ตำนาน "บูชิโด" วิถีแห่งนักรบ

     
 
 บูชิโด (Bushido)

       เมื่อปี พ.ศ. 2488 ประเทศเล็กๆ ฝั่งตะวันออกถูกโจมตีด้วยปรมาณู 2 ลูก สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน และประชาชนเป็นอย่างมาก จนไม่มีใครคาดคิดว่าประเทศที่สูญเสียอย่างใหญ่หลวงเช่นนี้จะสามารถฟื้นคืน ประเทศให้รุ่งเรืองได้อีกครั้ง แค่เพียง 60 ปีให้หลัง ประเทศเล็กๆ นี้ได้เจริญก้าวหน้าข้ามผ่านหลายๆ ประเทศ กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และเศรษฐกิจของโลก และกุญแจสำคัญคือวิถีที่ยึดมั่นกันมาแต่โบราณกาล เรียกกันว่า “บูชิโด”
 

       ขึ้นต้นเช่นนี้หลายคนคงจะเดาออกว่าประเทศเล็กๆ ที่พูดถึงจะเป็นประเทศอื่นไปไม่ได้นอกจาก ประเทศญี่ปุ่น ดินแดนของชาวอาทิตย์อุทัย ประเทศที่ฟื้นตัวจากความสูญเสีย และพัฒนาแบบก้าวกระโดดจนนำหน้าประเทศฝ่ายอักษะที่เป็นผู้แพ้ในสงครามโลก ครั้งที่ 2 (หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย) ซึ่งสิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วนั้นส่วนหนึ่งมาจากความ เชื่อ หรือสิ่งที่เป็นหลักในการดำเนินชีวิตมาแต่สมัยโบราณที่แปลเป็นความหมายได้ ว่า “วิถีแห่งนักรบ” (The Way of The Warrior) หรือ บูชิโด นั่นเอง


       บูชิโด มาจากคำว่า “บูชิ” ที่แปลว่านักรบ และ “โด” ที่แปลว่าวิถีทาง เป็นหลักปฏิบัติของนักรบเมื่อสมัยที่ญี่ปุ่นอยู่ในยุคศักดินามีไดเมียว หรือ
โกเคะนิน (Gokenin) เป็นเจ้าแคว้น และมีนักรบผู้ยึดถือหลักปฏิบัตินี้คอยรับใช้ เรียกกันว่า ซาบุราฮิ (Saburahi) ที่แปลว่า “เพื่อรับใช้” ก่อนจะกลายเป็นคำเรียกที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม “ซามูไร” (Samurai) และด้วยวิถีบูชิโดนี้เองทำให้เหล่านักรบของไดเมียวเล่านี้ได้รับความนับถือ เป็นอย่างมาก หลักการปฏิบัตินี้มิได้ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบอกกล่าวกันอย่างเป็นทางการ เช่น การสอนสั่งในโรงเรียน แต่เป็นการปลูกฝังลงในจิตสำนึกผ่านการดำเนินชีวิต จากรุ่นสู่รุ่น ยาวนานนับพันปี ทำให้บูชิโดเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นไปโดยปริยาย

 


       บูชิโด เป็นหลักปฏิบัติสำคัญมาตั้งแต่สมัยเฮอันจนถึงยุคของโตกุกาว่า (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9 – 12) เกิดจากหลักการสำคัญของลัทธิขงจื้อ ผนวกเข้ากับศาสนาพุทธที่ทำให้ซามูไรต้องเก็บอารมณ์ดุดัน และความเหี้ยมหาญไว้ภายใต้ใบหน้าเรียบเฉย ด้วยความสุขุมเยือกเย็น และความมีสติมั่น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์รัก โกรธ หรือเจ็บปวด ทำให้ในสายตาของชนชาติอื่นเห็นซามูไรคือนักรบที่เข้มแข็ง ไม่รู้จักความกลัว และความเจ็บปวดใดๆ

 

       จากพจนานุกรมญี่ปุ่น โชกาคุคัน โคะคุโกะ ไดจิเต็ง (Shogakukan Kokugo Daijiten) “บูชิโดคือหลักจิตวิทยาที่แพร่หลายในชนชั้นนักรบตั้งแต่สมัยมุโรมาจิ (ชูเซย์)” และในหนังสือ บูชิโด : จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (Bushido : The Soul of Japan) ของ ดร.นิโตเบ อินาโซะ ให้ความหมายว่า “บูชิโด คือหลักปฏิบัติสำคัญซึ่งซามูไรยึดถือ และสอนสั่งสืบต่อกันมา บ่อยครั้งที่ไม่มีการบันทึกเป็นเรื่องราว แต่มันปลูกฝังต่อกันมานานเป็นสิบเป็นร้อยปีในชนชั้นนักรบ” หลักของบูชิโดนั้นจะสอนให้ยึดมั่นต่อความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ และจงรักภักดีต่อเจ้าผู้ครองเมือง มีความสมถะ อ่อนน้อม รักศักดิ์ศรี และไม่หวั่นเกรงต่อความตาย ซึ่งผู้ยึดถือลัทธิบูชิโดถือว่า ความตายเป็นสิ่งที่เบางบางกว่าขนนก และความตายจะนำมาซึ่งเกียรติแห่งนักรบ สามารถล้างความอัปยศของซามูไรผู้นั้น นำมาซึ่งพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ “ฮาราคีรี” หรือการคว้านท้อง มีเฉพาะซามูไรเท่านั้นที่สามารถประกอบพิธีนี้ได้ (ในสมัยก่อนเรียกว่า เซ็บปุกุ) อีกทั้งซามูไรยังยึดถือว่า ความมั่งคั่งและอำนาจเป็นศัตรูตัวฉกาจของนักรบ ดังคำบัญญัติในบทหนึ่งของบูชิโดที่ว่า “ไซตาคุวา เตกิ ดา” ทำให้ซามูไรได้รับความนับถือมากกว่าขุนนางในสมัยนั้น แต่ก็ไม่คิดแย่งชิงอำนาจมาเป็นของตน เรียกได้ว่ายึดมั่นในหลักความพอเพียงอย่างแท้จริง

คุณสมบัติทั้ง 7 ของลัทธิบูชิโด
1. ความยุติธรรม
2. ความกล้าหาญ
3. ความเมตตากรุณา
4. ความนับถือซึ่งกันและกัน
5. ความซื่อตรง
6. ความมีเกียรติ
7. ความจงรักภักดี

 

นอกเหนือจาก 7 ข้อนี้แล้ว บางครั้งยังมีเพิ่มเติมอีก 3 ข้อ ได้แก่
1. ความศรัทธาอย่างแรงกล้าในครอบครัว และเผ่าพันธุ์
2. ความมีสติปัญญาเฉียบแหลม
3. ดูแลสุขภาพของตนเอง

แม้ ว่ายุคของซามูไรจะเสื่อมถอยลงตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2420 แต่ความเป็นบูชิโดในสายเลือดของชาวญี่ปุ่นไม่ได้เสื่อมถอยตามไปด้วย ปฏิบัติการกามิกาเซ่ที่ลือลั่นคือหลักฐานความเป็นนักรบของชาวอาทิตย์อุทัย ที่ยอมสละชีพเพื่อแผ่นดิน และองค์จักรพรรดิ และถึงแม้ระเบิดปรมาณู 2 ลูกจะถูกทิ้งลงบนเกาะญี่ปุ่น แต่เหล่าทหารพร้อมกับประชาชนอีก 80 ล้านชีวิตต่างปฏิญาณตนยอมสู้ศึกจนตัวตายเป็นชาติพลี ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของตน และหากสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นในเวลานั้นไม่ลงนามยอมแพ้ต่อฝ่ายพันธมิตร เราอาจจะมิได้เห็นญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีอย่างทุกวันนี้

       หลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผลให้ญี่ปุ่นหมดสภาพจากการเป็นจักรภพ สูญเสียดินแดนที่เคยครอบครองจากการรบพุ่งอย่างห้าวหาญ เหลือเพียงเกาะญี่ปุ่น 4 เกาะที่เป็นประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่โบราณ และต้องปิดประเทศไประยะหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่ฟื้นคืนจากเถ้าธุลีแห่งสงคราม เพียงแต่การกลับมามีชีวิตของญี่ปุ่นในครั้งนี้มิได้เน้นเรื่องการทหาร และแสนยานุภาพอันเกรียงไกร แต่ลัทธิ และสายเลือดบูชิโด นั้นเปลี่ยนไปเพื่อการพัฒนาศักยภาพต่างๆ เช่น การค้นคว้า และสร้างสรรค์ผลผลิตใหม่ๆ ด้วยตนเอง โดยไม่ทำเลียนแบบสินค้าจากต่างประเทศในราคาถูกออกมาขายดังเช่นสมัยก่อน มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเทคนิคใหม่ๆ จนทำให้สินค้าของญี่ปุ่นได้รับการยอมรับว่าทัดเทียมกับสินค้าทางฝั่งยุโรป หรือบางชิ้นมีคุณภาพเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด และมีราคาที่ถูกกว่าฝั่งตะวันตกที่คนฐานะไม่ดีก็สามารถซื้อสินค้าที่ผลิตจาก ญี่ปุ่นได้ แสดงให้เห็นว่าความเชื่อในเรื่องความศรัทธาอันแรงกล้าในเผ่าพันธุ์ที่มีอยู่ รวมกับความคิดสร้างสรรค์จากสติปัญญา สามารถก่อร่างสร้างชาติที่ตกต่ำถึงขีดสุดให้กลายเป็นผู้นำได้ในเวลาอันสั้น

       ถึงแม้ปัจจุบันญี่ปุ่นจะเปลี่ยนไปมาก แต่ลัทธิบูชิโดนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นประเพณี และธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์ของคนญี่ปุ่น เช่น การตรงต่อเวลา การรักษาความเป็นชาติญี่ปุ่น ไม่ทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิม มีความนับถือซึ่งกันและกัน ให้เกียรติตนเองและผู้อื่น ดูแลรักษาร่างกาย เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ และเมื่อคิดจะทำอะไรแล้วต้องลงมือทำอย่างจริงจัง ทุ่มเทให้กับหน้าที่ หรือสิ่งที่รับผิดชอบเพื่อความสมบูรณ์แห่งผลในการกระทำ ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงหลับอีกครั้ง นั่นอาจเรียกได้ว่า “ความมีวินัย” และหากจะพูดว่าทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่สร้างชาติญี่ปุ่นให้รุ่งเรืองจากกองขี้เถ้า ดังพระอาทิตย์ที่ตกแล้วกลับขึ้นมาอีกครั้ง คงเป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงเลยแม้แต่น้อย

 

ขอบคุณ คุณMamuchan ที่นำเรื่องราวนี้ทิ้งไว้ให้ได้อ่านการ

 

*อ้างอิงข้อมูลจาก

 

Wikipedia, free encyclopedia. Bushid?. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://en.wikipedia.org/wiki/Bushido (วันที่ค้นข้อมูล : 18 กุมภาพันธ์ 2552).

 Inazo Nitobe. (1905). Bushid?--The Soul of Japan. [complete text online]. เข้าถึงได้จาก : http://www.gutenberg.org/etext/12096. (วันที่ค้นข้อมูล : 18 - 21 กุมภาพันธ์ 2552).

 Algernon Bertram Freeman-Mitford. (1910). Tales of Old Japan. [complete text online]. เข้าถึงได้จาก : http://www.munseys.com/disktwo/tajadex.htm (วันที่ค้นข้อมูล : 18 - 19 กุมภาพันธ์ 2552).

 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี. ลัทธิบูชิโด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.skn.ac.th/skl/project/samurai48/sm1.htm. (วันที่ค้นข้อมูล : 18 – 21 กุมภาพันธ์ 2552).

 อัยการเคนจิ. บูชิโด: วิถีแห่งนักรบ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.ubon-ju.ago.go.th/articles/bushido.htm (วันที่ค้นข้อมูล : 18 - 21 กุมภาพันธ์ 2552).

 sss513002. (2008). “6.บูชิโด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.thaigoodview.com/node/8117. (วันที่ค้นข้อมูล : 18 กุมภาพันธ์ 2552).

 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช.  ฉากญี่ปุ่น.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ. : นามีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548.

 Andressen, Curtis A. (2002). A short history of Japan: from samurai to sony. 1 st ed. Chiang mai : Silkworm Books.

 อำนาจ เจริญศลป์. ท่องญี่ปุ่น... ดินแดนมหาเศรษฐี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ. : โรงพิมพ์รุ่งแสงม 2545.

 กักเคน. ญี่ปุ่น 360 องศา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ. : สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม, 2549.

 ภิรมย์ พุทธรัตน์ (แปลและรวบรวม). ซามูไร นักรบชนชั้นของญี่ปุ่น (ต้นฉบับจาก Samurai-The Warrior Class of Japan, The Way of The Samurai). กรุงเทพฯ. : อมรการพิมพ์, 2530.

Credit: Mamuchan จาก tkpark.or.th
17 ก.พ. 53 เวลา 18:19 11,581 10 128
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...