มหากาพย์คดี”อัลรูไวลี่” 20ปีสัมพันธ์”ไทย-ซาอุฯ”

 

 

 

 

มหากาพย์คดี”อัลรูไวลี่” 20ปีสัมพันธ์”ไทย-ซาอุฯ”

 

 

 

กลายเป็นมหากาพย์ซับซ้อนซ่อนเงื่อนยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ สำหรับการหายตัวของนายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย

นายอัลรูไวลี่หายสาบสูญไปตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2533 โดยสถานทูตซาอุดีอาระเบียเข้าแจ้งความไว้ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับคดียิงกงสุลซาอุดีอาระเบีย และสังหารเจ้าหน้าที่สถานทูตอีก 2 คน

ห้วงเวลานั้นเกิดเหตุการณ์มากมายตั้งแต่เหตุลักเพชรซาอุเมื่อปี 2532 และอีกหลายเหตุการณ์ทำให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศไทย

หลังนายอัลรูไวลี่หายตัวไปไม่นาน ตำรวจสามารถเชื่อมโยงถึงผู้ต้องหาบางส่วน แต่ติดขัดที่พยานหลักฐานไม่มากพอสุดท้ายคดียุติลง พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง

ทว่า คดีถูกรื้ออีกครั้ง วันที่ 2 กันยายน 2552 นายวิรัช สุวัธนะเชาว์ อัยการผู้เชี่ยวชาญฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย 2 สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายอัลรูไวลี่ เป็นบุคคลสาบสูญ

และขณะคดีใกล้จะหมดอายุความ 20 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบพยานหลักฐานใหม่จนมีการแจ้งข้อกล่าวหากับ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (ผบช.ภ.5) ในขณะนั้น พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง ตำรวจนอกราชการ ผู้ต้องหาที่ 1-5 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและเพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตน และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นความผิดทางอาญา ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย

จากนั้นพนักงานสอบสวนดีเอสไอสรุปสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุด กระทั่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553 ก่อนคดีจะหมดอายุความเพียง 1 เดือน

มหากาพย์คดี"อัลรูไวลี่" 20ปีสัมพันธ์"ไทย-ซาอุฯ"

คำฟ้องสรุปว่าปี 2530 เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุหนี่ กับรัฐบาลประเทศอิหร่าน ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์ รวมทั้งสาเหตุที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ปราบปรามสลายการชุมนุมของกลุ่มประท้วงกลุ่มมุสลิม นิกายชีอะห์ ที่มาแสวงบุญที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่านเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่นักการทูตของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียในประเทศต่างๆ

“กระทั่งวันที่ 4 มกราคม 2532 เกิดเหตุลอบฆ่านักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย 1 คน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย แจ้งขอร้องต่อรัฐบาลไทยให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่สถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งเจ้าหน้าที่นักการทูตอย่างเต็มที่ และแจ้งเตือนถึงกรมตำรวจในขณะนั้น และกระทรวงการต่างประเทศของไทยในเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตซาอุดีอาระเบีย อีก 2 คน รัฐบาลไทยขณะนั้นสั่งการให้ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อธิบดีกรมตำรวจ ติดตามและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้

“และระหว่างวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยทั้ง 5 คน ซึ่งเป็นตำรวจกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ (กก.สส.น.ใต้) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โดยจำเลยที่ 1 มียศเป็น พ.ต.ท. ตำแหน่ง รอง ผกก. จำเลยที่ 2 และ 3 มียศ ร.ต.อ. ตำแหน่ง รอง สว. จำเลยที่ 4 ยศ ร.ต.ท. ตำแหน่ง รอง สว. และจำเลยที่ 5 ยศ จ.ส.ต. ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ซึ่งได้รับมอบหมายให้สืบสวนจับกุมคนร้ายฆ่านักการทูตซาอุดีอาระเบีย จำเลยทั้ง 5 นายกับพวกบังอาจร่วมกันลักพาตัวนายอัลรูไวลี่ นักธุรกิจจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากจำเลยทั้ง 5 เข้าใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูตฯเพราะมีความขัดแย้งเรื่องจัดส่งแรงงานไทย โดยบังคับไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังที่โรงแรมฉิมพลี แขวงคลองตัน เขตพระโขนง บังคับข่มขืนใจใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อย และทำร้ายร่างกายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงเพื่อให้ยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่านักการทูตฯ มีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพ ไปเผาทำลายในไร่ท้องที่ ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อปิดบังการตาย ชั้นสอบสวนจำเลยทั้ง 5 นาย ให้การปฏิเสธ” คำฟ้องระบุโดยจำเลยทั้ง 5 ให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดีในชั้นศาล ก่อนยื่นประกันตัวไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคดีการหายตัวของนายอัลรูไวลี่จะมีการรื้อขึ้นมาอีกครั้ง แต่ต่อมาเมื่อมีการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่ง พล.ต.ท.สมคิด เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ทางสถานทูตซาอุดีอาระเบียออกแถลงการณ์แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้ง

กระทั่ง พล.ต.ท.สมคิดประกาศไม่รับตำแหน่ง และต่อมาคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติให้ดำรงตำแหน่งจเรตำรวจและขณะสืบพยานโจทก์ ศาลอนุญาตให้ส่งประเด็นไปสืบพยานปาก พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออี

ต่อมา พล.ต.ท.สมคิดร้องคัดค้านต่อพนักงานอัยการและขอให้ส่งตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย เป็นผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีในฐานะจำเลยคดีพยายามฆ่าของศาลจังหวัดมีนบุรี รวมทั้งขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่กรณีใช้กฎหมายคุ้มครองพยานของเจ้าหน้าที่ โดยอ้างถึงการเปลี่ยนชื่อสกุลของพยานด้วย

กระทั่ง ดีเอสไอยื่นคำร้องขอถอนประกัน พล.ต.ท.สมคิดกับพวกต่อศาลอาญา และศาลนัดไต่สวนในวันที่ 25 มีนาคมนี้

Credit: http://news.tlcthai.com/news-interest/108038.html
28 ก.พ. 56 เวลา 16:15 3,070 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...