ศาลอุทธรณ์แก้โทษไฮโซ "หมูแฮม" ขับรถชนคนตาย-ลดโทษจำคุก10 ปี เหลือ 2 ปี รอลงอาญา

 

ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ที่ศาลจังหวัดพระโขนงวันที่ 5 มี.ค. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลจังหวัดพระโขนง เป็นโจทก์ นายมาโนจน์ หรือธนชรพล โตจวง , น.ส.สังวาล สีหะวงษ์ , น.ส.สุชีรา อินทร์สุวรรณ์ และ นางทองดำ หลวงแสง เป็นโจทก์ร่วมที่ 1-4 ร่วมกันฟ้องนายกัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ หรือหมูแฮม อายุ 25 ปี บุตรชายนายกัณฑ์เอนก ปัจฉิมสวัสดิ์ กับนางสาวิณี ปะการะนัง อดีตนางสาวไทยปี 2527 เป็นจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา พยายามฆ่าผู้อื่น และทำร้ายร่างกายผู้อื่นทำให้ได้อันตรายแก่กาย

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค.50 เวลา 22.50 น. จำเลยใช้ก้อนหินทุบใบหน้านายสถาพร อรุณศิริ พนักงานขับรถโดยสาร ปรับอากาศ สาย 513 ทะเบียน 12-0939 กรุงเทพมหานคร และขับรถเบนซ์ ทะเบียน ศศ 6699 กรุงเทพมหานคร พุ่งชนผู้โดยสารที่ยืนบนทางเท้า และนางสายชล หลวงแสง พนักงานการเงิน ขสมก. เสียชีวิต หลังเกิดเหตุรถเมล์ขับปาดหน้ารถของนายกัณฑ์พิทักษ์ให้หยุดบริเวณหน้าป้อมตำรวจจราจรที่ปากซอยสุขุมวิท 26 แยกอารีย์ แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กทม.

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.52 ว่า การกระทำของจำเลยไม่น่าเชื่อว่าจำเลยมีสติฟั่นเฟือน ที่อ้างว่ามีอาการเกร็งในขณะเกิดเหตุและตัวเองต้องได้รับการรักษาอาการป่วยจากแพทย์นั้น ศาลเห็นว่าที่จำเลยมีอาการเกร็งเกิดจากความเครียดจากการก่อเหตุเท่านั้น และที่จำเลยอ้างว่าบังคับตัวเองไม่ได้เพราะมีสภาพจิตแปรปรวน จำเลยไม่มีพยานหลักฐานยืนยันทางการแพทย์ชัดเจน ซึ่งการกระทำของจำเลยเกิดจากนายกัณฑ์เอนก ปัจฉิมสวัสดิ์ บิดาของจำเลยเลี้ยงดูตามใจ จึงก่อเหตุดังกล่าวจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาลงโทษฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจำคุก 1 เดือน และริบรถยนต์ของกลาง และให้ชำระค่าเสียหายแก่ นางสมจิตร แกล้วกล้า กระเป๋ารถเมล์ ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 1 แสนบาท น.ส.สังวาล โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 8 แสนบาท น.ส.สุชีรา โจทก์ร่วมที่ 3 จำนวน 79,412 บาท และนางทองดำ หลวงแสง โจทก์ร่วมที่ 4  มารดาของนางสายชล หลวงแสง ผู้เสียชีวิต จำนวน 2,158,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันทำละเมิด วันที่ 4 ก.ค.50 จนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนผู้เสียหายอื่น รวม 7 ราย จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นเป็นที่พอใจแล้ว

ศาลอุทธรณ์ประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า จากพฤติการณ์และสิ่งแวดล้อมในทางนำสืบ เชื่อว่าขณะเกิดเหตุจำเลยกระทำผิด ขับรถขึ้นไปบนทางเท้าชนผู้ตาย และผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ ในขณะที่จำเลยยังไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โดยก่อนเกิดเหตุและขณะเกิดเหตุจำเลยยังสามารถรู้สึกผิดชอบ และสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งตรวจรักษาได้ประชุมร่วมกับจิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยาคลินิก และลงความเห็นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยป่วยเป็นโรคอารมณ์แปรปวน มีลักษณะหุนหันพันแล่น ที่มีผลต่อการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่สามารถบังคับตนเองได้ เนื่องจากมีสติฟั่นเฟือน โดยจำเลยมีอาการชักตั้งแต่เด็ก การกระทำของจำเลยจึงเป็นการไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถบังคับตัวเองได้จนเกิดเหตุร้ายดังกล่าวจึงมีความผิดฐานขับรถชนคนตายและบาดเจ็บ ที่กระทำไปโดยไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กำหนดไว้สำหรับความผิดเพียงใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรค 2 ที่ศาลชั้นต้นลงโทษว่าจำเลยมีความผิดฐานเจตนาฆ่าผู้อื่นนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้นบางส่วน ศาลอุทธรณ์จึงเห็นควรลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี

พิพากษาแก้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นในขณะไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 228 ประกอบมาตรา 65 วรรค 2 เห็นควรให้จำคุกจำเลย 3 ปี และเมื่อจำเลยได้บรรเทาผลร้าย โดยชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียชีวิต 1 ราย และผู้บาดเจ็บ 3 ราย จนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่ง และคดีอาญากับจำเลยต่อไป จึงเห็นควรลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อรวมโทษฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น อีก 1 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้นเป็นเวลา 2 ปี 1 เดือน เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลย รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนด 2 ปี เพื่อให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติได้แนะนำและคอยตักเตือนจำเลยเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และให้จำเลยไปรักษาความบกพร่องทางจิตเป็นประจำตามที่แพทย์กำหนด โดยให้รายงานผลการรักษาต่อพนักงานคุมประพฤติทุกครั้งตลอดระยะเวลาของการรอลงอาญา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น 

ด้านน.ส.สุชีรา อินทร์สุวรรณ์ อายุ 31 ปี ลูกสาวของนางสายชล หลวงแสง ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว กล่าวว่า การสูญเสียแม่ไม่มีอะไรมาชดเชยได้ น่าจะมีบรรทัดฐานว่าคนที่กระทำผิดควรได้รับโทษในสิ่งที่เขากระทำไม่ว่าเขาจะอายุน้อย เป็นผู้เยาว์ หรือบกพร่องทางจิต โทษจำคุกหรืออะไรก็ตามระยะเวลาไม่มีความสำคัญ ส่วนการชดเชยด้วยเงินเป็นการเยียวยาภายนอก ไม่สามารถชดเชยบาดแผลภายในจิตใจได้  ขณะนี้รอคัดคำพิพากษาเพื่อร่วมพิจารณากับทนายว่าจะฎีกาหรือไม่  อยากให้สังคมได้รับทราบคำตัดสินเพื่อเป็นกรณีศึกษาต่อไป

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...