แกะรอยเอปในตำนาน

 

โบโนโบ เจ้าของชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pan paniscus  อาจเป็นชื่อที่ใครหลายคนไม่คุ้นหู แต่พวกมันคือสายพันธุ์เอปผู้โด่งดังในเรื่อง “สร้างรัก ไม่สร้างสงคราม” มีความต้องการทางเพศสูงกว่าและก้าวร้าวน้อยกว่าเมื่อเทียบกับชิมแปนซีซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุด  การศึกษาสมัยใหม่ที่ทำกับประชากรโบโนโบในสวนสัตว์โดยนักชีววิทยาเชื้อสายดัตช์-อเมริกัน ชื่อ ฟรานซ์ เดอ วาล และคนอื่น ๆ บันทึกไว้ว่า โบโนโบมีความสัมพันธ์ทางเพศง่ายและเป็นส่วนหนึ่งของปฏิสัมพันธ์มากมายในชีวิตประจำวัน อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะสร้างความผูกพัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เพศเมีย) ซึ่งสวนทางกับชิมแปนซีที่ชอบต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่ (โดยเฉพาะในหมู่เพศผู้) และต่อสู้ระหว่างฝูง 

โบโนโบสร้างความประหลาดใจให้ผู้คนมาตลอด นับตั้งแต่พวกมันได้รับความสนใจจากแวดวงวิทยาศาสตร์ ย้อนหลังไปเมื่อปี ค.ศ.1927 อองรี โชเดน นักสัตวศาสตร์ชาวเบลเยียม ตรวจสอบกะโหลกศีรษะและหนังสัตว์แปลกประหลาดชนิดหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นชิมแปนซีเพศเมียตัวเต็มวัยที่ได้มาจากเบลเยียมคองโก (Belgian Congo) หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปัจจุบัน ปีถัดมา เอิร์นส์ ชวาตส์ นักสัตวศาสตร์ชาวเยอรมันไปเยือนพิพิธภัณฑ์ของโชเดนและวัดขนาดกะโหลกหัวนั้นและอีกสองหัว ก่อนจะสรุปว่าเป็นกะโหลกของชิมแปนซีสายพันธุ์ที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งพบได้เฉพาะทางตอนใต้หรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำคองโก หลังจากนั้นไม่นาน เอปฝั่งซ้ายเหล่านี้ก็เป็นที่ยอมรับในฐานะสัตว์ชนิดใหม่และได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ
   
อีกชื่อหนึ่งที่ได้มาคือ “ชิมแปนซีแคระ” (Pygmy Chimpanzee) แม้ว่าพวกมันจะมีขนาดแทบไม่ต่างจากชิมแปนซีทั่วไป (Pan Troglodytes) ก็ตาม ศีรษะของโบโนโบจัดว่าเล็กกว่าของชิมแปนซีเมื่อเทียบกับขนาดตัว แต่รูปร่างกลับเพรียวกว่าและขายาวกว่า อย่างไรก็ตามขนาดโดยรวมของโบโนโบทั้งเพศผู้และเพศเมียเมื่อโตเต็มวัยถือว่าไล่เลี่ยกับชิมแปนซีเพศเมีย 
   
ความแตกต่างหลัก ๆระหว่างโบโนโบกับชิมแปนซีเป็นเรื่องของพฤติกรรม และที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ โบโนโบทั้งที่อยู่ในสถานเพาะเลี้ยงและในธรรมชาติมีปฏิสัมพันธ์ทางเพศหลากหลายมาก เดอ วาล บอกว่า “ขณะที่ชิมแปนซีมีวิธีการแสดงออกทางเพศไม่หลากหลายนัก โบโนโบกลับมีพฤติกรรมราวกับว่า พวกมันได้อ่านตำรากามสูตรมาแล้ว โดยใช้ทุกท่วงท่าและลีลาที่เราพอจะคิดจินตนาการได้” เช่น การผสมพันธุ์กันในท่า “มิชชันนารี” ซึ่งแทบจะพูดได้ว่าไม่พบในชิมแปนซีเลย แต่พฤติกรรมทางเพศของโบโนโบไม่ได้อยู่ที่การผสมพันธุ์เท่านั้น ความหลากหลายทางเพศส่วนใหญ่เป็นการแสดงออกทางสังคม นั่นหมายความว่า การแสดงออกทางเพศไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการที่เพศผู้กับเพศเมียตัวเต็มวัยจะผสมพันธุ์กันในช่วงเจริญพันธุ์ของเพศเมียเสมอไป ตัวที่จับคู่กันมีตั้งแต่ตัวเต็มวัยเพศเดียวกัน ตัวเต็มวัยกับวัยเยาว์ของทั้งสองเพศ หรือระหว่างพวกวัยเยาว์ด้วยกัน การแสดงออกมีตั้งแต่การจูบ ออรัลเซ็กซ์ การใช้มือลูบคลำอวัยวะเพศ การใช้อวัยวะเพศมาเล่นฟันดาบกันของเพศผู้ การที่เพศผู้ขึ้นทับเพศผู้อีกตัวหนึ่ง การใช้อวัยวะเพศที่ขยายใหญ่กว่าปกติเสียดสีกันไปมาของเพศเมียในช่วงเจริญพันธุ์เพื่อแสดงออกถึงความรักความผูกพันฉันพี่น้อง พฤติกรรมทางเพศที่แสดงออกอย่างหลากหลายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และดูเป็นเรื่องธรรมดาเช่นนี้ ช่วยให้ความสัมพันธ์ในหมู่โบโนโบดำเนินไปอย่างราบรื่น เดอ วาล กล่าวอีกว่า “ชิมแปนซีใช้กำลังในการคลี่คลายปัญหาทางเพศ ขณะที่โบโนโบคลี่คลายปัญหาการแย่งชิงอำนาจด้วยเพศสัมพันธ์”
   
ทั้งโบโนโบและชิมแปนซีต่างก็เป็นญาติสนิทที่สุดของ โฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens) ย้อนกลับไปราวเจ็ดล้านปีก่อน ป่าแถบเส้นศูนย์สูตรของแอฟริกาเป็นที่อยู่อาศัยของเอปยุคโบราณซึ่งเป็นต้นตระกูลสายตรงของเอปและมนุษย์ จากนั้นสายวิวัฒนาการของเราก็แยกออกจากพวกมัน และเมื่อ 900,000 ปีก่อน โบโนโบกับชิมแปนซีก็วิวัฒนาการแยกจากกัน เราไม่ทราบว่าบรรพบุรุษรุ่นสุดท้ายก่อนที่เอปสองชนิดนี้จะแยกสายวิวัฒนาการออกจากกัน มีสรีระและพฤติกรรมค่อนไปทางชิมแปนซีหรือโบโนโบ การไขปริศนาข้อนี้อาจบ่งบอกบางสิ่งเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษย์ได้เช่นกัน มนุษย์เราวิวัฒนาการมาจากเอปรักสงบ ฝักใฝ่เรื่องเพศ และมีเพศเมียเป็นใหญ่ หรือสืบทอดมาจากเอปที่ชอบต่อสู้ กินลูกอ่อน และมีเพศผู้เป็นใหญ่กันแน่

ปัจจุบันโบโนโบอยู่ในข่ายสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ แม้พวกมันจะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายของคองโก แต่ยังประสบกับปัญหาเดิม ๆ ที่คุ้นเคยกัน โดยเฉพาะการถูกล่าเอาเนื้อและสูญเสียถิ่นอาศัย ประมาณกันว่าประชากรโบโนโบในธรรมชาติอาจอยู่ระหว่าง 15,000-20,000 ตัว ในจำนวนนี้บางส่วนได้รับการคุ้มครองอยู่ในอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่ “คุ้มครอง” เหล่านี้อาจปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยพอสำหรับโบโนโบและสัตว์ป่าอื่น ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นไปในพื้นที่จริง เช่น เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้รับการว่าจ้างและการฝึกอบรมหรือไม่ รวมถึงจัดหาอาวุธให้พอเพียงสำหรับรับมือบรรดาพวกลักลอบล่าสัตว์มากน้อยเพียงใด คองโกทุกข์ทนอย่างแสนสาหัสตลอดเจ็ดทศวรรษของการตกเป็นอาณานิคมของเบลเยียม ตามมาด้วยการปกครองของอดีตจอมเผด็จการโมบูตูอีก 30 ปี ซึ่งเป็นช่วงของการใช้อำนาจกอบโกยผลประโยชน์อย่างมหาศาล ก่อนจะเผชิญกับสงครามกลางเมือง บริบทที่ครอบงำความพยายามในการอนุรักษ์ตลอดมาคือรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ และเหยื่อรายหนึ่งที่ตกเป็นตัวประกันคือโบโนโบ สัตว์ประจำถิ่นที่พบได้เฉพาะในคองโกเท่านั้น หากพวกมันไม่สามารถอยู่รอดได้ในธรรมชาติที่นั่นแล้ว ก็คงไม่มีที่ไหนอีกแล้วที่พวกมันจะดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้.

เดวิด ควาเมน เรื่อง / คริสเตียน ซีกเลอร์ ภาพ
นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
ฉบับภาษาไทยเดือนมีนาคม

24 มี.ค. 56 เวลา 11:14 1,225 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...