′ธาริต′ชี้พบผู้แทนซาอุฯ หารือคดีอุ้มฆ่า′อัลรูไวลี่′ เผยพ่อนักธุรกิจซาอุฯก็เพิ่งตาย ก่อนสิ้นใจฝากบอกคนใกล้ชิด เสียใจที่ยังหาความเป็นธรรมให้ลูกชายไม่ได้
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนและคณะเจ้าหน้าที่ดีเอสไอมีโอกาสได้พบและหารือกับผู้แทนระดับสูงของประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่เดินทางมายังประเทศไทย เป็นการพบกันอย่างไม่เป็นทางการ โดยผู้แทนของประเทศซาอุดีอาระเบีย แสดงความจำนงต้องการพบกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เพื่อแสดงความขอบคุณผ่านไปยังรัฐบาล ถึงท่าทีและความจริงใจอย่างเป็นรูปธรรม ที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการดำเนินคดีอุ้มฆ่านายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย การพูดคุยครั้งนั้นมีการสอบถามหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีของนายอัลรูไวลี่
นายธาริตกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้รับฟังบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวของนายอัลรูไวลี่ ทำให้รู้สึกสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกพอสมควร ซึ่งผู้แทนซาอุดีอาระเบียเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าที่คณะจะเดินทางมาประเทศไทย ทราบว่าบิดาของนายอัลรูไวลี่ เพิ่งเสียชีวิตเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และก่อนเสียชีวิตได้บอกกับคนใกล้ชิดว่ารู้สึกเสียใจ ที่ช่วงสุดท้ายของชีวิตไม่สามารถรู้ถึงชะตากรรมของนายอัลรูไวลี่ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นธรรมที่ผู้ตายควรจะได้รับ โดยเฉพาะเรื่องการลงโทษผู้ที่ฆาตกรรมลูกชายอย่างโหดร้าย แม้แต่ศพก็ไม่ได้นำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างถูกต้อง
นายธาริตยังกล่าวว่า คณะผู้แทนซาอุดีอาระเบีย ยังมีความเป็นห่วงเรื่องที่ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม จำเลยในคดีดังกล่าว ยังคงดำเนินการต่างๆ อย่างมีเสรีภาพมากมาย เช่น การใช้ประโยชน์จากเอกสารราชการไทยและของทางการประเทศซาอุดีอาระเบีย ออกมาเปิดเผยอย่างเสรี
การให้ข่าวอย่างต่อเนื่องร่วม 20 วัน รวมทั้งการร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา พ.ศ.2535 มาตรา 41 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม คณะผู้แทนซาอุดีอาระเบียไม่มีความประสงค์จะก้าวล่วง และยังให้ความเคารพต่อกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นอย่างสูง เพียงแต่แสดงความเป็นห่วง และคอยติดตามผลในความยุติธรรม ที่ผู้ตายและครอบครัว ซึ่งเป็นคนซาอุดีอาระเบีย พึงจะได้รับความเป็นธรรมจากประเทศไทย
"ผมเชื่อว่าการที่ผมออกมาพูดเรื่องนี้ต้องมีคนตำหนิ แต่ไม่เป็นไรเพราะผมคิดว่าเรื่องราวบางอย่างสาธารณชนต้องได้รับรู้ข้อเท็จจริงและความรู้สึกของฝ่ายผู้เสียหายบ้าง และเชื่อว่าการแสดงความจริงใจของรัฐบาลในเรื่องนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากหยุดชะงักมากว่า 20 ปี" นายธาริตกล่าว
ด้าน น.ส.รัศมี ไวยเนตร ทนายความของ พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี จำเลยที่ 4 ในคดีอุ้มฆ่านายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า ในวันที่ 25 มีนาคม ตนและจำเลยทั้ง 2 คนที่ถูกดีเอสไอยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว ประกอบด้วย พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม จำเลยที่ 1 และพ.ต.ท.สุรเดช ต้องเดินทางไปศาลอาญาอย่างแน่นอน เพราะต้องร้องคัดค้านคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ
น.ส.รัศมีกล่าวว่า ส่วนจำเลยนอกจากร้องคัดค้านแล้ว จะนำพยานหลักฐานใดไปแสดงต่อศาลบ้างนั้นต้องรอฟังประเด็นที่นายธาริตเบิกความในศาลก่อนว่ามีพยานหลักฐานใดบ้าง อย่างไรก็ตาม มั่นใจในการโต้แย้งคัดค้านคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ไม่มีการข่มขู่คุกคามพยานตามที่ถูกกล่าวหา
ผู้สื่อข่าวถามว่า คาดว่าศาลจะมีคำสั่งในวันที่ 25 มีนาคมเลยหรือไม่ น.ส.รัศมีกล่าวว่า ต้องดูว่ามีการไต่สวนพยานครบถ้วนทั้ง 2 ฝ่ายหรือไม่ เมื่อถามว่าเป็นกังวลหรือไม่เนื่องจากเป็นคดีที่ทางการซาอุดีอาระเบียให้ความสนใจ น.ส.รัศมีกล่าวว่า ไม่กังวล ที่ผ่านมาทำตามขั้นตอนกฎหมายทุกอย่าง และศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยชัดเจนกรณีการรับฟังน้ำหนักพยานหลักฐาน ตามมาตรา 41 พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญาว่าขัดต่อหลักนิติธรรม และบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิของจำเลยในคดีอาญา ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ
"กรณีที่ต่างประเทศให้ความสนใจ ต้องดูว่าเราทำตามกฎหมายทุกอย่าง ค่อนข้างมั่นใจตรงนี้" น.ส.รัศมีกล่าว