สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ว่า กองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐเริ่มต้นการซ้อมรบร่วมประจำปีนี้แล้ว ท่ามกลางบรรยากาศอันตึงเครียดไปทั่วทั้งคาบสมุทรเกาหลี หลังเกาหลีเหนือตัดสัญญาณโทรศัพท์สายด่วนที่ใช้ติดต่อกับฝั่งใต้มานานกว่า 40 ปี และประกาศเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์ครั้งใหม่
ข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ระบุว่า ปฏิบัติการซ้อมรบร่วมกันครั้งนี้เป็นการซ้อมรบด้วยระบบคอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์ ภายใต้รหัส “คีย์ รีซอล์ฟ” ระหว่างวันที่ 11-21 มี.ค. นี้ โดยมีทหารเกาหลีใต้เข้าร่วม 10,000 นาย และทหารอเมริกันอีก 3,500 นาย
แม้ทางการเกาหลีใต้จะประกาศยืนยันเสมอมา ว่าปฏิบัติการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐทุกครั้งเป็นไปตามแนวนโยบายด้านความมั่นคงแห่งชาติ และเพื่อเสริมสร้างความพร้อมให้แก่ทหารเกาหลีใต้ แต่รัฐบาลเปียงยางก็ออกมาประณามทุกครั้งเช่นกันว่า ปฏิบัติการซ้อมรบร่วมของทั้ง 2 ประเทศ คือสัญญานของการเตรียมรุกรานเกาหลีเหนือ
ด้านกระทรวงรวมชาติเกาหลีใต้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า เกาหลีเหนือเป็นฝ่ายระงับสัญญาณโทรศัพท์สายตรงด้านความมั่นคงระหว่างกัน ตามที่ได้ลั่นวาจาไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนแล้ว เนื่องจากรัฐบาลโซลไม่สามารถติดต่อทางการเปียงยางได้ในวันนี้ ทั้งนี้ สายด่วนดังกล่าวเปิดใช้เมื่อปี 2514 หรือ 18 ปีหลังการลงนามร่วมในข้อตกลงสิ้นสุดสงครามเกาหลีเมื่อปี 2496 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองชาติจะผลัดกันเป็นฝ่ายโทรศัพท์หาอีกฝ่ายผ่านสายด่วนดังกล่าววันละ 2 ครั้ง ตามเวลาที่ตกลงกันไว้ คือ 9.00 น. และ 16.00 น. อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เกาหลีเหนือเคยตัดสัญญาณสายด่วนมาแล้ว 5 ครั้ง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี 2552
ขณะที่หนังสือพิมพ์ “โรดอง ซินมุน” สื่อสิ่งพิมพ์กระบอกเสียงของทางการเกาหลีเหนือ ตีพิมพ์รายงานยืนยันว่า รัฐบาลเปียงยางประกาศให้ข้อตกลงหยุดยิงที่ลงนามร่วมกับฝั่งใต้ เพื่อยุติสงครามเกาหลีเมื่อ 60 ปีก่อน มีผลเป็นโมฆะโดยสมบูรณ์นับแต่บัดนี้ พร้อมกับปิดท้ายว่า นับแต่นี้จะเกิดอะไรขึ้นระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ ถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดเดาได้อีกต่อไป
เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีปาร์ค กึน-เฮ แห่งเกาหลีใต้ ประกาศพร้อมตอบโต้อย่างรุนแรงที่สุด หากมีประชาชนของตนได้รับบาดเจ็บแม้เพียงน้อยนิดจากการโจมตีของฝั่งเหนือ พร้อมกับเผยวีดีโอคลิปขีปนาวุธรุ่นใหม่ของประเทศ ที่เธอยืนยันว่ามีพิสัยยิงไกลถึงทำเนียบผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ในใจกลางกรุงเปียงยาง