนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นยังคงมีช่องว่างของการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีก