พม่าอนุญาตให้หนังสือพิมพ์รายวัน วางแผงครั้งแรกในรอบ 50 ปี

 




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  media.cmgdigital.com , townhall.com

          วันที่ 1 เมษายน สำนักข่าวเอพีรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่าว่า หนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับในพม่าเริ่มกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง หลังมีการยกเลิกนโยบายผูกขาดด้านสื่อสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลทหารเมื่อกว่า 50 ปีก่อนอย่างเป็นทางการ

          รายงานของกระทรวงข่าวสารพม่า ระบุว่า ตอนนี้มีการอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการฉบับใหม่ ให้แก่หนังสือพิมพ์ไปแล้ว 16 ฉบับ แต่มีเพียง 4 ฉบับเท่านั้นที่ยืนยันพร้อมตีพิมพ์และวางจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป ได้แก่ เดอะ วอยซ์ เดลี่, เดอะ โกลเด้น เฟรช แลนด์, ดิ ยูเนี่ยน ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเสนอข่าวจากกรุงเนปิดอร์ เมืองหลวง และ เดอะ สแตนดาร์ด ไทม์ในจำนวนนี้รวมถึงหนังสือพิมพ์ "เดอะ วอยซ์ เดลี่" ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) องค์กรการเมืองฝ่ายค้านของประเทศ ที่มีนางออง ซาน ซูจี เป็นผู้นำนั่นเอง

          ขณะที่บรรดาผู้ประกอบอาชีพด้านสื่อสารมวลชนในพม่า ต่างออกมากล่าวเป็นเสียงเดียวกันด้วยความยินดีว่า ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของนโยบายปฏิรูปสื่อโดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ซึ่งประกาศแนวทางครั้งแรกเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ยกเลิกข้อบังคับที่สื่อมวลชนต้องนำเสนอต้นฉบับสิ่งพิมพ์ตนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจสอบ ก่อนนำออกเผยแพร่สู่สาธารณะ

          ในอดีต พม่าถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการจำกัดและลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารมากที่สุดในโลก หนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ไม่ว่าจะเป็นภาษาพม่า ภาษาจีน ภาษาอินเดีย หรือภาษาอังกฤษ จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมสื่ออันเข้มงวดนายพลเน วิน ผู้นำเผด็จการทหาร ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2505

          อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่กฎหมายสื่อสารมวลชนฉบับใหม่ยังคงไม่เป็นรูปเป็นร่างที่สมบูรณ์ รัฐบาลพม่าจึงเห็นสมควรให้นโยบายบางประการที่บังคับใช้มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ยังมีผลบังคับใช้ไปก่อน เช่น สำนักพิมพ์ใดลอบจำหน่ายผลงานโดยที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตฉบับใหม่ถือว่ามีความผิดมหันต์ ถึงขั้นอาจถูกสั่งปิดทันที และเจ้าของสำนักพิมพ์ รวมถึงบรรณาธิการอาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี

Credit: http://hilight.kapook.com/view/84126
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...