วันนี้ (28 มี.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานการอภิปราย พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทว่า ตลอดทั้งวันบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจนในช่วงเย็น เกิดความวุ่นวายเล็กน้อย ขณะนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม โดยมีพิเชษฐ พันวิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นขออภิปรายในฐานะอดีตรมว.คลัง ที่ถูกพาดพิง กรณีรัฐบาลนายชวน หลีกภัย กู้เงินไอเอ็มเอฟ แต่นายเจริญไม่อนุญาตให้อภิปราย ทำให้นายพิเชษฐใช้สิทธิประท้วงนายเจริญ แต่นายเจริญยังคงวินิจฉัยไม่ให้นายพิเชษฐอภิปราย ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงจนนายเจริญต้องปิดไมค์ ทำให้นายพิเชษฐตระโกนผ่านไมค์ว่า คำวินิจฉัยของนายเจริญถือว่าไม่ถูกต้อง ขอให้นายเจริญลงจากบรรลังก์และออกจากห้องไป ทำให้นายเจริญถึงกับหน้าเสีย
จากนั้นนายกรณ์ จาติกวนิช ส.ส.กทม.และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นว่า ขอให้นายพิเชษฐอภิปรายสิ่งที่ถูกพาดพิง เพราะรออภิปรายตั้งแต่เช้าแล้ว ทำให้นายเจริญยอมให้นายพิเชษฐอภิปราย โดยหักเวลาอภิปรายของนายพิเชษฐที่จะอภิปรายในวันที่ 29 มี.ค.
นายพิเชษฐอภิปรายชี้แจงกรณีระบุว่ารัฐบาลนายชวนสร้างหนี้ และรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาตามใช้หนี้กองทุนไอเอ็มเอฟว่า ตัวเป็น รมช.คลังสมัยนั้น และร่วมรับผิดชอบอยู่ด้วย ยืนยันว่ารัฐบาลที่ตั้งเรื่องกู้เงินไอเอ็มเอฟคือรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แต่รัฐบาลนายชวนเข้ามาบริหารเงินกู้และทำหนังสือถึงกองทุนไอเอ็มเอฟเพื่อหยุดรับเงินกู้ก้อนดังกล่าวก่อนครบกำหนด 1 ปี และเริ่มชำระหนี้คืนไอเอ็มเอฟก้อนแรกเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2540 แต่พอรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาก็ชำระตามกำหนดและประกาศอิสรภาพ นี่เป็นสิ่งที่พวกตนเจ็บช้ำน้ำใจมาตลอด ซึ่งนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ จึงกำชับให้พูดเรื่องนี้
จากนั้นนายกรณ์อภิปรายว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินมีมูลค่าสูงสุดในประวัติการณ์หรือไม่ และสิ่งไม่เห็นด้วยคือการกู้นอกระบบ ทำให้ร่างพ.ร.บ.นี้สุ่มเสี่ยงต่อการขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะมีภาระหนี้และดอกเบี้ยมากมาย ดูได้จากการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทบอกว่าจำเป็นเร่งด่วนสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านน้ำ ขณะนี้ใช้ไปเพียง 6 พันล้านบาท รมว.คมนาคมควรไปศึกษาโครงการให้เกิดความเหมาะสมก่อน และจัดหาคนมาร่วมทุนเพื่อลดภาระประเทศชาติ รัฐบาลต้องบอกว่าแหล่งรายได้มากจากที่ใด หรือไม่มีเจตนาที่จะรับผิดชอบในอีก 10 ปีข้างหน้า เงินก็ใช้ไปหมดแล้วประชาชนต้องแบกรับภาระหนี้
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า ทุกคนกำลังสับสนกับระบบความคิดของรัฐบาล เพราะหากดอกเบี้ยเพิ่มทุก 1 เปอร์เซ็นต์จากดอกเบี้ยเพิ่ม 6 แสนล้าน จะเกิดภาระดอกเบี้ยเพิ่ม 1 ล้าน ๆ บาท เป็น 3 ล้าน ๆ บาท รัฐบาลไม่ได้เตรียมความเสี่ยงไว้เลย หากโครงการอยู่ในภาวะขาดทุนจะทำอย่างไร ขนาดแอร์พอตร์ลิงค์รายได้ยังไม่พอ ต้องเป็นภาระของประชาชน และโครงการรถไฟความเร็วสูงใครเป็นผู้รับผิดชอบ
“การกู้ยืมผ่านร่างนี้ไม่มีความจำเป็นเพราะทุกโครงการสามารถจัดรายได้ตามงบปกติได้ ทำไมรัฐบาลไม่ทำ แผนการเบิกจ่ายงบเงินกู้ของรัฐบาลสูงสุดที่สุดปี 59 เงิน 3.8 แสนล้านแล้วเสร็จภายใน 5 ปี ทั้งที่รัฐบาลสามารถกู้ได้ตามปีงบประมาณโดยไม่มีอุปสรรคทางการเงินใดๆทั้งสิ้น เพราะช่องว่างทางการคลังให้สิทธิกู้ได้อีกหลายโครงการ แต่รัฐบาลกลับหลีกเลี่ยงออกฎหมายพิเศษไปกู้นอกระบบ ทำไมต้องเอาไปเสี่ยงกับโครงการลงทุนครั้งสำคัญของประเทศ ผมขอท้าว่าถ้าท่านจริงใจให้นำสิ่งที่ผู้นำฝ่ายค้านขอไว้ไปบรรจุไว้ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.กู้เงิน หากหนี้สาธารณะเกิน 50 เปอร์เซนต์ให้ พรบ.นี้เป็นโมฆะทันที”นายกรณ์กล่าว