นักวิจัยในออสเตรเลียได้บรรลุหลักชัยครั้งสำคัญในการฟื้นคืนชีวิตกบสายพันธุ์ที่สามารถให้กำเนิดลูกทางปากหลังจากที่มันสูญพันธุ์ไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน
โครงการที่เรียกว่า "ลาซารัส โปรเจ็คต์" ที่มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลในออสเตรเลีย นักวิจัยได้ฟื้นคืนชีพกลุ่มยีนในเซลล์หรือจีโนมของกบ ที่สามารถเก็บไข่ได้ในกระเพาะอาหาร ที่สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ปี 1983
โดยกบ Rheobatrachus silus หรือที่รู้จักกันในชื่อหนึ่งว่า "กบตุ่น" เพศเมีย หลังจากที่มันผสมพันธุ์กับตัวผู้และปฏิสนธิภายนอก มันจะกลืนไข่ลงในท้องและเก็บไข่ไว้ในกระเพาะ ให้คลอดลูกผ่านทางปาก
ศ.ไมค์ อาร์เชอร์ หัวหน้านักวิจัยโครงการลาซารัส เปิดเผยว่า หลังการปลุกฟื้นเซลล์ที่ตายแล้วให้มีชีวิตอีกครั้ง ได้มีการเก็บเซลล์ดังกล่าวด้วยการบำบัดด้วยความเย็นเพื่อรักษาสภาพของเซลล์หรือเนื้อเยื่อ เพื่อใช้ในการทดลองโคลนนิ่งในอนาคตต่อไป
ทีมนักวิจัยได้ทำการฟื้นฟูนิวเคลียสของเซลล์จากเนื้อเยื่อที่มีการเก็บไว้เมื่อปี1970 ในห้องเย็น ก่อนที่จะนำไข่ของกบบาร์เรด ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ค่อนข้างห่าง มาแยกนิวเคลียสออก และนำนิวเคลียสของกบที่สูญพันธุ์มาใส่ไปแทน แม้ตัวอ่อนของกบจะอยู่ในไข่เพียงไม่กี่วัน แต่นักวิจัยก็สามารถยืนยันได้ว่าภายในเซลล์ดังกล่าวมีสายพันธุกรรมของกบออกลูกทางปากอยู่
ผลสำเร็จครั้งนี้เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือในการใช้เพื่อสงวนพันธุ์สัตว์ชิ้นสำคัญโดยเฉพาะในสัตว์จำพวกครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่เริ่มลดจำรวนลงเรื่อยๆ
ทั้งนี้ กบที่ออกลูกทางปากนี้ เป็นสัตว์พื้นถิ่นของออสเตรเลีย แต่ไม่มีใครทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเหตุใดพวกมันจึงสูญพันธุ์ และสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย แต่เชื่อกันว่าสาเหตุอาจเกิดจากปรสิต