วันอนุรักษ์มรดกไทย ตรงกับวันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เนื่องมาจากเป็นวันคล้าย วันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี รัฐบาลจึงได้กำหนดเป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ด้วยตระหนักในพระปรีชาสามารถในด้านศิลปะวัฒนธรรม และพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงอนุเคราะห์สนับสนุนกิจกรรมอันเนื่องด้วยงานวัฒนธรรมของชาติเสมอมา
พระองค์ได้รับการทูลเกล้าฯถวายพระสมัญญา เมื่อพ.ศ. 2531 ว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน” เมื่อพ.ศ. 2546 ซึ่งมีความหมายว่าทรงพระปรีชาสามารถในการเป็นศิลปิน ทรงมีคุณูปการต่องานศิลปวัฒนธรรม และทรงเป็นเมธีทางด้านวัฒนธรรม
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติได้เขียนในคำนำหนังสือ "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีกับการอนุรักษ์มรดกไทย" ตอนหนึ่งว่า
“....หน้าที่ในการรักษาและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาตินี้ เป็นภาระอันหนัก หากขาดความกล้าหาญและการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดจะรับได้ นอกจากนั้นก็ยังต้องการความเสียสละในเกือบจะทุกทาง ต้องการเวลา ต้องการความอดทน และที่สำคัญที่สุดก็คือจะละเว้นการศึกษาเสียมิได้ ต้องอยู่ในสิกขาตลอดไป
ทั้งหมดเหล่านี้เป็นพระคุณลักษณะของทูลกระหม่อม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพราะฉะนั้นผู้ใดที่ได้ทราบและสำนึกในพระบารมีของทูลกระหม่อมแล้ว ความมั่นใจก็จะเกิดขึ้นว่าสมบัติของชาตินั้น คงจะไม่สูญไปโดยง่าย พร้อมกับความภูมิใจที่จะต้องเกิดขึ้นว่า ตัวเรานั้นก็เป็นคนไทย เป็นเจ้าของสมบัติอันล้ำค่าที่ทูลกระหม่อมทรงรักษาไว้นี้ด้วยอีกผู้ หนึ่ง......”
หัวข้อ
ความเป็นมา
คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้มีมติเห็นชอบคำจำกัดความคำว่ามรดกไทย คือ "มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งได้แก่ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์และดนตรี ตลอดจนถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่างๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา"
คณะรัฐมนตรีซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย"
ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรมอัน เป็นเอกลักษณ์ของชาติให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอด มา
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันอนุรักษ์มรดกไทย
1. เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
2. เพื่อรณรงค์ให้มีการสงวนรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างถูกวิธี
3. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีความรู้สึกร่วมในความ เป็นเจ้าของโบราณ
สถาน โบราณวัตถุและร่วมรับผิดชอบดูแลทะนุบำรุงรักษาได้เป็นมรดกไทยประจำถิ่น
4. เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น
5. เพื่อลดอัตราการสูญเสีย และการถูกทำลายของโบราณสถานโบราณวัตถุให้น้อยลง
6. เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งมีผลให้วัฒนธรรมไทยเบี่ยงเบนเปลี่ยนทิศทางไป
อ้างอิง http://kpp-culture.com/index_files/DAY.htm