อัยการฟ้องแล้ว “พันธมิตรฯ” ร่วมก่อการร้ายบุกสนามบิน
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 14.00 น. วันที่ 14 มี.ค. นี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุลกับพวกรวม 31 คน อาทิ นายพิภพ ธงไชย, ,นายสมศักดิ์ โกศัยสุข,นายสุริยะใส กตะศิลา, นายประพันธุ์ คูณมี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายศิริชัย ไม้งาม, พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ , นายเทิดภูมิ ใจดี,นายไทกร พลสุวรรณ ,พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ และบริษัทเอเอสทีวี เป็นจำเลยในความผิด ฐานร่วมกันก่อการร้ายเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน,มั่วสุมตั้งแต่10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ฯ กรณีพวกจำเลยบุกเข้าไปในสนามบินดอนเมืองและ สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551
โดยอัยการระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2551 รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีสถานการณ์ร้ายแรงในเขตพื้นที่ดอนเมือง ลาดกระบัง และ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการโดยให้ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.(ขณะนั้น)เป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยได้ออกประกาศวันที่ 29 พ.ย. 2551 ห้ามมิให้มีการชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 5คนขึ้นไป บริเวณเขตดอนเมืองและพื้นที่อื่น ๆ และห้ามใช้เส้นทางคมนาคมบริเวณพื้นที่ชุมนุมทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว(ดอนเมือง) ห้ามใช้อาคาร ห้ามใช้พื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและให้ประชาชนที่ชุมนุมบริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองออกจากพื้นที่ทันที
ต่อมาวันที่ 29 พ.ย. 2551 พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ ผบช.ภ. 1 หัวหน้าผู้รับผิดชอบพื้นที่ในเขตสถานการณ์ฉุกเฉินบริเวณเขตลาดกระบังและ อ.บางเสาธง ได้ออกข้อกำหนดอีก 1 ฉบับ กล่าวคือ ห้ามมีการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 5คน ชุมนุมในกรุงเทพและจ.สมุทรปราการ ห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในสนามบินสุวรรณภูมิใช้เส้นทางคมนาคมบริเวณ ถ.บางนา-ตราดและที่อื่น ๆ และห้ามผู้ใดไปในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยใช้อพยพผู้ชุมนุมออกไปและห้ามกลับเข้ามาอีก ต่อมานายศรันยู วงศ์กระจ่างกับพวกที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้องได้ร่วมกันกับนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ พล.อ.ปฐมพงศ์ เกสรสุข นายกษิต ภิรมย์ นายวีระ สมความคิด น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ได้ประกาศรวมตัวประชาชนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) จำนวนหลายพันคนเข้าร่วมชุมนุมบริเวณสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งบ.เอเอสทีวี จำเลยที่ 31 ได้จัดให้ มีการถ่ายทอดแพร่ภาพและเสียงชักชวนปลุกระดมประชาชนให้เข้าชุมนุมที่สนามบินทั้ง 2 แห่งอีกเพื่อประท้วงรัฐบาลนายสมชาย ทำให้ประชาชนที่อยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ทราบการเคลื่อนไหวชุมนุมที่ฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐบาล ต่อมาวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย ทำให้นายสมชายพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพวกจำเลยจึงยอมสลายการชุมนุม
อัยการระบุฟ้องต่อไปว่า พวกจำเลยได้ทำร้ายร่างกาย จ.ส.ต. วิเชียร ช่วยพัทลุง สังกัดสันติบาล 1 ที่ใช้กล้องถ่ายรูปถ่ายภาพผู้ชุมนุมขณะทำการยึดและปิดล้อมอาคารชั้น4 สนามบินสุวรรณภูมิ และยังแย่งกล้องถ่ายรูปไปโดย จ.ส.ต.วิเชียรได้ถ่ายรูปจำเลยขณะบุกยึดอาคารไว้ทั้งหมด ขู่เข็ญให้เกิดความกลัวเพื่อให้ลบภาพการชุมนุม จึงเป็นความผิดฐานขัดขวางหน่วงเหนี่ยวและข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการผิดกฎหมาย นอกจากนี้วันที่ 26 พ.ย. 2551 จำเลยที 11 กับพวกได้บังคับนางอุบล ปราโมช ผช.หน.รปภ.ที่ดูแลร้านค้าในสนามบินสุวรรณภูมิ ได้บุกเข้าไปในร้านค้าปลอดภาษีให้ทำการปิดร้านและให้ออกไปจากพื้นที่
โดยพวกจำเลยจะเข้าไปดูแลพื้นที่ดังกล่าวเอง มิฉะนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัย และเมื่อวันที่29 พ.ย. 2551 ได้มีพวกของจำเลยประมาณ 300คนซึ่งมีหนังสติ๊ก ไม้กอล์ฟ เข้าไปปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณหน้าอาคารคลังสินค้า ถ.เมนโรดฝั่งขาเข้า โดยได้ใช้รถบรรทุกหกล้อดัดแปลงเป็นเวทีปราศรัยและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย จ.ส.ต.เกรียงไกร บุญธรรม กับพวกจนได้รับบาดเจ็บ จากนั้นได้ใช้มีดปลายแหลมกรีดทำลายล้อรถยนต์ของราชการ ทั้งยังบังคับให้ตำรวจเปิดประตูรถยนต์ของราชการ แล้วนายศรันยู วงศ์กระจ่าง เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ เข้ารื้อค้นสิ่งของในรถและเอาพวกเหล็ก ไม้กอล์ฟ คืนกลับไป วันเดียวกันพวกของจำเลยยังได้ทำร้าย ด.ต.สมภพ นที กับพวกที่รักษาการบริเวณสถานีตำรวจภูธรราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ โดยพวกข่มขู่ ฉุดกระชากให้เข้าไปในอาคารผู้โดยสารชั้น4 เพื่อให้นายสำราญ รอดเพชร สอบปากคำเพื่อให้ตอบคำถามว่าที่ สภ.มีคลังอาวุธอยู่บริเวณใด
การกระทำของจำเลยเป็นการระดมมวลชนให้โค่นล้มนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ลาออกจากนายกรัฐมนตรีโดยใช้แผนเรียกว่า “การประกาศสงครามครั้งสุดท้ายครั้งเดียวจบ”โดยใช้ยุทธวิธีแผนดาวกระจาย และใช้สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีสนับสนุน เป็นการเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมมากที่สุด การกระทำดังกล่าวทำให้ประชาชนร่วมประท้วงรัฐบาลมีการกระจายกำลงปิดล้อมรัฐสภา ขณะนายสมชาย แถลงนโยบายรัฐบาล อีกพวกหนึ่งปิดล้อมกระทรวงการคลัง เพื่อบีบบังคับไม่ให้ รมว.คลังปฏิบัติหน้าที่แล้วเคลื่อนกำลังเข้าไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลที่สนามบินดอนเมือง เพื่อไม่ให้รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ได้มีการนำรถยนต์ ลวดหนาม แผงเหล็ก มาปิดกันสะพานกลับรถบริเวณ ถ.วิภาวีดี-รังสิต ขาออกทำให้ประชาชนเดินทางไม่ได้ และยังบุกเข้าไปในสถานที่ทำการติดตั้งเสาเรดาร์ของบ.วิทยุการบินฯแล้วเอาจานรับสัญญาณโทรทัศน์ของผู้ชุมนุมไปติดตั้งไว้ใกล้ ๆทำให้สัญญาณเรดาร์ใช้การไม่ได้ การบินหยุดชะงัก และยังขู่เข็ญห้ามไม่ให้เครื่องบินขึ้น-ลงสนามบินดอนเมือง
และพวกจำเลยได้ทำร้าย ขู่เข็ญเจ้าพนักงานหลายครั้งซึ่งเป็นความผิดต่างกรรม ต่างวาระ มีอัตราโทษสูง อันเป็นความผิดตามกฎหมายจึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยฐานร่วมกันก่อการร้ายเพี่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน,ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ,ร่วมกันเข้าไปรบกวนการครอบครอง เข้าไปซ่อนตัวในอาคารสำนักงานของผู้อื่นและไม่ยอมออกไปจากสถานที่นั้น โดยใช้กำลงประทุษร้าย, ร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปฝ่าฝืนคำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยร่วมกันทำลาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งอำนวยความสะดวกในท่าอากาศยาน ทำให้เกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของท่าอากาศยาน, ร่วมกันทำให้ทางสาธารณะอยู่ในลักษณะอันตรายต่อการจราจร,ร่วมจัดทำให้การสื่อสารสาธารณะขัดข้อง, ร่วมกันทำลายทำให้เสื่อมค่าทรัพย์สินของผู้อื่น,ร่วมกันเป็นซ่องโจร,ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธ, ร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย,ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวจะเกิดอันตรายต่อชีวิตจนผู้ข่มขืนใจยินยอม,ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นให้เสื่อมเสียอิสรภาพต่อร่างกาย
ศาลได้ประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีดำ อ.973/2556และนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 29 เม.ย. เวลา 09.00น.
ต่อมากลุ่มทนายความของพวกจำเลยได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพคนละ 8 แสนบาท ประกันตัวออกไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นฟ้องของอัยการวันนี้มีนายพิภพ ธงไชย พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ กับพวกรวม 17คนเท่านั้นที่มาศาล ส่วน พล.ต.จำลอง นายสนธิ กับพวกอีก 14 คนซึ่งได้ถูกฟ้องคดีร่วมกันบุกทำเนียบเมื่อวันที่27 ธ.ค.55ไม่ได้เดินทางมาศาลเนื่องจากได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้านี้
สำหรับจำเลยทั้ง 3 1คน ประกอบด้วย1. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 2.นายสนธิ ลิ้มทองกุล 3. นายพิธพ ธงไชย 4.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 5.นายสุริยใส กตะศิลา 6.นายสมเกียรติ พงศ์ไพบูลย์ 7.นายศิริชัย ไม้งาม 8. นายสำราญ รอดเพชร 9.นางมาลีรัตน์ แก้วก่า 10.นายสาวิทย์ แก้วหวาน
11.พ.ต.อ.สันธนะ ประยูรรัตน์ 12 นายชนะ ผาสุกสกุล 13นายรัชต์ชยุตม์ หรือ อมร อมรรัตนานนท์ 14. นายประพันธ์ คูณมี 15.นายเทิด ภูมิใจดี 16.น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก 17.นายพิชิต หรือ ตั้ม ไชยมงคล 18.นายบรรจง นะแส 19.นายสุมิตร นวลมณี 20.นายพิเชษฐ พัฒนโชติ
21.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 22.นายอธิวัฒน์ บุญชาติ 23.นายจำรูญ ณ ระนอง 24.นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร 25.นายไทกร พลสุวรรณ 26.นายสุชาติ ศรีสังข์ 27.นายอำนาจ พละมี 28.พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ 29.นายเกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา 30.นายกิตติชัย หรือ จอร์ส ใสสะอาด และ 31.บ.เอเอสทีวี (ประเทศไทย)จำกัด
ทั้งนี้ จำเลยคดีดังกล่าวมีทั้งหมด 114 คน โดยวันนี้นำตัวมาฟ้องต่อศาลแล้ว 31 คน ส่วนจำเลยที่เหลือศาลได้ทยอยฟ้องโดยจะนัดมาฟ้องทุกพฤหัสบดี