ศาสตราจารย์ทากาชิ โยชิมูระ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนา โงยา ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการศึกษาชิ้นล่าสุด ที่ระบุว่าไก่ตัวผู้ขันบอกเวลาตอนเช้าตรู่นั้น เกิดขึ้นจาก "นาฬิกาทางชีววิทยา" ภายในตัวของมันเอง ที่ทำให้มันรู้ว่าถึงเวลาเช้าแล้ว ไม่ใช่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกแต่อย่างใด
ศาสตราจารย์โยชิมูระระบุว่า ตั้งใจศึกษาเรื่องนี้เพราะเห็นว่าไก่ขันตอนเช้ามืดนั้นเป็นสัญลักษณ์ในการ บอกเวลาวันใหม่ในหลายๆ ประเทศ แต่ไม่มีใครแน่ใจได้ว่าการขันบอกเวลาดังกล่าวเป็นไปตามธรรมชาติภายในตัว บ่งบอกให้ขัน หรือเป็นเพราะเกิดสิ่งเร้าจากภายนอกกระตุ้นให้ขันกันแน่ เพื่อศึกษาเรื่องนี้ ศาสตราจารย์และทีมงานนำเอาไก่ตัวผู้ 40 ตัว ไปขังไว้ในสภาพแวดล้อมที่กำหนดให้มีแสงสว่างอยู่ตลอดเวลา แล้วคอยบันทึกการขันของมัน
ทีมวิจัยพบว่า ไก่ทั้งหมดขันตรงเวลาในตอนเช้าไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สภาวะแสงเช่นไร แม้จะพบว่าไก่ตัวผู้ขันในเวลาอื่น และแสดงอาการขันตอบสนองต่อแสงและขันตอบการขันของไก่ตัวผู้อื่นๆ เช่นเดียวกันก็ตาม แต่การขันดังกล่าวเหล่านั้นไม่จริงจังและแข็งแรงเท่ากับการขันเพื่อบอกเวลา ในตอนเช้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลไกเชิงชีววิทยาในตัวไก่สามารถบอกระยะเวลารอบ 24 ชั่วโมงได้ ในทำนองเดียวกับที่ร่างกายของคนเราหลั่งอินซูลินเพื่อย่อยอาหารลดน้อยลงใน ตอนกลางคืนนั่นเอง