เปิดแนว "ไฮสปีดเทรน" 4 สายเพื่อไทย พาดผ่าน 21 จังหวัด เชื่อม "กทม.-หัวเมืองหลัก"

ถึงวินาทีนี้ยังเขย่าไม่ลงตัวเต็ม 100% สัดส่วนเงินลงทุนโครงการในแผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทที่ "รัฐบาลเพื่อไทย" เร่งสปีดให้จบในเร็ววัน ก่อนเสนอให้รัฐสภาพิจารณาในเดือนเมษายนนี้ แต่เป็นที่แน่ชัดกว่า 80% ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด จะถมโครงการระบบรางทั้ง "รถไฟความเร็วสูง-รถไฟทางคู่-รถไฟฟ้า"

4 สายทางลงทุน 7.5 แสนล้าน

ความ คืบหน้า "รถไฟฟ้า-รถไฟทางคู่" ได้ข้อยุติ ยกเว้น...โปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูง 4 สายทาง เชื่อม "กรุงเทพฯ" ไปยังหัวเมืองใหญ่ 4 ภูมิภาค พาดผ่านพื้นที่ 21 จังหวัด ครอบคลุมภาคเหนือ กลาง ตะวันออก ตะวันตก ตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพฯ ระยะทางรวม 1,447 กม. ภายใต้กรอบลงทุน 753,105 ล้านบาท

จำแนกเป็นสาย กทม.-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กม. วงเงิน 387,821 ล้านบาท สาย กทม.-นครราชสีมา 256 กม. 140,855 ล้านบาท สาย กทม.-หัวหิน 225 กม. 123,798 ล้านบาท และสายต่อเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ-พัทยา-ระยอง 221 กม. 100,631 ล้านบาท

ล่า สุด วงเงินลงทุนมีแนวโน้มปรับเพิ่มกว่า 100,000 ล้านบาท เมื่อแนวสายไปภาคอีสานทางนายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" สั่ง "คมนาคม" เจ้าภาพคัดสรรบัญชีโครงการ ขีดเส้นทางลากยาวไปถึง "หนองคาย" เชื่อมไฮสปีดเทรนไทยทะลุ "นครเวียงจันทน์" ที่ประเทศจีนลงทุนสร้างรออยู่ที่ฝั่ง สปป.ลาว และกำลังลงมือก่อสร้างในเร็ว ๆ นี้

ส่วนสายที่เหลือ "กทม.-เชียงใหม่" และ "กทม.-หัวหิน" ยังคงเดิม รอเคาะแนวสายทางให้ชัดเจนเดือน พ.ค.นี้ ส่วนสาย "กทม.-พัทยา-ระยอง" เพิ่งเริ่มต้นศึกษา

ลุ้นช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่

โฟกัส รายละเอียด เริ่มจากภาคเหนือ "กทม.-เชียงใหม่" ทาง "รัฐบาลเพื่อไทย" อยากแจ้งเกิดโดยเร็ว แต่ข้อจำกัดของพื้นที่จึงไม่ง่ายที่จะสร้างได้หมดทั้งโครงการ

แหล่ง ข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ความเป็นไปได้สูงของสายเหนือ ในเฟสแรกจะเกิดก่อนคือช่วง "กทม.-พิษณุโลก" ระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร ส่วน "พิษณุโลก-เชียงใหม่" อาจจะต้องรออีไอเอ เนื่องจากตัดผ่านภูเขาจะต้องเจาะทะลุสร้างเป็นอุโมงค์ลอดเขาไป 

"ตอน นี้เพิ่มแนวทางเลือกช่วงอุตรดิตถ์ไปเชียงใหม่ ตัดตรงมาสุโขทัย ผ่านศรีสัชนาลัยขึ้นไป เพราะจะผ่านภูเขาน้อยกว่าแนวรถไฟเดิม ซึ่งตรงกับแนวคิดนายกฯด้วย"

เปิด 5 ออปชั่น "สายเหนือ"

สำหรับ 5 แนวทางตามที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอ ใช้ค่าก่อสร้าง+เวนคืนกว่า 400,000 ล้านบาท แนวที่ 1 ใช้แนวเขตทางรถไฟเดิมเป็นหลัก ความยาว 676 กม. มี 12 สถานี ได้แก่ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เด่นชัย ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เวนคืน 3,043 ไร่ 910 แปลง ค่าเวนคืน 3,651 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 429,886 ล้านบาท รวม 433,537 ล้านบาท

แนว ที่ 2 ปรับแนวเส้นทางให้สั้นลง มี 11 สถานี โดย 5 สถานีแรก "บางซื่อ-นครสวรรค์" คงเดิม ปรับเส้นทางเพิ่ม "สถานีสุโขทัย ศรีสัชนาลัย" แทน "อุตรดิตถ์ เด่นชัย" และตัดสถานีพิจิตรออกไป ความยาว 631 กม. เวนคืน 10,249 ไร่ 3,070 แปลง ค่าเวนคืน 12,298 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 414,776 ล้านบาท รวม 427,075 ล้านบาท

ทางเลือกที่ 5 เจ๋งสุด

แนว ที่ 3 เป็นแนวตัดใหม่ ตัดตรงจากอยุธยาเข้านครสวรรค์ โดยไม่เข้า จ.ลพบุรี จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งตรงจากนครสรรค์ไปสุโขทัย เข้าลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ประมาณ 607 กม. มี 10 สถานีคือ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เวนคืน 13,856 ไร่ 4,160 แปลง ค่าเวนคืน 16,627 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 395,024 ล้านบาท รวม 411,652 ล้านบาท

แนว ที่ 4 เป็นแนวตัดใหม่ อยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา วิ่งเข้าด้านตะวันออกของทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ จากนั้นวิ่งเข้าเมืองสุโขทัยสิ้นสุดที่เชียงใหม่ 594 กิโลเมตร มี 10 สถานีคือ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย เชียงใหม่ เวนคืน 13,856 ไร่ 4,160 แปลง ค่าเวนคืน 16,627 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 392,592 ล้านบาท รวม 409,220 ล้านบาท

และ แนวที่ 5 นำแนวเส้นทางที่ 1+2 ความยาว 661 กม. มี 12 สถานีคือ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เวนคืน 5,835 ไร่ 1,750 แปลง ค่าเวนคืน 7,002 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 404,426 ล้านบาท รวม 411,427 ล้านบาท ซึ่งแนวนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด

ปรับใหม่ "กทม.-หัวหิน" 

สำหรับ สาย "กทม.-หัวหิน" หลังบริษัทที่ปรึกษาคัดแนวทางรถไฟล่องใต้สายเดิม ล่าสุดแนวเส้นทางจะเริ่มจากบางซื่อวิ่งไปตามแนวรถไฟเดิม แต่จะปรับแนวใหม่ช่วง "ปากท่อ-เพชรบุรี" ให้เป็นทางตรง 

จากแยก "นครชัยศรี" ไปถึง "เพชรบุรี" จะใช้แนวมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ จากนั้นจะใช้แนวถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าไปยัง "สถานีหัวหิน" เพื่อเลี่ยงการเวนคืนที่ดิน จากเดิมจะเลาะไปตามแนวรถไฟเดิมที่ต้องเข้าไปที่บ้านโป่งและตัวเมืองเพชรบุรี ทำให้ระยะทางสั้นลงจากเดิม 225 กม. เหลือประมาณ 190 กม. ส่วนงบฯก่อสร้างถูกลงจาก 123,798 ล้านบาท เหลือกว่า 110,000 ล้านบาท เวนคืน 250 ไร่ 1,500 แปลง ค่าเวนคืน 9,600 ล้านบาท

ด้านตำแหน่งสถานีจะตัดออก 2 สถานีคือ "นครปฐม-ราชบุรี" ส่วนจำนวนยังเท่าเดิม 5 สถานี มีบางซื่อ นครชัยศรี ปากท่อใหม่ เพชรบุรี หัวหิน

"ที่ ปรับมาใช้แนวเดียวกับมอเตอร์เวย์เพราะผ่านอีไอเอแล้ว ส่วนตำแหน่งสถานียังไม่สรุป แต่สถานีหัวหินจะขยับตำแหน่งใหม่ไม่ใช่สถานีเดิม โดยจะร่นระยะทางมาใกล้กับแยกหินเหล็กไฟ" แหล่งข่าวกล่าว

อีสานขยายถึง "หนองคาย"

ด้าน สาย "กทม.-นครราชสีมา" 256 กม. แหล่งข่าวกล่าวว่า จุดเริ่มต้น "สถานีบางซื่อ" เมื่อเข้าสู่ "ชุมทางภาชี" ที่ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา จะมีทางแยกไปยังสายภาคเหนือ เมื่อเข้า จ.สระบุรี ผ่าน อ.หนองแซง เมืองสระบุรี แก่งคอย มวกเหล็ก อ.วิหารแดง อาจจะปรับแนวช่วงบริเวณมวกเหล็กเพื่อลดผลกระทบที่จะผ่านเขตประทานบัตรการทำ เหมืองปูน 3 แห่งคือ โรงปูนอินทรี ปูนซิเมนต์ไทย และปูนทีพีไอ อีกทั้งใกล้พื้นที่ลุ่มน้ำ จากนั้นแนวเส้นทางจะเข้า จ.นครราชสีมา ผ่าน อ.สีคิ้ว ช่วงลำตะคอง

แต่เนื่องจากช่วง "กทม.-บ้านภาชี" 84 กม.ที่ใช้แนวร่วมกับสายเหนือก่อนจะฉีกตัวแยกมาตามทางรถไฟสายอีสาน ทำให้ในผลการศึกษาและออกแบบจะมี 3 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 สถานีชุมทางบ้านภาชี-สถานีนครราชสีมา 168 กม. มี 3 สถานีคือ สถานีสระบุรี ปากช่อง นครราชสีมา ค่าก่อสร้าง 104,600 ล้านบาท

ช่วงที่ 2 สถานีนครราชสีมา-สถานีหนองคาย 356 กม. มีแผนจะสร้างในเฟส 2 มี 5 สถานีคือ สถานีบัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย ค่าก่อสร้าง 144,363 ล้านบาท แนวเส้นทางต่อจาก จ.นครราชสีมา ผ่าน อ.เมืองนครราชสีมา โนนสูง คง บัวใหญ่ บัวลาย 

จากนั้นผ่าน จ.ขอนแก่น พื้นที่ 7 อำเภอคือ อ.พล เมืองขอนแก่น โนนศิลา น้ำพอง บ้านไผ่ เขาสวนกวาง บ้านแฮด ผ่าน จ.อุดรธานี พื้นที่ 5 อำเภอ มี อ.โนนสะอาด กุมภวาปี ประจักษ์ศิลปาคม เมืองอุดรธานี และ อ.เพ็ญ ก่อนเข้าสู่ จ.หนองคาย ผ่านพื้นที่ อ.สระใคร อ.เมืองหนองคาย

ลุ้นสายนำร่อง "กทม.-ภาชี"

และ ช่วงที่ 3 สถานีชุมทางแก่งคอย-สถานีชุมทางฉะเชิงเทรา 100 กม. มี 2 สถานีคือ สถานีองครักษ์ สถานีฉะเชิงเทรา ค่าก่อสร้าง 63,290 ล้านบาท 

สำหรับ สายนี้ จากนโยบาย "นายกฯยิ่งลักษณ์" ต้องการให้สร้างเชื่อมไปยัง สปป.ลาว ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ช่วง "นครราชสีมา-หนองคาย" อาจจะเริ่มก่อสร้างก่อนช่วงต้นที่ยังติดอีไอเอผ่านเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาและ พื้นที่สัมปทานบัตรโรงปูน 3 ค่ายยักษ์

แต่ทั้งหมดยังเป็นแผนงานที่ บรรจุในโครงการลงทุน 2 ล้านล้าน ในทางปฏิบัติจะเริ่มประมูลในปีนี้และก่อสร้างในปี 2557 ตามเป้าหมายได้หรือไม่ยังต้องจับตาดูกันต่อไป

รวมทั้งไฮสปีดเทรนสาย นำร่อง "กทม.-บ้านภาชี" 84 กม. ประกาศตัวว่าจะเกิดได้ก่อนใน 3 ปีนี้ จะชัวร์หรือมั่วนิ่ม...ก็ยังต้องลุ้นอีกเช่นกัน

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...