“เฟซบุ๊ก” สารพัดพิษ ทำคนตาย-เครียด-ขี้อิจฉา..ใครจะเป็นรายต่อไป?
เป็นที่รู้ ๆ กันดีว่า “เฟซบุ๊ก” เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กยอดนิยมของคนทั่วโลก รวมไปถึงคนไทย แต่ใครจะไปรู้ว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กตัวนี้ นับวันยิ่งร้าย และแรง! ขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีทั้งข่าว และงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นพบความน่าตกใจว่า สาเหตุการตาย ความเครียด และความขี้อิจฉาริษยาของคน ส่วนหนึ่งมาจากเฟซบุ๊ก นี่ยังไม่นับรวมความหวาดระแรงในชีวิตคู่ซึ่งเป็นมหันตภัยร้ายทำลายสถาบันครอบครัวที่นับวันยิ่งน่าห่วงไม่แพ้กัน
พิษ “เฟซบุ๊ก” นับวันยิ่งร้าย!
ตั้งแต่มีการก่อกำเนิดโซเซียลเน็ตเวิร์กฮอตฮิตตัวนี้ขึ้นมา ดูเหมือนว่าโลกจะเปิดกว้าง และเป็นพื้นที่ให้คนได้ติดต่อ พูดคุย ตลอดจนแชร์ภาพ และข้อมูลต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น ยิ่งมาดูในประเทศไทย ก็ยิ่งพบว่า ใครไม่มีเฟสบุ๊กก็ต้องบอกว่าเชยมาก ๆ ในขณะที่คนไม่เล่นก็มี เพราะอยากมีโลกส่วนตัวมากกว่าจะไปป่าวประกาศให้โลกรู้ว่า กำลังทำอะไร ที่ไหน อย่างไร หรือเข้าไปถ้ำมองว่า คนอื่นกำลังทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และทำไม
ไม่แปลกที่ประเทศไทยจะติดอันดับผู้ที่ใช้เฟซบุ๊กมากเป็นอันดับที่ 21 ของโลก ในขณะที่อันดับ 1 เป็นของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่มีผู้ใช้กว่า 133 ล้านคน เมื่อมาดูในระดับเมือง (สถิติเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556) ของ SocialBakers เว็บไซต์จัดอันดับและเก็บสถิติต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย พบว่า กรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 เมืองที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวน 12.8 ล้านบัญชี รองลงมาคือ เมืองจาการ์ตา (Jakarta) ของอินโดนีเซีย จำนวน 11.7 ล้านบัญชี
แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่า พิษสงของสื่อสังคมออนไลน์ตัวนี้ ร้าย และแรงมากขนาดทำให้คนตายได้ ซึ่งหากไม่ได้เจอกับตัวเอง หรือญาติพี่น้องในครอบครัวก็คงไม่รู้ เห็นได้จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ และข่าวออนไลน์หลายเว็บในปีที่ผ่าน ๆ มา มีคดีสะเทือนใจที่เกิดจากการเล่นเฟซบุ๊กมากขึ้น และนับวันจะยิ่งถี่ขึ้นเรื่อย ๆ
ยกตัวอย่างคดีโหด หนุ่มใหญ่เมืองชลบุรี หึงเมีย คุยเฟซบุ๊กกับชายอื่น คว้าปืนยิงเสียชีวิต ก่อนยิงตัวตายตาม โดยก่อนเกิดเหตุ ฝ่ายสามี มีปากเสียงทะเลาะกับภรรยาอย่างรุนแรง เนื่องจากขณะที่กำลังนั่งเล่นเฟซบุ๊กอยู่หน้าคอมพิวเตอร์กับเพื่อนชาย ฝ่ายสามีเดินมาเห็นจนเกิดอาการหึงหวง เป็นเหตุให้ลงมือยิงภรรยาตัวเองก่อนยิงตัวตายตามในที่สุด
อีกกรณีระทึกขวัญ เมื่อแฟนสาวเล่นเฟซบุ๊กแล้วจับได้ว่าแฟนมีกิ๊ก เป็นเหตุให้น้อยใจปีนแท็งก์น้ำสูง 30 เมตร ขู่กระโดดฆ่าตัวตาย โชคดีที่เจ้าหน้าที่สามารถเกลี้ยกล่อม และช่วยชีวิตไว้ได้ทัน โดยฝ่ายชายยอมรับว่า นอกใจแฟนสาวไปมีกิ๊ก และคุยกันผ่านเฟซบุ๊กจริง
หรือ กรณีนักเรียนหญิงอาชีวะ ตัดสินใจกระโดดตึกประชดรัก เนื่องจากผิดหวังที่ฝ่ายชายเห็นตัวจริงแล้วตัดความสัมพันธ์ หลังฝ่ายหญิงใช้ภาพสาวสวยขึ้นเฟซบุ๊กขอคบเป็นแฟน ก็เป็นอีกกรณีที่ถูกตัณหาราคะครอบงำจนขาดสติ และไม่คิดถึงผลที่จะตามมา
ไม่เพียงแต่ฆราวาสเท่านั้น พระสงฆ์ผู้อยู่ในทางธรรมก็ไม่วายที่จะถูกพิษเฟซบุ๊กเล่นงาน เมื่อพบข่าวเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า พระลูกวัดในตัวจ.อ่างทอง ตัดสินใจใช้สายรัดเอวพระ ผูกคอตายภายในกุฏิ เหตุเพราะเครียดหลังจากเล่นเฟซบุ๊กกับเพื่อน
นี่คือส่วนหนึ่งของข่าวอันน่าสะเทือนใจ และเชื่อว่ายังมีอีกหลาย ๆ ข่าว ที่พบ “เฟซบุ๊ก” เป็นตัวการสำคัญอยู่ด้วย
รุม “เฟซบุ๊ก” ทำคนเครียด-ขี้อิจฉาเพิ่ม
นอกจากความตายที่โซเชียลเน็ตเวิร์กสุดฮอตตัวนี้จะเป็นตัวการหลักแล้ว บรรดานักวิจัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศก็ได้สำรวจอีกด้านพึงระวังของสื่อสังคมออนไลน์ตัวนี้มากขึ้น โดยงานวิจัยที่ University of Edinburgh Business School ระบุเลยว่า การมีเพื่อนเพิ่มขึ้นบนเฟซบุ๊กนั้น แทนที่จะเป็นสิ่งที่ดี กลับกลายเป็นการเพิ่มความเครียดให้แก่คนเรามากยิ่งขึ้น
การศึกษาในครั้งนี้ ทำการสำรวจนักศึกษาจำนวน 200 คน เกี่ยวกับการเล่นเฟซบุ๊ก ซึ่งพบว่า กลุ่มคนที่มีเพื่อนมากเสี่ยงต่อความเครียดและสลดหดหู่สูงกว่ากลุ่มที่มีเพื่อนน้อยกว่า โดยผู้ที่เล่นเฟซบุ๊ก จะได้รับผลเชิงลบมากกว่าประโยชน์ในปฎิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และครอบครัวในโลกของความจริง นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 32 รู้สึกผิด เมื่อต้องปฏิเสธคำขอร้องจากเพื่อน ขณะที่ 12 % ระบุว่า เฟซบุ๊ก ทำให้พวกเขากระวนกระวาย
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะการปฎิสัมพันธ์กันในโลกของเฟซบุ๊ก มีลักษณะเหมือนการเล่นการพนัน โดยผู้เล่นต้องคอยใจจดใจจ่อกับข้อความของผู้อื่น และกังวลว่าจะต้องพลาดสิ่งดี ๆ ไป หากพวกเขาไม่ติดตามเฟซบุ๊กอยู่ตลอดเวลา และประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้เล่นเฟซบุ๊ก มักจะซ่อนความเครียดและความกระวนกระวายจากการถูกปฏิบัติต่าง ๆ จากเพื่อน และบุคคลอื่นในเฟซบุ๊ก เช่น การถูกปฏิเสธ วิตกจริต อิจฉาต่อการใช้ชีวิตของคนอื่น เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังมีรายงานจากสมาคมจิตวิทยาแห่งอเมริกา (American Psychological Assasociation) ได้นำเสนองานวิจัยโดยสำรวจพฤติกรรมของวัยรุ่นที่ใช้คอมพิวเตอร์เล่นอินเิทอร์เน็ต โดยเฉพาะการเข้าไปดูกิจกรรมต่าง ๆ บนเฟซบุ๊ก พบว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ถ้าหากเล่นมากเกินไปอาจส่งผลกระทบทางจิตใจหลายอย่าง เช่น เกิดอาการติด หลงตัวเอง มีอารมณ์ก้าวร้าว ไม่มีสมาธิในการเรียน ขาดเรียนเพิ่มขึ้น ผลการเรียนแย่ลง วิตกกังวล ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ทำให้มีปัญหานอนดึกมากขึ้น และพักผ่อนไม่เพียงพอ
ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤติ “เฟซบุ๊ก” ยังทำให้คน “ขี้อิจฉา” เพิ่มขึ้นด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการเปิดเผยผลวิจัยของ Hanna Krasnova จากหลักสูตรระบบสารสนเทศ มหาวิทยาลัย Humboldt ที่สำรวจจากผู้ใช้เฟซบุ๊กในประเทศเยอรมนีจำนวน 600 คน พบว่า มีคนจำนวน 1 ใน 3 ของทั้งหมดรู้สึกอิจฉาเวลาเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่คนอื่นโพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก และทำให้รู้สึกพอใจในชีวิตตัวเองน้อยลง
สำหรับการกระทำบนเฟซบุ๊กที่ทำให้คนอื่นรู้สึกอิจฉาได้มากที่สุด คือ การแชร์รูปภาพที่ถ่ายตอนไปท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ รองลงมาคือ ปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ กับเพื่อนในเฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็นการอวยพรวันเกิด มีคนการกดไลก์และคอมเมนต์มาก ๆ ส่วนสิ่งอื่น ๆ ที่มีผลรองลงมา ได้แก่ การแสดงถึงความอบอุ่นในครอบครัวที่มีผลกับคนอายุ 30 กว่า ๆ มากที่สุด และการแสดงรูปร่างหน้าตาที่ดูดี ซึ่งมีผลกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ ผลวิจัยยังได้ระบุอีกว่า คนส่วนใหญ่มักสนองความอิจฉาด้วยการโพสต์เรื่องราวดี ๆ ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นกับความสำเร็จ ความเก่ง หรือสิ่งต่าง ๆ ที่น่าชื่นชม และทำให้ตัวเองดูดี โดยผู้ชายมักชอบโพสต์เกี่ยวกับความสำเร็จของตัวเอง ส่วนผู้หญิงมักชอบโพสต์รูปภาพและชีวิตประจำวันของตัวเอง
ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้กล่าวอีกว่า คนเล่นเฟซบุ๊กที่รู้สึกอิจฉาบางคนจะเล่นเฟซบุ๊กน้อยลงหรืออาจจะเลิกเล่นไปเลย
อย่างไรก็ดี ในประเด็นเดียวกันนี้ ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ได้เคยมีโอกาสพูดคุยกับนักวิชาการของไทยหลาย ๆ ท่านถึงการเล่นเฟสบุ๊กให้มีความสุข ซึ่งขอหยิบยกความเห็นของ ลัดดา ตั้งสุภาชัย อดีตผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และ อ.อิทธิพล ปรีติประสงค์ นักวิจัยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มาเสนอย้ำกันอีกครั้ง
อดีตผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ให้ความเห็นว่า เฟซบุ๊กเป็นแค่เพียงฉากหนึ่งฉากของวิถีชีวิตคนคนนั้นที่ถูกเลือกนำเสนอในด้านดี แต่ยังมีอีกหลายมิติที่เขาไม่ได้นำเสนอ ซึ่งบางเรื่องอาจจะเป็นชีวิตปลอม ๆ ที่สร้างขึ้นมาก็ได้ ที่สำคัญ ผู้ใช้ต้องหนักแน่น และมีภูมิคุ้มกันที่ดี ไม่ใช่เอามาคิดมากจนทำร้ายตัวเอง ซึ่งถ้ามันไม่ใช่ก็เขยิบออกมาจะดีกว่า อย่าไปยุ่งกับเขาเลย
ด้านนักวิจัยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล พูดไว้อย่างน่าสนใจเช่นกันว่า คนเล่นต้องรู้จักเคารพตัวเองให้เป็น การไปมองชีวิตคนอื่น และนำมาเปรียบเทียบกับตัวเราจะยิ่งทำให้ทุกข์เปล่า ๆ แต่ควรทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า ทุกคนก็มีทั้งด้านชีวิตที่ดี และไม่ดี ดังนั้นอย่าตกเป็นเครื่องมือของเฟซบุ๊ก และใช้มันทำร้ายคนอื่น
“เฟซบุ๊ก” ตัวการเพิ่มการหย่าร้าง
พิษสงของเฟซบุ๊ก ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีนักวิชาการลงความเห็นอีกว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก รวมไปถึงทวิตเตอร์เป็นมหันตภัยร้ายทำลายสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะในต่างประเทศที่มีคู่สามีภรรยาหย่าร้างกันเพราะเฟซบุ๊กมากถึง 30 % เลยทีเดียว
“โซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้มองไม่เห็นคุณค่าและทอดทิ้งคนที่อยู่ใกล้ตัว แต่ไปให้คุณค่าแก่คนที่อยู่ไกล ผู้คนจำนวนมากที่อยู่ในบ้านเดียวกันไม่ค่อยได้พูดคุยกัน แต่มีเวลาทักทายเพื่อนใหม่ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ ใช้เวลาอยู่หน้าจอนั่งโพสต์ข้อความตอบโต้กันไปมาเป็นเวลานานหลายชั่วโมงขณะที่คนใกล้ชิดอยู่บ้านเดียวกันพูดกันไม่กี่คำก็ทะเลาะกันแล้ว
คนสมัยนี้เวลาน้อยใจ เสียใจก็ไม่ยอมพูดกันตรงๆ จะระบายอารมณ์โดยการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ เป็นการพูดลอย ๆ ไม่เอ่ยชื่อใคร คนที่เข้ามาอ่านอาจจะเป็นคู่กรณี เมื่ออ่านแล้วก็คิดไปเอง ส่วนคนที่โพสต์ข้อความก็โพสต์ไปตามอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง การสื่อสารจึงเป็นแบบต่างคนต่างเขียน ต่างคนต่างคิดกันไปเอง คิดเองตอบเอง ประกอบกับโซเชียลเน็ตเวิร์กจะมีคนที่สามที่สี่เขามาแสดงความเห็นด้วยจึงยิ่งทำให้มีปัญหามากขึ้น”
เป็นคำพูดของ ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา ประธานโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ที่เคยออกมาระบุด้วยความห่วงใยผ่านสื่อต่าง ๆ ถึงข้อควรระวังในการเล่นเฟซบุ๊ก เนื่องจากไม่อยากให้สถาบันครอบครัวไทยต้องแตกร้าวเหมือนในต่างประเทศ
“โซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์ ผู้ใช้ไม่ว่าหญิงหรือชายมีโอกาสกลับไปติดต่อกับแฟนเก่า ซึ่งบางคนแค่พูดคุยสอบถามสารทุกข์สุขดิบ บางคนก็ติดต่อกันลับๆ เกิดปัญหาบานปลาย ท้ายที่สุดคู่สามีภรรยาก็หย่าร้างกันมากถึง 30% ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทย”
ทางที่ดี ดร.จิตราให้ทางแก้ไว้ว่า ต้องสร้างความสัมพันธ์แบบสด ๆ คือการพูดคุยสื่อสารกันโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคู่สามีภรรยาหรือคนในครอบครัว หันมาสนใจคนที่อยู่ใกล้ตัวมากกว่าคนที่อยู่ไกลตัว ไม่ควรจะให้เฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์มีอิทธิพลกับชีวิตมากเกินไป
แรงเมนต์ แรงแค้น!
อีกหนึ่งคดีสะเทือนขวัญที่ใครหลายคนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่ได้เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ โดยในปีที่ผ่านมา พบการเตือนภัยเรื่องฆาตกรเฟซบุ๊กถูกแชร์ไปยังโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว หลังเกิดคดีดังขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อหญิงสาววัย16 ปี โมโหหลังโดนนินทาผ่านเฟซบุ๊ก จึงวางแผนกับแฟนหนุ่มจ้างเด็กไปฆ่าคนโพสต์ข้อความนินทาตัวเอง ซึ่งเป็นการฆ่าทั้งตระกูล
เหตุการณ์ในทำนองนี้ ยังพบในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลียด้วย ซึ่งมีรายงานคดีทำร้ายจากโซเชียลมีเดียถึง 5,000 คดี ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำนวณเป็นสถิติก็คือเกิดขึ้นทุก 1-2 ชั่วโมง เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งถูกชกหน้าที่ป้ายรถเมล์ โดยผู้หญิงที่ชกหน้าเธอบอกเพียงว่า “ฉันเห็นเธอเขียนว่าจะฟ้องตำรวจใช่ไหม” แล้วก็ชกหน้าอีกทีหนึ่ง
ส่วนในประเทศไทยก็มีให้เห็นแล้ว ซึ่งใครจำกันได้ กรณีแก๊งสาวประเภทสองเกือบ 10 คน เทก๋วยเตี๋ยวต้มยำร้อนๆ ใส่นักเรียนหญิง ม.4 ก่อนจะเข้าไปรุมตบตี ซึ่งหลังจับผู้ต้องหามาสอบสวนจึงรู้ว่า เหยื่อชอบไปโพสต์ด่าผ่านเฟซบุ๊กเลยโมโห และวางแผนแก้แค้น
นี่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ที่จะมองข้ามกันได้อีกแล้ว สำหรับการใช้พื้นที่ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กชื่อดังอย่าง “เฟซบุ๊ก” ซึ่งนับวันยิ่งร้าย และแรงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ด้านหนึ่งจะมีข้อดี แต่หากขาดสติ และใช้ไม่เป็น คุณอาจจะเจอพิษ “เฟซบุ๊ก” พ่นใส่แบบคาดไม่ถึงเหมือนที่ตกเป็นข่าวก็เป็นได้…อยู่ที่ว่าใครจะเป็นเหยื่อรายต่อไป?