สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ว่า การค้นหาข้อเท็จจริงของที่มาของแนวหินโบราณตั้งเป็นวงกลม “สโตนเฮนจ์” บนที่ราบซอลส์บรี ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษ สามารถลบล้างความเชื่อที่มีมาช้านานว่า แท่งหินในยุคหินเป็นเครื่องมือทางดาราศาสตร์ หรือสถานที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ เพราะทีมนักวิจัยอังกฤษ นำโดยศาสตราจารย์ไมค์ ปาร์เกอร์ เพียร์สัน แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน บอกว่า “สโตนเฮนจ์” แหล่งมรดกโลกตามประกาศขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และ วัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)นั้น มีอายุเก่าแก่และใช้งานมากกว่าที่เคยคิดกันไว้
โดยทีมนักวิจัยใช้เวลาศึกหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มานานสิบปี ทั้งการขุดค้นสถานที่ ทดลองทางวิทยาศาสตร์ และ วิเคราะห์จากกลุ่มตัวอย่างซากโครงกระดูกมนุษย์โบราณ 63 ซาก พบว่า แท้จริงแล้ว “สโตนเฮนจ์”มีที่มาจากการเป็นหลุมศพให้กับบุคคลชั้นสูงในขณะนั้น และสร้างขึ้นราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ผลการคำนวณจากฟันของปศุสัตว์ราว 80,000 ตัวที่พบในแถบนี้ เชื่อได้ว่ามีอายุราว 2,500 ปีก่อนคริสตกาล จึงเชื่อได้ว่าเป็นสถานที่สำหรับจัดงานฉลองยิ่งใหญ่ โดยคนสมัยโบราณจะเดินทางมาที่นี่ เพื่อฉลองในช่วงฤดูหนาวและช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากที่สุดในฤดูร้อน ดังนั้นจึงต้องสร้างเป็นอนุสาวรีย์เอาไว้เพื่อจดจำ