เคยกังขากันไหมว่า สายแร่ทองคำ หรือแหล่งแร่ทองคำที่เราพบกันใต้ดินนั้นมาจากไหน เกิดขึ้นมาได้อย่างไรกัน
เดิมที นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสันนิษฐานกันไว้ 2 ทาง ทางหนึ่งนั้นสงสัยกันว่า น้ำใต้ดิน ซึ่งอยู่ลึกลงไปจากพื้นผิวราว 10 กิโลเมตร ที่อยู่ภายใต้แรงกดดันและอุณหภูมิสูง กลายเป็นของเหลวเข้มข้นที่ประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ ซิลิกา และเศษชิ้นส่วนของแร่มีค่า อาทิ ทองคำ เมื่อแรงกดดันเปลี่ยนแปลงไป อาจเป็นเพราะแผ่นดินไหวหรือเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง มันจะเกิดฟองฟู่ ทำนองเดียวกับที่เราเห็นเกิดขึ้นเมื่อเปิดขวดน้ำอัดลม หรือโซดา ที่จะทำให้น้ำค่อยๆ หมดไป ทิ้งเอาสายแร่เอาไว้
ในอีกทางหนึ่งนั้นเชื่อกันว่า แหล่งแร่ทองคำ หรือสายแร่ทองคำนั้น เกิดจากการตกตะกอนสะสมของสารแร่ทองคำตามกาลเวลานั่นเอง
เมื่อเร็วๆ นี้ ดิออน เวเธอร์ลีย์ นักธรณีฟิสิกส์ ของมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ ในประเทศออสเตรเลีย นำเสนอผลศึกษาใหม่เกี่ยวกับการก่อกำเนิดของสายแร่ทองคำหรือแหล่งแร่ทองคำขนาดใหญ่ ระบุว่า "แผ่นดินไหว" เป็นตัวการสำคัญที่เปลี่ยนน้ำให้เป็นทองคำในแหล่งทองคำใหญ่ๆ ทั้งหลายของโลก ข้อสรุปดังกล่าวได้จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทองคำกับควอซ ที่พบเห็นคู่กันในแหล่งทองคำขนาดใหญ่ๆ ของโลกทุกแห่ง
ทีมวิจัยของศาสตราจารย์เวเธอร์ลีย์ พบว่า แผ่นดินไหวทำให้เกิดรอยแยกปริของเปลือกโลก ที่เราเรียกกันว่า "ฟอลต์" รอยแยกใหญ่ๆ จะมีรอยแยกเล็กๆ แตกเป็นกิ่งก้านสาขาออกไปทั้งสองด้าน รอยแยกเหล่านี้จะถูกหล่อด้วยน้ำอยู่ใต้ผิวดินที่มีความเข้มข้นสูง ด้วยแรงกดดันสูงและอุณหภูมิมหาศาล เมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหม่ ที่ทำให้แรงกดดันลดลงกะทันหัน น้ำที่อยู่ในรอยแยกจะอยู่ในสภาพเหมือนน้ำในหม้อตุ๋นแรงดันที่ถูกเปิดฝาออกฉับพลัน มันจะพุ่งขึ้นสู่ผิวโลกกลายเป็นไอไปในชั่วพริบตา ส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ใต้ผิวโลกก็คือแหล่งแร่ทองคำ และซิลิกาที่เปลี่ยนรูปเป็นของเหลวก่อนที่จะตกผลึกกลายเป็นควอซไปตามกาลเวลานั่นเอง
นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงพบทองคำพร้อมๆ กับคอวซอยู่เสมอ เหมือนอย่างในภาพประกอบนี้ที่ทองคำก้อนดังกล่าวหนักกว่า 2 กิโลกรัม (กว่า 70 ออนซ์)