ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ : ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ขณะนี้นายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าสัวเบียร์ช้างและธุรกิจพัฒนาที่ดินในนาม "ทีซีซีแลนด์" ได้ขยับแผนรุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอีกครั้ง
ที่ผ่านมาการลงทุนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ การซื้อที่ดินเวิ้งนาครเขษมต่อจากราชสกุลบริพัตร มูลค่า 4.5 พันล้านบาท
เมื่อปลายปี 2554 เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งช็อปปิ้งที่คงความเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวจีน การเข้าซื้อกิจการ บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (โกลเด้นแลนด์) โดยใช้เงินประมาณ 3.7 พันล้านบาท เข้าซื้อหุ้น 50.6% รวมถึงกระแสข่าวว่าเจรจาเช่าที่ดินห้างโรบินสัน รัชดาภิเษก ที่จะหมดสัญญาในสิ้นปี 2556 เป็นระยะเวลา 30 ปี จากเจ้าของที่ดินคือบริษัท ราชา พาเลซ จำกัด เพื่อขยายอาณาจักรอสังหาฯบนถนนรัชดาฯ
ดีลตึกดีทแฮล์ม-รร.พัทยา
แหล่งข่าวจากวงการพัฒนาที่ดินเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้มีดีลที่กำลังได้รับความสนใจจากวงการอสังหาฯ หนึ่งในดีลใหญ่ของปีคือ กรณีนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้เจรจาซื้ออาคารสำนักงานให้เช่า "จีพีเอฟ วิทยุ ทาวเวอร์" (เดิมชื่อตึกดีทแฮล์ม ทาวเวอร์) บนถนนวิทยุ ใกล้สถานทูตอเมริกา
เป็นการซื้อต่อจากคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เพื่อจะนำมาพัฒนาเป็นโรงแรมหรูภายใต้แบรนด์เดอะริทซ์ คาร์ลตัน แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อขยายอาณาจักรโรงแรมบนถนนวิทยุ ซึ่งปัจจุบันเจ้าสัวเจริญมีธุรกิจโรงแรมพลาซ่า แอทธินีอยู่แล้ว
เท่าที่ทราบอาคารจีพีเอฟฯตั้งอยู่บนที่ดินประมาณ 10 ไร่ มูลค่าการซื้อขายน่าจะอยู่ราว ๆ 4-5 พันล้านบาท หรือเฉลี่ยตารางวาละประมาณ 1-1.25 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงกว่ากับที่ดินสถานทูตอังกฤษ เนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ที่เซ็นทรัลชนะการประมูลนำมาพัฒนาเป็นโครงการเซ็นทรัล แอมบาสซี
"หลังจากซื้อกิจการธุรกิจเครื่องดื่มและอสังหาฯจากกลุ่ม F&N (เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ) ของสิงคโปร์แล้ว อาจจะมีบางคนคิดว่าเจ้าสัวคงหยุดลงทุนไปสักพักหนึ่ง แต่การซื้ออาคารดีทแฮล์มเป็นสิ่งยืนยันชัดเจนว่าเจ้าสัวไม่ได้หยุด และนอกจากนี้ยังมีข่าวว่าเจ้าสัวได้เจรจาซื้อกิจการโรงแรมมณเฑียร พัทยา มูลค่าประมาณกว่า 2,000 ล้านบาทอีกด้วย"
เช่าพื้นที่รถใต้ดินศูนย์สิริกิติ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการเจรจาซื้ออาคารจีพีเอฟฯ และโรงแรมมณเฑียร พัทยา ล่าสุดนายเจริญได้เตรียมขยายธุรกิจอสังหาฯต่อเนื่อง โดยส่งบริษัทในเครือ "เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์" ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เข้าเจรจากับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล เพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์สิริกิติ์
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทมีแผนจะพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จำนวน 3 แห่ง
โดยกลางปีนี้จะเริ่มดำเนินการและเปิดบริการก่อน 1 แห่ง ที่สถานีพระราม 9 อีก 2 แห่งที่สถานีศูนย์วัฒนธรรม และสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่ละสถานีมีพื้นที่ประมาณ 2 พันตารางเมตร จะเริ่มเปิดบริการได้ประมาณไตรมาส 3-4 นี้ รูปแบบการพัฒนามี 2 ทางเลือก คือ
1)เปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ
2)บริษัทดำเนินการเองในนามบริษัทลูกคือ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ตเวิร์คส์ จำกัด (บีเอ็มเอ็น) เป็นผู้ดำเนินการ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาและเจราจากับผู้ประกอบการอสังหาฯและห้างสรรพสินค้าที่สนใจ
คืบหน้าทำค้าปลีกใต้ดิน
ความคืบหน้าล่าสุดสำหรับสถานีศูนย์สิริกิติ์ ได้รับการติดต่อจากบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สนใจจะเข้ามาพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานี
เนื่องจากปัจจุบันมีพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับลูกค้าที่มาใช้บริการจัดงานภายในศูนย์ประชุมพื้นที่ของสถานีพระราม 9 กำลังเจรจากับผู้ประกอบการที่สนใจจะมาพัฒนาพื้นที่ จำนวน 2-3 ราย
จากเดิมก่อนหน้านี้เคยหารือร่วมกันกับกลุ่มเซ็นทรัลบ้างแล้ว ทั้งนี้หากคุยกันไม่ลงตัว บริษัทจะให้บริษัทบีเอ็มเอ็นเป็นผู้ดำเนินการเอง ส่วนสถานีศูนย์วัฒนธรรมนั้นก็มีกลุ่มเอสพลานาดสนใจจะเข้ามาพัฒนาพื้นที่
เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเชื่อมกับห้างสรรพสินค้าเอสพลานาด แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป
อนึ่ง ปัจจุบันบีเอ็มซีแอลได้พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว ประมาณ 4 สถานี จากทั้งหมด 11 สถานี ประกอบด้วย สถานีกำแพงเพชร สถานีจตุจักร สถานีพหลโยธิน และสถานีสุขุมวิท โดยมีรายได้จากการบริหารพื้นที่ประมาณ 20 ล้านบาท/ปี