น.ส.รัจนา เนตรแสงทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลความสุขของคนไทยต่อเนื่อง 5 ปี พบว่า แนวโน้มคนไทยมีระดับความสุขเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆและต่อเนื่อง โดยจากคะแนนเต็ม 45 คะแนน ในปี 2551มี 31.8 คะแนน ปี 2552 ได้ 33 คะแนน ปี 2553 ได้ 33.3 คะแนน ปี 2554 ได้ 32 คะแนน สำหรับปี 2555 พบว่า คะแนนความสุขของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 33.59 คะแนน โดยจังหวัดที่มีความสุขมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จ.นครพนม 36.70 ,จ.พิจิตร 36.39 จ.ตรัง 36.15 จ.ชัยภูมิ 35.92 จ.กระบี่ 35.79 ส่วนจังหวัดที่มีความสุขน้อยที่สุด 5 อันดับ คือ จ.สมุทรสงคราม 26.92 จ.สมุทรปราการ 29.81 จ.สระแก้ว 30.12 จ.ภูเก็ต 30.76 จ.หนองคายและจ.กาญจนบุรี 31.34 ส่วนกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 65 ได้ 32.15 คะแนน
"จังหวัดนครพนมมีรายได้ระดับปานกลางแต่มีความมั่นคงด้านครอบครัวสูง ส่วนจังหวัดที่มีความสุขอยู่ในลำดับท้ายๆ เป็นจังหวัดที่มีการย้ายถิ่นเพื่อการทำงานมากทำให้สุขภาพจิตต่ำกว่าจังหวัดอื่น แต่หากเป็นการย้ายถิ่นเพื่อการศึกษาจะมีสุขภาพจิตที่ดีมาก เพราะรู้สึกมีความหวัง มีอนาคตที่ดีขึ้น ส่วนกทม.อาจเป็นเพราะความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้น รวมถึง การมเวลาอยู่กับครอบครัวไม่เพียงพอก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตได้มาก "น.ส.รัจนา กล่าว
ด้านดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) กล่าวว่า
เวลาเป็นปัญหาสำคัญของคนกรุงเทพฯที่ทำให้ความสุขลดลง แม้จะมีการงานมั่นคง มีรายได้ดี แต่ผู้ที่มีปัญหาในเรื่องการจัดสรรเวลาจะกระทบต่อความสุขและสุขภาพจิตอย่างมาก นอกจากนี้ ควรเตรียมความพร้อมเรื่องหลักประกันและความมั่นคงในการดำเนินชีวิต รวมถึง ทำให้มีกิจกรรมในชุมชนและสังคม ทำให้คนมีความสุขจากการใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกัน จะช่วยเพิ่มความสุขได้