รังนกมีประโยชน์หรือไม่

 

 

 

 


รังนก
 ชาวจีนแต่โบราณถือว่ารังนกเป็นอาหารบำรุงชั้นเยี่ยม มีสรรพคุณในการรักษาโรค โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ ช่วยบำรุงปอด บรรเทาอาการไอเรื้อรัง และช่วยฟื้นฟูร่างกายในระยะพักฟื้น อีกทั้งช่วยบำรุงสุขภาพเด็กที่ร่างกายไม่แข็งแรง หนังสือ “สืออู้ยี่จี้” กล่าวถึงสรรรพคุณในรังนกไว้ว่า “ช่วยเสริมพลัง กระตุ้นความอยากอาหาร บำรุงไขกระดูก ให้ความชุ่มชื้นกับปอด รักษาอาการท้องเสียเรื้อรัง ละลายเสมหะ”    (Ref: หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 389: 12) 

จุดเริ่มต้นของรังนกสามารถสืบย้อนไปได้หลายพันปีตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง รังนกถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่า มีคำเรียกว่า ‘Guan Yan’ ที่แสดงถึงคุณค่าของรังนก ที่มักใช้มอบเป็นของขวัญให้กับเชื้อพระวงศ์ และข้าราชการระดับสูง นอกจากนี้แพทย์หลวงก็มักนำรังนกมาปรุงเป็นโอสถบำรุงกำลังถวายแด่องค์จักรพรรดิอีกด้วย ตามแพทย์แผนจีนจัดรังนกมีฤทธิ์ไม่ร้อน ค่อนไปทางเย็น มีฤทธิ์กลางๆ รสหวาน เข้าเส้นลมปราณ ปอด ม้าม ไต มีสรรพคุณทั้งบำรุงพลังและขับระบายความร้อน ค่อนไปทางบำรุงหยินทำให้ภายในไม่แห้ง เกิดความชุ่มชื้น บำรุงพลังไปพร้อมๆ กัน  เนื่องจากทางแพทย์แผนจีนใช้การวิเคราะห์ร่างกายของผู้รักษาเป็นสำคัญ เพื่อปรับสมดุลตามอาการที่แสดงออกของแต่ละคน จึงอาจมีการจัดยาและอาหารบำรุงต่างกันไปไม่เป็นสูตรตายตัว (Ref: หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 389: 14) 

รู้จักนกแอ่นกินรัง นกแอ่นกินรังอยู่ในกลุ่มนกแอ่นสวิฟต์เลต (Swiftlet) ซึ่งเป็นกลุ่มนกแอ่นที่ทำรังด้วยน้ำลายซึ่งนำรังมากินได้ มีอายุประมาณ 6 - 7 ปี เป็นนกขนาดเล็ก หลังสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ปีกและหางดำ หางเป็นแฉกเล็กน้อย ขาและเท้าเล็ก เล็บยาวและโค้งงอ นิ้วเท้าทั้งสี่เรียงอยู่ด้านหน้าเพื่อใช้สำหรับเกาะเกี่ยวผนังถ้ำหรือขอบรัง นกแอ่นกินรังเป็นนกประจำถิ่นที่มีอยู่เฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบตั้งแต่ทางตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย เรื่อยมาทางอ่าวเบงกอล พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงฟิลิปปินส์ เป็นนกที่อยู่รวมกันเป็นฝูง มักอาศัยอยู่ตามถ้ำหินปูนบนเกาะกลางทะเล โดยออกหากินตอนกลางวัน เมื่อบินออกจากถ้ำแล้วจะไม่เกาะที่ใดเลยตลอดทั้งวันจนกว่าจะกลับเข้าถ้ำในเวลากลางคืน 

สัมปทานรังนก  ประเทศไทยมีระบบสัมปทานรังนกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นเครื่องมือในการควบคุมปริมาณการเก็บรังนก ซึ่งช่วยอนุรักษ์พันธุ์นกแอ่นกินรังให้อยู่รอดปลอดภัยตลอดมา ปัจจุบันรัฐบาลกำหนดให้เก็บรังนกได้ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง ผู้รับสัมปทานจะต้องจัดการเก็บรังให้สอดคล้องกับวงจรชีวิตของนก คือ เก็บรังก่อนที่นกจะวางไข่ โดยเก็บครั้งแรกในเดือนมีนาคม ครั้งที่สองในเดือนพฤษภาคม จากนั้นปล่อยให้นกทำรังและวางไข่ จนกระทั่งลูกนกฟักออกมาและเติบโตแล้ว จึงเข้าเก็บรังครั้งสุดท้ายในเดือนสิงหาคม และไม่เข้าไปในถ้ำอีกจนกว่าจะถึงฤดูกาลเก็บรังนกปีต่อไป

ประเภทของรังนก
1. รังแรก – รังนกที่เก็บในช่วงเดือนมีนาคมเป็นรังที่นกที่ทำครั้งแรกในปีนั้นๆ จึงเป็นรังที่สมบูรณ์ที่สุดคือ มีเส้นยาว ขาว สะอาด และมีขนาดใหญ่ ถือเป็นรังที่มีคุณภาพดีที่สุด
2. รังนกกลายเป็นหิน – เมื่อลูกนกเติบโตเต็มที่แล้วนกจะไม่ใช้รังอีก รังนกที่ถูกทิ้งไว้กับผนังถ้ำจะมีแร่ธาตุมาเกาะพอกพูนจนกลายเป็นหิน ทำให้นกเสียพื้นที่ทำรังในฤดูผสมพันธุ์ครั้งใหม่ การเก็บรังนกจึงถือเป็นการช่วยเปิดพื้นที่ให้นกได้ทำรังใหม่ได้สะดวกขึ้นตามวงจรชีวิตในธรรมชาติ
3. รังนกแดง – สีแดงของรังนกแดงไม่ได้เกิดจากเลือดนกปะปนออกมากับน้ำลายตามความเชื่อผิดๆของคนบางกลุ่ม แต่เกิดจากออกไซด์ของของธาตุเหล็กหรือแร่ธาตุอื่นๆ จากผนังถ้ำที่แทรกซึมเข้ามาผสมผสานกับเนื้อรังนก
4. รังนกเนื้อทอง – รังนกสีทองอร่าม เกิดขึ้นเฉพาะในถ้ำธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษ ท่ามกลางธรรมชาติที่บริสุทธิ์สะอาด ซึ่งพบเพียงบางถ้ำเท่านั้น จึงเป็นของหายากมีจำนวนจำกัด ถือเป็นรังนกที่มีคุณค่าสูงกว่ารังนกทั่วไป
5. รังนกบ้าน – ปัจจุบันมีการสร้างบ้านให้นกมาทำรังอยู่ในเมืองหรือชุมชนหลายแห่ง รังนกบ้านเหล่านี้จะมีเส้นเล็ก สั้น และคุณภาพหลายประการด้อยกว่ารังนกถ้ำ เนื่องจากไม่มีแร่ธาตุจากถ้ำ และนกที่ทำรังก็ไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่จะเอื้ออำนวยให้ผลิตรังที่มีคุณภาพได้
6. รังนกปลอม – เนื่องจากรังนกมีราคาสูง จึงมีคนพยายามลอกเลียนแบบทำสินค้าให้มีรูปร่างคล้ายรังนก ซึ่งอาจทำจากวุ้นสาหร่าย เห็ดหูหนูขาว แป้ง ถั่ว ในปัจจุบันมีผู้ผลิตรังนกปลอมที่ทำจากยางคารายา (Karaya gum) ซึ่งได้จากไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายรังนกจนไม่อาจแยกออกได้ด้วยตาเปล่า แต่ไม่มีคุณค่าสารอาหารใดๆ และหากบริโภคมากอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย 

ประโยชน์ของรังนก จากความเชื่อในอดีตของชาวจีนที่เชื่อว่ารังนกมีสรรพคุณเป็นยาบำรุง รักษาโรคระบบทางเดินหายใจ ช่วยบำรุงปอด ปัจจุบันได้มีการศึกษาถึงองค์ประกอบของรังนกแล้วพบว่ารังนก มีองค์ประกอบหลักคือไกลโคโปรตีน ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ โดยช่วยเพิ่มการทำงานของเซลเม็ดเลือดขาว ที่ชื่อ Monocyte ซึ่งทำหน้าที่ช่วยปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคต่างๆ Kong Y.C. et al.(1986)    คณะนักวิจัยจาก ประเทศญี่ปุ่น ได้พิสูจน์ และค้นพบกลไกการเสริมภูมิคุ้มกันของรังนก โดยนักวิจัยได้เตรียมตัวอย่างรังนก โดยเลียนแบบกระบวนการผลิต และการย่อยอาหารของมนุษย์ ก่อนจะนำตัวอย่างที่ได้ไปทดสอบประสิทธิภาพ นักวิจัยพบว่ารังนกมีฤทธิ์ยับยั้งการติดเชื้อไวรัส โดยไกลโคโปรตีนที่มีในรังนกจะไปจับเชื้อไวรัส และยับยั้งการเกิด hemagglutination ที่จำเป็นในการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส โดยนักวิจัยได้ทดสอบประสิทธิผลดังกล่าว และพบว่ารังนก ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้หลายชนิด ทั้งไวรัสที่มีในคน เป็ด และหมู ท้ายสุดผู้วิจัยได้สรุปผลว่า รังนกเป็นอาหารที่ปลอดภัย และมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ Guo CT et al.(2006) ต่อเนื่องจากการศึกษาที่พบว่า สารสกัดจากรังนกมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นผลมาจาก O- or N-glycoconjugates การศึกษาในระดับโมเลกุลพบว่า ไกลโคโปรตีนที่ผลิตจากต่อมน้ำลายของนกแอ่นกินรังนี้ มีโครงสร้างคือ N-glycosylation มี 2,3-N-acetylneuraminic acid เป็นส่วนประกอบหลัก เป็นตัวทำให้เกิดผลในการต้านไวรัสดังกล่าวได้ Hirokazu Yagi, et al.(2008)  
นอกจากนี้รังนกยังประกอบด้วย Epidermal Growth Factor (EGF) ซึ่งมีองค์ประกอบเหมือนกับ EGF ที่มีอยู่ในคน ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ชั้นนอกสุด และเยื่อบุต่างๆ Kong et al. (1987) นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่า EGF ช่วยกระตุ้นให้เซลเม็ดเลือดขาว ชื่อ Leucocyte ที่ซึ่งทำหน้าที่ในการปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคต่างๆ Kong et al. (1989)

31 มี.ค. 56 เวลา 14:48 974 1 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...