ปรัชญาอาชีพของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล คือ "ความเป็นองค์กรที่ น่าเชื่อถือ"
แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านมากลับมีคำถามจากสังคมตลอดมา ถึงความน่าเชื่อถือในการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ของแต่ละงวดว่าโปร่งใสจริงหรือไม่ โดยเฉพาะในยุคสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่หวยมักจะออกตรงกับทะเบียนรถหลายครั้ง
ดังนั้น เมื่อวันที่ 20-24 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักงานสลากกินแบ่งฯ โดย พล.ต.ต. อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผู้อำนวยการสำนักงาน ได้นำคณะสื่อมวลชนไปศึกษางานสลาก กินแบ่งฯ ในประเทศเกาหลีใต้ ทั้งรูปแบบ ของสลาก การจัดจำหน่าย การออกรางวัล นวัตกรรมใหม่ๆ และความน่าเชื่อถือ
สลากกินแบ่งฯ หรือในประเทศเกาหลี เรียกว่า ล็อตโต้ (Lotto) มีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1947 รัฐบาลเกาหลีในสมัยนั้นต้องการระดมทุนให้นักกีฬาโอลิมปิกเป็นค่าใช้จ่ายในการไปแข่งขันกีฬา แต่เริ่มมาเป็นล็อตโต้ในแบบเสี่ยงโชคในวันที่ 2 ก.พ. 2002
ในปัจจุบันล็อตโต้ของเกาหลีใต้มีทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ ล็อตโต้ที่ออกทุกสัปดาห์ในวันเสาร์ เวลาสองทุ่ม ซึ่ง ล็อตโต้แบบแรกนี้ใน 1 ใบจะประกอบด้วย 5 แถว ราคาแถวละ 1,000 วอน โดยใน 1 แถวสามารถเลือกตัวเลข 1-45 ได้ 6 ตัว และจะถูกรางวัลตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป
สำหรับรางวัลที่ 1 ต้องถูก 5 ตัว ซึ่งเงินรางวัลในแต่ละงวดจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับจำนวนคนซื้อในแต่ละงวด เนื่องจากวิธีการคิดเงินรางวัลจะนำจำนวนคนซื้อทั้งหมดมาคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ และหากงวดใดไม่มีใครถูกรางวัล ก็จะนำเงินรางวัลของงวดนั้นไปทบในงวดต่อๆ ไป
แบบที่ 2 เป็นล็อตโต้เงินบำนาญ เหมือนสลากออมสินของไทย จำหน่ายในราคา 1,000 วอน โดยจะออกทุกสัปดาห์เช่นกันในทุกวันพฤหัสบดี รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 5 ล้านวอนต่อเดือน รับติดต่อกันไป 20 ปี
และแบบที่ 3 ล็อตโต้แบบขูด หรือเรียกว่าคีโน่ ลุ้นได้จากการการขูดตัวเลข ภายในนั้นจะมีตัวเลข 4 ตัว ถูก 1 ตัวก็รับเงินรางวัลแล้ว และเงินรางวัลจะระบุในล็อตโต้ ราคาจำหน่าย 500 วอน ซึ่งเป็นแบบที่คนรุ่นใหม่ วัยรุ่นเกาหลี นิยมมาก เพราะสามารถลุ้นได้ทุกที่ทุกเวลา
ส่วน 2 แบบแรกเป็นที่นิยมของคนวัยทำงาน และสูงวัยชอบซื้อ โดยจะจำกัดการซื้อแต่ละครั้งไม่เกิน 1 แสนวอน อีกทั้งยังห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปีซื้อด้วย และที่สำคัญ ไม่สามารถขายเกินราคาที่กำหนดไว้ได้ หากร้านค้าใดฝ่าฝืนคำสั่งจะห้ามจำหน่ายล็อตโต้ตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ตามกฎหมาย ซึ่งร้านค้าที่จะจำหน่ายล็อตโต้ได้นั้นจะต้องมีใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) จากรัฐบาล และจะต้องมีสัญลักษณ์ติดไว้ด้านนอกร้าน
ขณะที่ในวันออกรางวัลสลากกินแบ่งฯ จะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ โดยจะมีเฉพาะเจ้าหน้าที่เพียง 3 คนเท่านั้นในการออกสลากผ่านเครื่องออกรางวัลแบบอัตโนมัติ และตลอดมาไม่เคยมีข้อกังขาใดๆ เลย เพราะทุกคนมั่นใจและเชื่อถือในองค์กรสลาก ที่กำกับดูแลโดยรัฐบาลของตนเอง
พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์กล่าวว่า การมาศึกษาสลากของประเทศเกาหลีครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ เพื่อนำรูปแบบมาปรับใช้ในประเทศ ไทยว่าควรจะมีผลิตภัณฑ์ใดเพิ่มเติมบ้าง เป็นการเพิ่มความหลากหลาย และที่สำคัญคือ จะสามารถแก้ปัญหาหวยใต้ดิน และการจำหน่ายสลากเกินราคาได้ แต่ไม่จำเป็นต้องนำมาทั้งหมด
เท่าที่ดูจะสนใจในสลากแบบขูดมากกว่า แต่คงต้องมีการแก้กฎหมายและกติกา ผ่านคณะกรรมาธิการการเงินการคลังและการธนาคารของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องมีข้อเสนอที่จะปรับปรุงพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 เพื่อให้สำนักงานสลากฯ มีความคล่องตัวมากขึ้น
นอกจากนี้แนวทางการออกไลเซ่นส์ให้กับร้านค้าจำหน่ายสลากฯ ของประเทศเกาหลีก็เป็นทางหนึ่งที่ให้ความสนใจจะนำไปใช้จัดระเบียบร้านค้าและตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ในไทยด้วย เพราะที่ผ่านมาเมื่อสลากฯ ออกมาผ่านมือไปได้ถึงปลายทาง ทำให้ไม่สามารถควบคุมการขายเกินราคาได้เลย
พร้อมกันนี้ยังยอมรับว่า ในฐานะผู้อำนวยการเป็นความอับอายและเครียดที่ไม่สามารถแก้การขายสลากฯ เกินราคาได้ ดังนั้นจึงสนใจเพิ่มรูปแบบสลากฯ ให้มากขึ้น เพื่อให้ ผู้บริโภคมีทางเลือกและในเกาหลีมี รูปแบบสลากฯ หลากหลายที่น่าสนใจ แต่เบื้องต้นเตรียมนำการออกสลากแบบออนไลน์มาใช้ออกรางวัลเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัวก่อน หลังจากล่าช้ามา 5-6 ปี ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างตรวจความพร้อมของเครื่องจำหน่าย และสถานที่จำหน่าย ขณะนี้คืบหน้า 70% แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะทันปีนี้หรือไม่
พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ยังย้ำว่า ?เรามาที่นี่เพื่อดูนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ดิจิตอล ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไข แม้จะยืนยันว่าอุปกรณ์ที่สำนักงานสลากฯ ใช้อยู่ในปัจจุบันเหมาะสม และเชื่อถือได้ แต่ไม่สามารถสื่อสารให้กับประชาชนเข้าใจได้ ยังมีปัญหาและข้อสงสัยทั้งหลายตามมากับการออกสลากฯ ทำให้จะไม่หยุดนิ่งกับการพัฒนานวัตกรรมของอุปกรณ์ เครื่องที่ใช้ออกสลากฯ จากปัจจุบันใช้เครื่องออกสลากฯ จากสหรัฐ อเมริกา และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง กำลังมองหาเครื่องออกสลาก รุ่นใหม่ของยุโรปเพิ่มด้วย รวมทั้งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยน แปลงได้?
แนวคิดนำเทคโนโลยีมาแก้ข้อกังขาในสังคมเป็นสเต็ปต่อจากการถ่ายทอดสดทางทีวี อันเป็นภารกิจของพล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ และบทพิสูจน์ความสำเร็จอยู่ที่ความเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ ไร้เสียงโจษจันในทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือนซะที
อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็คงไม่ยากเกินไป