นักวิจัยออสเตรเลีย ชี้ สาเหตุที่คนนอนดึกและตื่นสายจนเป็นกิจวัตรโดยไม่สามารถฝืนตัวเองได้ เกิดจากนาฬิกาชีวภาพในร่างกายมีความผิดปกติ แก้ได้ด้วยการออกมารับแสงแดดยามเช้า
การตื่นสายนั้นคงเป็นสิ่งที่ใครหลายคนก็คงจะเคยทำกันโดยเฉพาะในวันหยุดพักผ่อน และเมื่อถึงวันปกติ พวกเราก็อาจจะสามารถลืมตาตื่นในตอนเช้าไปอย่างไม่ลำบากนัก แต่สำหรับคนบางกลุ่ม การที่ต้องลืมตาตื่นและฝืนลากสังขารลงมาจากเตียงในตอนเช้าของแต่ละวันนั้น ถือเป็นเรื่องที่ลำบากอย่างยิ่ง โดยเว็บไซต์เดลิเมล ของอังกฤษ ได้รายงานเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่่ผ่านมาว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส ในแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย ได้ค้นพบถึงสาเหตุที่ทำให้หลาย ๆ คนมีพฤติกรรม นอนดึก ตื่นสาย อย่างที่ไม่สามารถฝืนตัวเองได้ ว่านั่นเป็นเพราะนาฬิกาชีวภาพในร่างกายของคนเหล่านั้นมีความผิดปกตินั่นเอง
โดยนักวิจัยเชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้หลายคนพยายามที่จะนอนดึกและเลื่อนเวลาตื่นนอนให้สายออกไป นั่นเพราะว่านาฬิกาชีวภาพในร่างกายของพวกเขานั้นได้ถูกปรับค่าให้ช้าเกินกว่าคนทั่วไป ทำให้ร่างกายเกิดการเลื่อนเวลาในตัวออกไป และไม่สามารถนอนหลับและตื่นในเวลาปกติได้ ซึ่งลักษณะความผิดปกติเช่นนี้ได้เกิดขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นกว่า 15% ของประเทศ และจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเขาในระยะยาว
ด้านศาสตราจารย์ ลีออน แลก ผู้นำการวิจัย ได้เผยว่า จากผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่านาฬิกาชีวภาพภายในร่างกาย ของกลุ่มวัยรุ่นเหล่านั้นมีการเดินที่ผิดปกติ คือจะมีรอบในการหมุนที่ช้ากว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยผู้ที่มีอาการผิดปกตินี้จะไม่สามารถนอนหลับได้จนกว่าจะถึงเวลา 02.00 - 03.00 น. หรือในบางรายที่อาการหนักกว่านั้น อาจจะยาวไปถึง 04.00 น. ซึ่งนั่นทำให้การที่พวกเขาจะตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมในวันถัดไปเป็นเรื่องยากยิ่ง
นอกจากนี้ จากตรวจสอบถึงสาเหตุที่ทำให้คนนอนดึกนั้น พบว่า 1 ในคำอธิบายที่น่าเชื่อถือที่สุดก็คือ นาฬิกาชีวภาพในร่างกายของพวกเขา มีรอบเดินที่นานกว่า 24 ชั่วโมง โดยตามปกติ นาฬิกาชีวภาพในตัวของคนจำนวนมากจะมีเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 24 ชั่วโมง ซึ่งนั่นเป็นจังหวะของธรรมชาติที่ส่งผลต่อความง่วง และอุณหภูมิในร่างกาย แต่สำหรับในคนที่เข้านอนดึกนั้น ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อวงจรชีวิตของพวกเขา ให้นาฬิกาในตัวของพวกเขาเดินช้ากว่าปกติซึ่งจะทำให้คนเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะเข้านอนดึกและตื่นสาย
สำหรับนาฬิกาชีวภาพในร่างกายนั้น ไม่เพียงแต่จะส่งอิทธิพลต่อวงจรในการนอนหลับและตื่นนอนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่ออุณหภูมิของร่างกาย การหลั่งฮอร์โมน และจังหวะในการใช้ชีวิตด้วย ทั้งนี้ คนบางคนอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น ระดับของแสง หรือนาฬิกาชีวภาพในตัวอาจถูกรบกวนด้วยการบินข้ามโซนของเวลา หรือการทำงานตอนกลางคืน
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ลีออน บอกด้วยว่า การทดลองกับกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ขึ้น คือสิ่งจำเป็นที่จะนำไปสู่การยืนยันการค้นพบในครั้งนี้ ส่วนการรักษาผู้ที่นาฬิกาชีวภาพในร่างกายมีการเดินอย่างผิดปกตินั้น ผู้วิจัยได้เสนอให้ใช้วิธีการบำบัดด้วยการออกมารับแสงแดดในยามเช้า ที่จะช่วยให้ร่างกายเกิดการตื่นตัวขึ้น และเป็นการแจ้งให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายได้รับรู้ว่าเป็นเวลาที่ควรจะตื่น ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถเข้านอนและตื่นได้เร็วขึ้นในวันถัดไป หรือการให้ฮอร์โมนเมลาโทนิน เพื่อสามารถทำให้นอนหลับได้เร็วขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ศาสตราจารย์ ลีออน ยังย้ำว่า การหาสาเหตุของความผิดปกตินี้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมาก ทำให้คนหนุ่มสาวตื่นสายตอนที่พวกเขาต้องไปโรงเรียน และเมื่อไปถึงโรงเรียน พวกเขาก็จะยังไม่ตื่นเต็มตาจนกว่านาฬิกาชีวภาพในร่างกายจะทำให้พวกเขาตื่นในที่สุด ขณะที่ผู้ใหญ่ที่ตื่นสายก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของเขาเช่นกัน