มรดกกะเพรา

กรณีพิพาทว่าด้วย "กะเพรา" กำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคมออนไลน์



ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า กะเพราสูตรปัจจุบันใส่ทั้งข้าวโพดอ่อน ถั่วฝักยาว และหอมใหญ่จนวุ่นวายไปหมด จึงเรียกร้องให้ร้านอาหารตามสั่งต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรกลับมาปรุงผัดกะเพราแบบเพียวๆ



แต่อีกฝ่ายหนึ่งโต้ว่า กะเพราที่ใส่ผักเพิ่มเติมเช่นนี้ก็ดีอยู่แล้ว เพราะจะได้มีสารอาหารเพิ่มและเป็นสีสันใหม่ๆ ให้แก่หนึ่งใน "อาหารประจำชาติ" จานนี้ 



การถกเถียงดังกล่าวเป็นตัวอย่างว่า สิ่งที่อยู่รอบตัวเราในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร หรือภาษา ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรม



ที่สำคัญคือวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงตลอด เห็นได้จากวิวัฒนาการข้าวราดกะเพรา หรือคำศัพท์ใหม่ๆ ตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น ชิมิ บ่องตง จุงเบย ฯลฯ



แน่นอนว่าในสังคมก็ย่อมมีความเห็นที่ต่างกันต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ บางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ชอบ แต่ที่แน่ๆ คือการแช่แข็งวัฒนธรรมนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังที่นักภาษาศาสตร์หลายคนวิจารณ์การต่อต้านภาษาใหม่ๆ จากฝ่ายอนุรักษนิยม



ปัจจุบันมีความพยายามอนุรักษ์และให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เช่นนี้ องค์การยูเนสโกยังแยกวัฒนธรรมเป็นมรดกรูปธรรม และนามธรรม



รูปธรรมคือสิ่งสร้างอย่างวัดหรือวัง ส่วนนามธรรมคือศิลปะ การปฏิบัติ และภูมิปัญญา เช่น ดนตรี การเต้นรำ ภาษา



สำหรับไทย มีแผนเข้าร่วมภาคีอนุสัญญามรดกทางนามธรรม (Intangible Cultural Heritage) ของยูเนสโก พร้อมกับเสนอ ฤๅษีดัดตน ต้มยำกุ้ง ซอล้านนา และอื่นๆ รวมกันกว่า 150 รายการ เพื่อขึ้นบัญชีมรดกกลุ่มนี้



สังคมอินเตอร์เน็ตไทยน่าจะลองเสนอ "กะเพรา" เข้าไปด้วย



ส่วนจะเป็นกะเพราแบบใส่ข้าวโพดอ่อนและถั่วฝักยาว หรือไม่ใส่ ก็คงต้องคุยกันอีกที (ฮา)

14 มี.ค. 56 เวลา 17:59 629 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...