รายงานฉบับล่าสุดระบุว่า ในแต่ละปีมีการฆ่าฉลามเพื่อการพาณิชย์กว่า 100 ล้านตัว
นักวิจัยเปิดเผยว่า ตัวเลขการแสวงหาผลกำไรจากการล่าฉลามดังกล่าวถือว่าสูงมาก เมื่อพิจารณาถึงลักษณะการสืบพันธุ์ของฉลามหลายชนิด
โดยปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนให้การค้าฉลามดำเนินต่อไปก็คือ ความต้องการหูฉลามในการนำไปประกอบอาหารของชาวจีนทั่วโลก
ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสารเจอร์นัล มารีน โพลิซี นักวิจัยยอมรับว่า การระบุถึงจำนวนที่แน่นอนของฉลามที่ถูกล่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากความมีคุณภาพของข้อมูลอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากฉลามจำนวนมากถูกตัดครีบ ก่อนที่จะถูกทิ้งร่างไปในทะเล ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่ได้ระบุในรายงานใดๆ
โดยเมื่อปี 2010 นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า อัตราการตายของฉลามอยู่ระหว่าง 63-273 ล้านตัว และอัตราการล่าแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ระหว่างปี 2000-2010 แต่ผู้ทำการวิจัยแย้งว่า การล่าฉลามเพื่อการพาณิชย์มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่และชนิดของฉลามอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ในที่สุด
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยที่สร้างความกังวล นั่นก็คือฉลามหลายสายพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคาม เป็นชนิดที่สืบพันธุ์ค่อนข้างยาก บางชนิดอาจนานถึง 10 ปี ซึ่งเร็วไม่พอต่อการล่าเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่นำไปเป็นเมนูอาหารราคาแพง
โดยในการประชุมสมัยสามัญภาคอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ครั้งที่ 16 (The 16th Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Flora and Fauna หรือ"ไซเตส" ที่กรุงเทพฯในวันนี้ (3 มี.ค.) ได้มีการยื่นข้อเสนอเพื่อออกกฎควบคุมการล่าฉลาม 5 ชนิด ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดด้วย
โดยในการประชุมครั้งก่อนเมื่อปี 2010 ข้อเสนอดังกล่าวตกไป เนื่องจากได้รับคะแนนเสียงข้างมากไม่ถึง 2 ใน 3 แต่ในครั้งนี้ กลุ่มนักเรียกร้องเปิดเผยว่า ได้รับเสียงสนับสนุนในวงกว้างจากทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา