บุกโรงงานเกตเวย์ "อีซูซุ" ไขปริศนารถตีลังกาชุบสี

 

ถ้าพูดถึงรถปิกอัพในบ้านเราคงต้องยอมรับว่า อีซูซุ เป็นยี่ห้อที่คนไทยคุ้นเคยมากที่สุดยี่ห้อหนึ่ง เพราะอยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน ตั้งแต่อีซูซุดำเนินงานในประเทศไทยปี 2506 จวบจนปัจจุบันก็เกือบ 50 ปี ผลิตรถไปแล้วกว่า 3 ล้านคัน 

ถามว่า ความสำเร็จของอีซูซุในประเทศไทย เป็นเพราะอะไร

คำตอบที่ทุกคนรู้ดีก็คือ การผลิตรถยนต์ที่ให้ความประหยัดและความทนทานเป็นหลัก ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากคนไทยจนถึงทุกวันนี้

ล่าสุด อีซูซุก้าวไปอีกขั้น ในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพและรถเพื่อการพาณิชย์ ทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปขายกว่า 100 ประเทศทั่วโลก 

ด้วยการทุ่มงบประมาณกว่า 6.5 พันล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถอีซูซุ ณ นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ 6 แสนตารางเมตร เริ่มผลิตตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีกำลังการผลิตในเบื้องต้นประมาณ 1.13-1.2 แสนคัน

หรือแบ่งออกเป็นรถปิกอัพ 9 หมื่นคัน และรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ 3 หมื่นคัน

เมื่อรวมกับกำลังการผลิตของโรงงานเดิมที่สำโรง ที่ผลิตรถปิกอัพและมิว-เซเว่น จำนวนกว่า 2.3 แสนคัน ก็จะทำให้อีซูซุสามารถผลิตรถได้มากกว่า 4.3 แสนคัน

การขยายกำลังการผลิตในครั้งนี้จะเป็นการช่วยคลี่คลายปัญหายอดค้างส่งของรถดีแมคซ์ รุ่นใหม่ ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า หลังจากรถรุ่นดังกล่าวสามารถสร้างสถิติยอดขายและยอดค้างส่งมากกว่า 2 แสน คันภายใน 1 ปี ถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์

 


เครือ "มติชน" ได้รับเชิญจากทางอีซูซุ เพื่อเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตรถที่โรงงานเกตเวย์ ถือว่าใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียขณะนี้ก็ว่าได้

คุณทวนชัย มั่นจิต รองประธานบริษัท อีซูซุ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) เล่าให้คณะ "มติชน" ฟังว่า ปัจจุบันนี้ อีซูซุมีโรงงานประกอบรถยนต์ 2 แห่ง คือที่สำโรงและเกตเวย์แห่งใหม่นี้ ความจริงโรงงานเกตเวย์มีมาตั้งแต่ปี 2540 แต่มีเฉพาะตัวอาคาร เพิ่งจะมาสร้างโรงงานเสร็จเดินสายการผลิตเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว 

สำหรับโรงงานแห่งใหม่จะผลิตรถแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การขึ้นรูปชิ้นส่วนไปจนถึงการประกอบเสร็จเป็นรถอีซูซุ การประกอบตัวถังได้มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการเชื่อมชิ้นส่วนตัวถังต่างๆ 

ในส่วนของการชุบสีและพ่นสีจะมีการใช้เทคโนโลยีโร-ดิพ (Ro-Dip) ทำให้การเคลือบกันสนิมทั่วถึง ลดการเกิดฟองอากาศ ลดการตกค้างของฝุ่น ลดสนิม ทำให้ยืดอายุการใช้งาน ส่วนการพ่นสีจะใช้ระบบ ทรี-เว็ต (Three-wet) คือพ่นสีต่อเนื่อง 3 ชั้น

การชุบสีของโรงงานนี้ จะไม่ใช่แค่การชุบจุ่มลงไปในถังนำยาเคลือบสนิมและสีธรรมดา แต่จะใช้วิธีนำรถลงไปในถังและจับตัวถังรถตีลังกา เพื่อให้น้ำยาเคลือบกันสนิมและสีเข้าไปทุกอณูทุกซอกทุกมุมของตัวรถ ส่งผลให้รถมีความทนทานกันสนิมได้มากยิ่งขึ้น เป็นการตอกย้ำจุดแข็งของอีซูซุในเรื่องความแข็งแกร่งทนทานให้มากยิ่งขึ้น

ดังนั้น การเอาใจใส่ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดแม้แต่มิลลิเมตรเดียวก็ไม่ได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ขณะเดียวกันยังมีกิจกรรมระบบการบริหารงานผลิตที่เรียกว่า IMM (Isuzu Manufacturing Management) เป็นการควบคุมการผลิตของกลุ่มบริษัทอีซูซุ เพื่อป้องกันการนำรถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐานออกสู่ตลาด เป็นการตรวจสอบคุณภาพในสายการผลิตเพื่อตรวจสอบคุณภาพชิ้นส่วนก่อนการประกอบ

ระบบ IMM นี้ จะเป็นการเอาใจใส่การประกอบรถยนต์ขั้นตอนสุดท้าย ทุกๆ เช้า ช่างที่ประจำตำแหน่งจะต้องมาทดสอบเครื่องมือ เช่น เครื่องมือขันนอตต่างๆ มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานที่วางไว้หรือไม่ เพื่อให้การประกอบรถอีซูซุมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ทุกคัน

คุณทวนชัยบอกว่า แม้โรงงานนี้จะมีความทันสมัยเน้นระบบออโตเมชั่น หรือการใช้หุ่นยนต์หรือโรบอต และเครื่องจักรในการผลิตมากถึง 70% แต่ก็ยังต้องการแรงงานที่มีฝีมืออีก 30% เพราะงานบางอย่างต้องอาศัยช่างที่ชำนาญงาน เพื่อให้ทันกับวิวัฒนาการของเทคโนโลยีด้านยานยนต์

"สิ่งสำคัญเราต้องการตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าลูกค้าไม่พอใจ เราก็อยู่ไม่ได้ ความจริงอีซูซุไม่จำเป็นต้องลงทุนทำทั้งเรื่องสี เรื่องการประกอบรถยนต์โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย ลงทุนสูงขนาดนี้ก็ได้ แต่เพื่อต้องการทำให้ลูกค้าเห็นว่าเราตั้งใจจริงในการผลิตรถที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า" คุณทวนชัยทิ้งท้าย

 

 

 
   
10 มี.ค. 56 เวลา 11:31 9,722 5 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...