ภูเขาไฟในไอซ์แลนด์ที่กำลังปะทุอยู่ในตอนนี้ ได้สร้างความปั่นป่วนโกลาหลให้กับการคมนาคมทางอากาศของหลายประเทศในยุโรป แต่บนโลกของเรายังมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ไม่น้อยกว่า 1,500 ลูก และมีภูเขาไฟบางลูกกำลังปะทุอยู่อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว จนถึงในตอนนี้ก็ยังปะทุอยู่ ทว่ายังมีความจริงอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับภูเขาไฟที่ใครหลายคนยังไม่เคยรู้มา ก่อน
ไลฟ์ไซน์ด็อท คอมได้นำเสนอ 11 ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับภูเขาไฟบนโลก ได้แก่
1. หินพัมมิส (pumice) เป็นหินภูเขาไฟเพียงชนิดเดียว ที่สามารถลอยน้ำได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นหินสีเทา และมีรูพรุนจำนวนมาก เกิดจากการที่ก๊าซร้อนไหลผ่านในขณะที่หินหลอมเหลวหรือลาวาภูเขาไฟกำลังเย็น ตัวลง
2. ภูเขาไฟที่ก่อให้เกิดมหันตภัยร้ายแรงมากที่สุดคือ ภูเขา ไฟยักษ์ หรือ ซูเปอร์โวลแคโน (super volcanoes) ซึ่งการปะทุของภูเขาไฟยักษ์ สามารถทำให้เกิดฝนลูกไฟ ตกลงในบริเวณรอบภูเขาไฟได้ไกลหลายพันไมล์ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไปทั่วโลก เช่น ทำให้อุณหภูมิของโลกลดลง เนื่องจากอนุภาคของเถ้าถ่านปริมาณหลายตันที่ถูกพ่นออกจากปากปล่องภูเขาไฟลอย ปะปนอยู่ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งกรณีแบบนี้เป็นเวลาหลายแสนปีจึงจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตามในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellowstone National Park) ในสหรัฐฯ มีภูเขาไฟยักษ์ลูกหนึ่งซ่อนตัวอยู่ และนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าอาจจะเกิดปะทุขึ้นมาได้ในอีกไม่ช้าไม่นานนี้
3. ภูเขาไฟปะทุครั้งใหญ่ที่สุดที่ในประวัติศาสตร์ ที่ได้มีการบันทึกไว้เกิดขึ้นที่ภูเขาแทมโบรา (Mount Tambora) บนเกาะซัมบาวา (Sumbawa) ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 1815 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 100,000 คน ซึ่งตามรายงานของหน่วยสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ (U.S. Geological Survey) ระบุว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีภูเขาไฟปะทุเกิดขึ้นมากที่สุดในประวัติ ศาสตร์ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว 76 ครั้ง
4. ภูเขาไฟส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้กับแนวรอยต่อของแผ่นทวีป แต่มีภูเขาไฟบางลูก เช่น ภูเขาไฟยักษ์ในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณดังกล่าว แต่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์รวมความร้อน (hot spot) บริเวณอื่น ที่มีแมกมาไหลอยู่ท่วมท้นลึกลงไปใต้พิภพ
5. ไอซ์แลนด์ ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งไฟและน้ำแข็ง เพราะไอซ์แลนด์ตั้งอยู่บนส่วนยอดของแนวสันภูเขาไฟ ที่จมอยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติก และล่าสุดเพิ่งเกิดการปะทุของภูเขาไฟใต้ธาร น้ำแข็งเอยาฟจาลาโยคูลล์ (Eyjafjallajokull) เมื่อกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีความรุนแรงเทียบได้กับการปะทุของภูเขาไฟสแคปตาร์ (Mount Skaptar) เมื่อปี 1783 ซึ่งทำลายพื้นที่เกษตรกรรมและการทำประมงของไอซ์แลนด์ไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ประชากรไอซ์แลนด์ถึง 1 ใน 5 ของประเทศ ต้องเสียชีวิตเนื่องจากขาดแคลนอาหาร
6. ภูเขาไฟปินาตูโบ (Mount Pinatubo) ในประเทศฟิลิปปินส์ที่ปะทุขึ้นในปี 1991 เป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุด เนื่องจากภูเขาพ่นก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกมามากถึง 22 ล้านตัน สู่ชั้นบรรยากาศของโลก และทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลดลงอย่างน้อย 0.5 องศาเซลเซียส ตามรายงานของหน่วยสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ
7. ภูเขาไฟสามารถขยายใหญ่ขึ้นได้ เนื่องจากการสะสมของลาวาและเถ้าถ่านจากภูเขาไฟที่ทำให้ชั้นผิวของภูเขาไฟหนา และสูงขึ้น ซึ่งนี่คือการเกิดภูเขารูปแบบหนึ่งนั่นเอง
8. ภูเขาไฟสามารถดับสูญได้ หากนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ได้ว่าภูเขาไฟลูกนั้นจะไม่ปะทุขึ้นอีก และพิจารณาเห็นว่าภูเขาไฟลูกดังกล่าวดับแล้ว ส่วนภูเขาไฟที่ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ในตอนนี้แต่อาจจะปะทุขึ้นมาอีกได้ในอนาคต จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของภูเขาไฟที่สงบนิ่งอยู่
9. การปะทุของภูเขาไฟบางลูก ที่มีความรุนแรงมากสามารถทำให้ปากปล่องภูเขาไฟพังทลายลงได้ และเกิดเป็นหลุมรูปร่างคล้ายชามขนาดยักษ์ เรียกว่า แคลเดรา (caldera)
10. ภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ ภูเขาไฟเมานาโลอา (Mauna Loa) บนเกาะฮาวาย สหรัฐฯ ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 13,000 ฟุต ทั้งนี้ ฮาวายถือเป็นเกาะที่เกิดจากภูเขาไฟรวมกัน 5 ลูก
11. ภูเขาไฟทำให้ดวงอาทิตย์ส่องแสงหลายสีได้ เมื่อยามลับขอบฟ้า ดังเช่นเมื่อภูเขาไฟคาซาโตชิ (Kasatochi) ในอลาสกาปะทุขึ้นในปี 2008 ผู้คนทั่วโลกสามารถเห็นพระอาทิตย์ตกมีสีส้มปะการังสวยแปลกตา ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากเถ้าถ่านภูเขาไฟที่มีขนาดอนุภาคละเอียดลอย ปะปนในชั้นบรรยากาศ และทำให้รังสีดวงอาทิตย์หักเหและสะท้อนแสงสีสวยออกมา