มองเห็นครั้งแรก 'ดาวทาทูอีน' มี 2 ดวงอาทิตย์

 

นักวิทยาศาสตร์สามารถถ่ายภาพดาวเคราะห์ที่มีดวงอาทิตย์ 2 ดวงได้เป็นครั้งแรก เผยมีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดีราว 12-14 เท่า

 

ทีมนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเชื่อว่า วัตถุซึ่งมีชื่อตามแคตาล็อกว่า 2MASS0103(AB)b อาจเป็นดาวเคราะห์แบบเดียวกับดาวทาทูอีนของลุค สกายวอล์กเกอร์ ในหนัง สตาร์วอร์ส

 

ภาพถ่ายซึ่งบันทึกโดยกล้องอีเอสโอ (European Southern Observatory) ในชิลี เผยให้เห็นวัตถุขนาดมหึมา กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์ 2 ดวงของระบบดาวคู่

 

@  ดาวฤกษ์คู่มีวัตถุที่เชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์โคจรโดยรอบ

(วงกลมกับศรสีเขียว แสดงถึงการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์

ในช่วงปี 2545-2555)

 

อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่วัตถุนี้มีขนาดใหญ่มาก นักวิจัยจึงยังไม่สรุปฟันธงเสียทีเดียว ว่า มันคือดาวเคราะห์อภิมหายักษ์ หรือเป็นดาวแคระสีน้ำตาล อันเป็นวัตถุที่มีมวลมากเกินกว่าจะจัดเป็นดาวเคราะห์ได้ แต่ก็มีมวลไม่พอที่จะจุดปฏิกิริยานิวเคลียร์อย่างดาวฤกษ์

 

วงการดาราศาสตร์เคยเจอดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์สองดวงมาแล้ว แต่เป็นการค้นพบโดยทางอ้อม เช่น ตรวจวัดอาการส่ายของดาวฤกษ์ศูนย์กลางเมื่อมีวัตถุโคจรผ่านหน้า ซึ่งอาการนี้เกิดจากแรงโน้มถ่วงของวัตถุที่เชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์

 

ฟิลิป เดอลอร์เม แห่งมหาวิทยาลัยโจเซฟฟูริเย ในเมืองเกรโนเบิล ประเทศฝรั่งเศส กับคณะ ได้ถ่ายภาพนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

 

ในการค้นหาข้อมูลจากคลังของกล้องดูดาวตัวนี้ คณะนักวิจัยได้ค้นพบว่า วัตถุขนาดใหญ่ดังกล่าวมีการเคลื่อนย้ายตำแหน่งไปอย่างมากในช่วงระหว่างปี 2545-2555

 

ทีมวิจัยเชื่อว่า วัตถุนี้กำลังโคจรรอบดาวคู่ในระยะห่างราว 12,500 กิโลเมตร นับเป็นระยะที่ใกล้พอที่จะเชื่อได้ว่า มันได้ก่อตัวขึ้นจากแผ่นจานสะสมสารที่ล้อมรอบดาวฤกษ์ทั้งสองอยู่  

 

ดาวเคราะห์ทั้งหลายล้วนถือกำเนิดขึ้นจากกลุ่มฝุ่นเหล่านี้ รวมทั้งในระบบสุริยะของเราด้วย

 

เดอลอร์เมเขียนในนิตยสาร New Scientist ว่า วัตถุนี้อาจเป็นดาวเคราะห์หนึ่งในบรรดาดาวเคราะห์อภิมหายักษ์ หรืออาจเป็นดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อยที่สุดเท่าที่จะจินตนาการไปถึงได้

 

เขาบอกว่า เหตุที่นักดาราศาสตร์อาศัยมวลของวัตถุเป็นเกณฑ์แบ่งในการจำแนกว่า อันไหนเป็นดาวฤกษ์ อันไหนเป็นดาวเคราะห์ เช่นนี้ ก็เพราะการตรวจวัดมวลเป็นวิธีที่ง่ายกว่าการค้นหาย้อนไปในอดีตถึงการก่อตัวของมัน

 

ตอนนี้ ทีมวิจัยของเขากำลังวิเคราะห์สเป็กตรัมของแสงจากวัตถุนี้ เพื่อศึกษาองค์ประกอบในบรรยากาศ.

29 มี.ค. 56 เวลา 12:46 3,383 1 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...