1. แนวปะการังใต้ทะเลเบลีซ ประเทศเบลีซ
ที่นี่คือหนึ่งในระบบนิเวศน์ที่มีแนวปะการังใต้ทะเลมากที่สุดใน โลก เป็นบ้านของสัตว์ทะเลจำนวนมาก ทั้งฉลามวาฬ ปลากระเบน พะยูน และสัตว์ทะเลน้อยใหญ่อื่น ๆ ขณะเดียวกัน ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโลกร้อน มลพิษจากการกสิกรรม การเพิ่มขึ้นของจำนวนการท่องเที่ยว การบุกรุกชายฝั่งเพื่อประโยชน์ทางการค้า ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้พื้นที่ของแนวประการัง ลดน้อยลงไปกว่า 50% เลยทีเดียว
2. ลุ่มน้ำคองโก ประเทศคองโก
ด้วยพื้นที่ที่มากกว่า 1.3 ล้านตารางไมล์ ลุ่มน้ำคองโกจึงเป็นเขตป่าฝน ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก อีกทั้งยังสามารถผลิตก๊าซออกซิเจนให้กับโลกได้ถึง 40% และยังเป็นแหล่งสำคัญในเรื่องของอาหาร ยารักษาโรค และแร่ธาตุนานาชนิด
จากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) พบว่าจะมีผืนป่าหายสาบสูญไปใน ปี 2040 (พ.ศ.2583) จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การบุกรุกพื้นที่เพื่อการทำเหมือง การลักลอบตัดไม้ การทำนา การทำฟาร์มปศุสัตว์ และสงครามกองโจร รวมไปถึงการตัดถนนเพื่อการทำเหมือง การล่าสัตว์ทั้งฝูงลิงกอริลล่า ฝูงช้างป่า ฝูงลิงโบโนโบ ฝูงโอคาปิ ปัญหาเหล่านี้ทำให้ความสมดุลทางธรรมชาติลดลง และส่งผลทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
3. ทะเลเดดซี
ทะเลเดดซีถือเป็นจุดที่ต่ำที่สุดในโลก (1,312 ฟุตจากระดับน้ำทะเล) มีระดับความเค็มของน้ำทะเลมากกว่าที่อื่น ๆ ถึง 10 เท่า และยังเป็นที่เชื่อกันว่าเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยแร่ธรรมชาติมากมาย ที่ช่วยในการรักษาโรคได้ แต่ในปัจจุบัน การบุกรุกธรรมชาติเพื่อการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม รวมไปถึงบริษัทเครื่องสำอางต่าง ๆ ที่มาเอาแร่ธรรมชาติไปใช้ในทางการค้า ทำให้สภาพแวดล้อมได้รับผลกระทบอย่างมาก
4. อุทยานเอเวอร์เกลดส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ด้วยพื้นที่ที่เป็นบึงน้ำกว่า 2.5 ล้านเอเคอร์ แวดล้อมไปด้วยหนองน้ำจำนวนมาก พืชชายเลนต่าง ๆ ป่าสนซาวันนาห์ และเป็นที่เดียวในโลก ที่จระเข้ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กอาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้งนี้ มลพิษที่เกิดจากการทำกสิกรรม การบุกรุกเขตพื้นที่ ทำให้กว่า 60% ของบริเวณพื้นที่น้ำกลายเป็นพื้นที่ใกล้เมือง และการกสิกรรมต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังทำให้พื้นที่ที่อยู่อาศัยของเสือดำฟลอริด้าเหลืออยู่น้อยลง และอาจจะทำให้เสือดำฟลอริด้าสูญพันธุ์ไปในอีก 40 ข้างหน้า
5. เกาะมาดากัสการ์
เกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมากกว่า 80% ของเกาะจะมีพฤกษชาติ และสัตว์ประจำมาดากัสการ์ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นมาเป็นเวลาหลายล้านปี ซึ่งหาที่ไหนไม่ได้เลยบนโลกใบนี้ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า ป่าต่าง ๆ บนเกาะมาดากัสการ์จะสูญหายไปในอีก 35 ปีข้างหน้า เนื่องจากระบบนิเวศน์ต่าง ๆ จะถูกทำลายลง ด้วยการแอบลักลอบตัดไม้ ทั้งเพื่อการกสิกรรมและการบุกรุกป่าเพื่อล่าสัตว์
6. เกาะมัลดีฟส์ ประเทศมัลดีฟส์
เกาะที่เป็นประเทศนี้ อุดมไปด้วยแนวปะการังและปลาที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น ปลานโปเลียนยักษ์ ปลาฉลามเสือดาว และปลากระเบนอีกกว่า 250 ชนิด และจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีนักวิทยาศาสตร์ศึกษาเอาไว้ว่า ถ้าหากภาวะโลกร้อนยังคงเกิดขึ้นอ ย่างต่อเนื่อง จะทำให้น้ำแข็งจากขั้วโลกละลาย และเกิดน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น เกาะเล็ก ๆ กว่า 1,190 เกาะ และเกาะต่าง ๆ ที่เกิดจากหินปะการังที่อยู่กระจัดกระจายไปทั่วทั้งมหาสมุทรอินเดีย ก็จะมีระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอีก 8 ฟุต ซึ่งหมายถึงจะทำให้เกาะต่าง ๆ จมทะเลหายไป
ทั้งนี้ เมื่อปี 2008 (พ.ศ.2551) ประธานาธิบดีของมัลดีฟส์ได้ประกาศเอาไว้ว่า จะซื้อที่ดินในประเทศอื่น ๆ รวมไปถึงในประเทศอินเดียเอาไว้ เพื่อสำหรับเป็นบ้านของประชาชนชาวมัลดีฟส์ในอนาคต แทนที่ผืนดินที่จมทะเลหายไป
7. ขั้วโลก
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น ถือเป็นเอกลักษณ์และมีอิทธิพลต่อโลกใบนี้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภูเขาน้ำแข็งไอซ์เบิร์ก แสงขั้วโลกเหนือ และสัตว์ขั้วโลกต่าง ๆ ทั้ง นกเพนกวิน หมีขั้วโลก และปลาวาฬ แต่หากว่าภาวะโลกร้อนยังคงส่งผลกระทบอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ สถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล คาดการณ์เอาไว้ว่า กว่า 80% ของนกเพนกวินจักรพรรดิจะสูญพันธุ์ไป ขณะที่หมีขั้วโลกก็ใกล้ที่จะสูญพันธุ์เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์อีกว่า ในอีก 20-40 ปีข้างหน้า จะไม่มีน้ำแข็งอีกเลยในขั้วโลกใต้
8. อุทยานแห่งชาติรันธัมบอร์ รัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย
อุทยานแห่งชาติรันธัมบอร์แห่งนี้ ตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย และถือเป็นสถานที่ที่จัดได้ว่าดีที่สุดในโลก สำหรับการดูเสือในระยะใกล้ชิด แต่ในปัจจุบันจำนวนของเสือทั่วโลกลดลง 3,200 ตัว โดยมากกว่าครึ่งนั้นเป็นเสือที่อาศัยในประเทศอินเดีย ที่อยู่อาศัยของพวกมันลดลงไปถึง 93% ทั้งนี้ เสือถูกฆ่าตายในแต่ละวัน เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมของยาแผนจีน
9. ป่าฝนทาฮัวมานู ประเทศเปรู
แหล่งอาศัยสำคัญของฝูงนกแก้ว ฝูงนกมาคอว์ และสัตว์อื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น ฝูงตัวนิ่มยักษ์ แมวป่า เสือจากัวร์ และตัวนากยักษ์ แต่ป่าฝนแห่งนี้ยังคงเผชิญกับปัญหาการลักลอบตัดไม้ รวมไปถึงการซื้อขายต้นมะฮอกกานีของสหรัฐ ซึ่งสามารถแปลงสภาพให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ อีกทั้งการล่าสัตว์ และการทำลายระบบนิเวศน์ ที่ถือเป็นปัญหาหลักที่สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก
10. ลุ่มแม่น้ำแยงซี ประเทศจีน
ที่นี่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของ แพนด้ายักษ์ แกะแคระ โลมาหัวบาตรหลังเรียบ และนกกระเรียนไซบีเรีย แถมยังหล่อเลี้ยงชีวิตคนถึง 400 ล้านคนเลยทีเดียว แม้ว่าจะเป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความสำคัญ แต่ก็มีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การสร้างอ่างเก็บน้ำ การทำกสิกรรม อุตสาหกรรมโรงงาน การขนส่งสินค้า การทำเหมืองแร่ และการทิ้งสิ่งปฏิกูล ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นปัญหาหลัก ที่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมของลุ่มแม่น้ำแยงซี อีกทั้งพื้นที่นี้ยังมีความเสี่ยง ที่จะเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวขึ้นอีกด้วย
จากทั้ง 10 แหล่งธรรมชาติ ที่ได้ว่ามานี้ จะเห็นได้ถึงความสวยงามของธรรมชาติที่เกิดขึ้นนั้น ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ หากแต่ปัญหาการบุกรุกราน การล่าสัตว์ การหาผลประโยชน์ทางธุรกิจของคนบางกลุ่ม และภาวะโลกร้อน สร้างผลกระทบอันเลวร้ายให้กับธรรมชาติ ก็อาจจะทำให้ธรรมชาติเหล่านี้ต้องสูญหายไป ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง ที่ในอนาคตต่อ ๆ ไป จะไม่มีโอกาสได้เห็นแหล่งธรรมชาติที่แสนจะงดงามเหล่านี้อีกแล้ว