นิโคลา เทสลา อัจฉริยะที่โลกลืม

 

ประวัติศาสตร์น่าจะจารึกชื่อ นิโคลา เทสลา (Nicola Tesla) ในฐานะ
ชายผู้คิดค้นศตวรรษที่ 20 แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ทฤษฏีวิทยาศาสตร์ของเขาถูกหัวเราะเยาะ และเขาตายอย่างเดียวดายในห้องน้ำของโรงแรมแห่งหนึ่ง โรเบิร์ต โลมัส (Robert Lomas) เล่าเรื่องของศาสดาแห่งวิทยาศาสตร์ไฟฟ้าผู้ถูกลืมให้เราฟัง

ประกายอัจฉริยะ
โดย โรเบิร์ต โลมัส

" การขยายตัวของอารยธรรมอาจเปรียบได้กับไฟ มันเริ่มจากประกายอันอ่อนแอ ค่อยๆ เติบโตเป็นเปลวเพลิงวับแวม ซึ่งกระพือขึ้นเป็นพระเพลิงลุกโพลง เพิ่มความเร็วและพลังทำลายล้างอย่างไม่สิ้นสุด "
                                                                                            นิโคลา เทสลา

ย้อนกลับไปสมัยทศวรรษที่ 1960 วิศวกรไฟฟ้าหนุ่มทั้งหลายมีนิสัยชอบซุกมือข้างหนึ่งไว้ในกระเป๋าเวลาเดินไปมา นั่นไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นคนสกปรก หรือต้องการจะแสดงท่าทีต่อต้านกระแสสังคม หากเป็นเพราะคำเตือนที่พวกเขาถูกกรอกหูในวันเข้าห้องแล็บครั้งแรกๆ ว่า "กระแสไฟฟ้าที่ช็อตบริเวณหน้าอกของพวกคุณนั้นจะทำให้ถึงตาย กระแสไฟฟ้าเดียวกันที่ช็อตลำตัวพวกคุณเพียงซีกเดียวจะทำให้รู้สึกเสียววูบเท่านั้น" คำแนะนำนี้ทำให้วิศวกรไฟฟ้าทุกคนที่ต้องการมีชีวิตรอด ซุกมือข้างหนึ่งในกระเป๋าเสื้อโดยอัตโนมัติทุกครั้งที่พวกเขาเดินผ่านกระแสไฟฟ้าอิสระ

สมุดบันทึกของนิโคลา เทสลา สมัยที่เขาพำนักในเมืองโคโลราโด สปริงส์ (Colorado Springs) สะท้อนให้เห็นว่าเขาเป็นวิศวกรคนแรกที่ให้คำแนะนำข้อนี้ ซึ่งนั่นแปลว่าวิศวกรไฟฟ้าหลายคนเป็นหนี้ชีวิตเขา นอกจากคำแนะนำนี้ เทสลายังเป็นผู้คิดค้นเครื่องวัดความเร็วติดรถยนต์ (speedometer) เครื่องวัดอัตราการหมุนของเครื่องจักร (mechanical rev counter) การกระจายเสียงผ่านวิทยุ กระแสไฟฟ้าสลับ (alternating current หรือย่อว่า AC) และเครื่องยนต์เทอร์ไบน์แบบไร้ใบมีด (bladeless turbines)

เป็นไปได้อย่างไร ที่ชายผู้เปี่ยมพรสวรรค์อันหลากหลาย ผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่ทำให้อารยธรรมสมัยใหม่ของเราเป็นความจริงขึ้นมาได้ จะถูกโลกลืม? ชื่อของนักประดิษฐ์รุ่นเดียวกันกับเขา ไม่ว่าจะเป็นเอดิสัน มาร์โคนี เวสท์ติงเฮาส์ และแม้กระทั่ง เจ.พี. มอร์แกน กลายเป็นตำนานสืบต่อมา แต่เทสลากลับไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างต่อสาธารณชนที่ยังใช้ประโยชน์จากงานของเขา

แวดวงวิทยาศาสตร์ให้การสดุดีเทสลา และชื่อของเขาก็ถูกยกให้เป็นหน่วยวัดสนามแม่เหล็ก ในแง่หนึ่งการสดุดีแบบนี้เหมาะสมกับเทสลา เพราะเขาถูกจัดให้อยู่ในทำเนียบเดียวกันกับนักวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดังอย่างโวลตา แอมแปร์ กิลเบิร์ต เฮนรี เฮิร์ตซ์ โอห์ม และ ฟาราเดย์ ซึ่งชื่อของพวกเขาล้วนกลายเป็นหน่วยวัดค่าทางแม่เหล็กไฟฟ้าต่างๆ แต่แม้ว่าเขาจะได้รับการยกย่องจากผู้รู้ในแวดวงที่เกี่ยวข้อง ผมก็อดคิดไม่ได้ว่า เทสลาคงจะอยากได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไปเหมือนกัน

เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณภาพของชีวิตสมัยใหม่ของเราทุกคนนั้น ขึ้นอยู่กับการจ่ายกระแสไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งคุณงามความดีของความสำเร็จข้อนี้ต้องยกให้เทสลา จริงอยู่ วิศวกรบางคนรู้จักเขา และถูกสอนชื่อเขาในฐานะหน่วยวัดค่าความแปรปรวนของแม่เหล็ก แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ประวัติของชายผู้คิดค้นศตวรรษที่ยี่สิบ และคนส่วนใหญ่ก็จำไม่ได้แล้วว่าเราเป็นหนี้บุญคุณอะไรกับเขา

ผมเป็นแค่เด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่ลุ่มหลงในไฟฟ้าและอยากได้ชุดวิทยุไร้สาย เมื่อผมได้ยินชื่อของนิโคลา เทสลาเป็นครั้งแรก ผมไม่ได้อยากได้แค่วิทยุธรรมดาๆ เท่านั้น แต่ผมอยากได้เครื่องรับวิทยุรุ่น AR88 ที่ใช้ในกองทัพเรือ ผมหมดเวลาช่วงบ่ายวันเสาร์ไปกับการควานหาวิทยุรุ่นนี้ในร้านขายวิทยุมือสองในเมืองแมนเชสเตอร์ หลายสัปดาห์ติดต่อกัน

เพื่อนพ้องของผมบางคนมีวิทยุส่วนตัว และบางครั้งพ่อแม่ผมก็อนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุโทรเลขในห้องนั่งเล่น แต่นั่นมันย่อมเทียบไม่ได้กับการมีวิทยุเป็นของตัวเอง เวลาผมหมุนเครื่องวิทยุโทรเลขลงไปที่คลื่นต่ำๆ เลยจากสถานี Radio Luxembourg ไปอีก ผมจะได้ยินผู้คนที่เป็นเจ้าของเครื่องวิทยุไร้สาย คุยกันเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับคลื่นระยะสั้นของวิทยุพวกเขา และโม้ว่าคุยกับโอเปอเรเตอร์ไกลๆ ที่ไหนได้บ้าง ผมกระหายที่จะรู้เรื่องวิทยุมากขึ้น และความอยากรู้อยากเห็นนี่เองที่ผลักดันให้ผมเสาะแสวงหาวิทยุมาเป็นของตัวเอง

ผมเดินเข้าออกร้านขายของเก่าร้านแล้วร้านเล่า มือกุมกระเป๋าที่ใส่เงินค่าขนมของผมทั้งหมด คุ้ยกองของเก่าไม่รู้กี่กองต่อกี่กอง และหมดเวลาหลายชั่วโมงไปกับการทำตาละห้อยดูวิทยุรุ่นใหม่ๆ ที่ผมไม่มีกำลังซื้อ เย็นวันเสาร์วันหนึ่ง ซึ่งเป็นอีกวันที่ผมไม่ประสบความสำเร็จ สายตาผมเหลือบไปเห็นของชิ้นหนึ่งบนหิ้งที่ดูไม่เข้าพวก – กล่องไม้ปิดฝาโลหะที่ยั่วยวนให้ผมเปิดดูของข้างใน และนั่นเป็นวันที่ผมต้องเสียเงินค่าขนมที่อุตส่าห์สะสมมาทั้งหมด ไปกับ... 
"เครื่องบำบัดด้วยไฟฟ้าเทสลา" (Tesla Therapeutic Electrotherapy Machine)

เมื่อผมค่อยๆ ยกฝากล่องนั้นขึ้น ฝุ่นอันหนาเตอะฟุ้งขึ้นระคายจมูก ทำให้ผมต้องจามออกมาดังๆ ข้างในกล่อง เครื่องบำบัดนอนสงบนิ่งอยู่บนผ้าบุกำมะหยี่ ดูเหมือนอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มันประกอบด้วยขดลวดเคลือบสะท้อนแสง กระบอกทองแดงสองกันเชื่อมกับหัวลวดงอได้ สวิตช์ทองเหลือง และช่องว่างสำหรับใส่แบตเตอรี่อันใหญ่ ตัวหนังสือบนป้ายที่ติดข้างใต้ฝากล่องพรรณนาถึงประโยชน์ของกระแสไฟฟ้าแรงสูงที่เจ้าเครื่องมือประหลาดนี้เคยผลิตได้:

"กระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยเครื่องมือนี้ เป็นยำบำรุงชั้นเลิศสำหรับระบบประสาทของมนุษย์ ไฟฟ้าช่วยกระตุ้นการเดินของหัวใจและระบบย่อยอาหาร ทำให้นอนหลับอย่างผ่อนคลาย กำจัดสิ่งแปลกปลอมทีปูดขึ้นบนผิวหนัง และรักษาโรคหวัดและอาการไข้ด้วยความร้อนที่เกิดขึ้น กระแสไฟฟ้านี้ยังทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เป็นอัมพาตกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง บรรเทาอาการทรมานต่างๆ และช่วยชีวิตมนุษย์ได้ปีละหลายพันคน"

ผมตัดสินใจว่า จะชะลอการซื้อวิทยุไร้สายออกไปก่อน ก็ผมมีเครื่องผลิตไฟฟ้าแสนวิเศษอยู่ในมือแล้วนี่นา! ขณะที่ผมนั่งรถรางไฟฟ้ากลับบ้านมากับมัน ผมฝันถึงการทดลองต่างๆ ที่ผมจะทำ เครื่องช็อตไฟฟ้าเครื่องนี้ทำให้ผมมีความสุขมาก เมื่อผมสั่งซื้อแบตเตอรี่ตะเกียงขนาด 6 โวลต์มาจากร้านวิทยุแถวบ้าน เอามาใส่ในเครื่อง ขดลวดก็เริ่มเปล่งประกายแปลบๆ อย่างน่าพอใจ และทำให้ผมรู้สึกเสียววาบไปทั่วตัวเมื่อถือกระบอก ด้วยมือทั้งสองข้าง

เนื่องจากผมรู้สึกกระตือรือร้นกับประโยชน์ของกระแสไฟฟ้าบำบัดเทสลา ผมเลยไปเกลี้ยกล่อมเพื่อนๆ บางคนให้ยืนจับมือกันเป็นวงกลม แล้วก็เอามือของคนสุดท้ายสองคนในวงไปแตะขั้วไฟฟ้าทองแดงเพื่อปิดวง ความรู้สึกจั๊กจี้แผ่ขยายจากมือหนึ่งไปสู่อีกมือหนึ่งรอบๆ วง ทำให้หลายคนอุทานด้วยความแปลกใจที่มือกระตุกเวลากระแสไฟฟ้าแล่นผ่าน

ความสำเร็จสมัยเด็กครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจในการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดตราบชั่วชีวิตของผม ไฟฟ้าเป็นสิ่งค่อนข้างใหม่ และกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมเมื่อไม่นานมานี้เอง คนรุ่นผมน่าจะเป็นรุ่นแรกที่เห็นว่ามันเป็นสิ่งธรรมดาสามัญ ยกตัวอย่างเช่น ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไอร์แลนด์ มีหุบเขาเล็กๆ ที่คนเรียกต่อๆ กันมาว่า หุบเขาดำมืด (Black Valley) เพราะมันเป็นที่เดียวในประเทศที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพียง 100 ปีที่แล้ว คนจะมองว่าการทำให้บ้านเราสว่างไสวเพียงกดปุ่มเดียวอย่างง่ายดายนั้น เปรียบเสมือนเวทมนตร์อันลึกลับ และหากปราศจากไฟฟ้า โลกนี้จะยังคงมืดมิดและเต็มไปด้วยความยากลำบากกว่าปัจจุบันหลายเท่า

ถ้าถามใครก็ตามที่มีความรู้รอบตัวดี ว่าใครเป็นผู้คิดค้นไฟฟ้า เขาคงตอบว่า " ไมเคิล ฟาราเดย์ " (Michael Faraday) ไปเยือนโรงไฟฟ้าที่ไหนก็ได้สักแห่ง เล่นเกมตอบคำถามในห้องโถง แล้วคุณจะเชื่อว่านั่นเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่จริงๆ แล้ว ฟาราเดย์ไม่ได้เป็นผู้คิดค้นโลกใหม่ที่ใช้ไฟฟ้าเช่นในปัจจุบัน เขาเพียงแต่ทำการทดลองที่พิสูจน์ให้เห็นชัดว่า กระแสไฟฟ้าและกระแสแม่เหล็กเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอ และเขียนหนังสือที่สำคัญมากชื่อ การวิจัยด้านไฟฟ้า (Researches in Electricity) ชายผู้มอบไฟฟ้าให้กับโลกคือ นิโคลา เทสลา ผู้ประดิษฐ์เครื่องบำบัดด้วยไฟฟ้าที่ผมในวัยเด็กมองว่าน่ามหัศจรรย์อย่างยิ่ง

แล้วเทสลามาตายอย่างโดดเดี่ยวและยากจนในโรงแรมเล็กๆ ได้อย่างไร? ทำไมจึงไม่มีใครพบศพของเขาจนกระทั่งสองวันให้หลัง ทำให้วันตายของเขาไม่แน่นอนพอๆ กับวันเกิดของเขา? เหตุใดคนที่ได้รับประโยชน์มากมายจากความช่างประดิษฐ์ของเขา จึงไม่เคยรู้จักชื่อของเขาเลย?

นิสัยของเทสลาเองเป็นต้นเหตุส่วนหนึ่งของความไร้ชื่อเสียงของเขา เทสลาไม่เหมือนกับเอดิสัน เวสต์ติงเฮ้าส์ มาร์โคนี หรือมอร์แกน ตรงที่เขาไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทที่ช่วยอนุรักษ์ชื่อเสียง และเชิดชูผลงานต่อสาธารณชนตลอดมา หากคนทั่วไปจะจำเทสลาได้ พวกเขาก็จำได้แต่ฐานะคนประหลาดที่เขียนคอลัมน์ส่งหนังสือพิมพ์ ลองดูชื่อตอนที่เทสลาเขียนลงหนังสือพิมพ์ในบั้นปลายชีวิต:

"คลื่นยักษ์ของเทสลาในการทำสงคราม - เป็นไปไม่ได้. การนอนหลับด้วยไฟฟ้า. วิธีการส่งสัญญาณไปดาวอังคาร. เทสลาพูดเรื่องอนาคต. นิโคลา เทสลา วางแผนใช้ 'หัวแม่มือไร้สาย' ในเรือเดินทะเล – สิ่งประดิษฐ์แห่งอนาคต. ภาพลวงตาทางวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง. นิโคลา เทสลา ประกาศว่าเราจะบินได้สูง 8 ไมล์ด้วยความเร็ว 1,000 ไมล์ต่อชั่วโมง. การสื่อสารระหว่างดวงดาว. เทสลาอ้างว่าหมากฝรั่งอันตรายกว่าเหล้ารัม. การสลายพายุทอร์นาโด. นิโคลา เทสลา อธิบายวิธีป้องกันเอธิโอเปียจากการรุกรานของอิตาลี. ดร. เทสลาพยากรณ์ว่าเราจะส่งข้อความไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ."

ในช่วงบั้นปลายชีวิต 26 ปีสุดท้ายของเทสลา ระหว่างปีที่เขาได้รับรางวัลเหรียญเอดิสัน และปีที่เขาตาย ภาพพจน์ของเทสลาในสายตาคนทั่วไปเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คนเลิกมองเขาว่าเป็นวิศวกรผู้เก่งกาจ หันมามองว่าเขาเป็น "คนแก่สติเฟื่อง" ที่พยากรณ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า ปาฏิหาริย์ส่วนใหญ่ที่เทสลาพยากรณ์เกิดขึ้นจริงๆ นั้น ดูเหมือนจะไม่เคยช่วยให้ชื่อเสียงของเขาดีขึ้นเลย เทสลาไม่เคยเข้าใจหลักมนุษยสัมพันธ์ ไม่ว่าจะในการพูดคุยกับคนสองต่อสอง หรือการวางตัวท่ามกลางฝูงชน คำประกาศที่ฟังดูเหนือจริงที่สุดของเทสลา ล้วนตั้งอยู่บนการใช้เหตุผลทางทฤษฏี บางครั้งเทสลาอธิบายความคิดของเขา แต่บางครั้งก็สวมบท "อัจฉริยะผู้แก่กล้า" และหวังให้คนอ่านต้องยอมรับทุกอย่างที่เขาพูดโดยปริยาย เทสลาชอบเปลี่ยนเรื่องไปพูดถึงไอเดียใหม่ๆ ก่อนที่จะอธิบายไอเดียเก่าให้จบก่อน และนี่ทำให้เขาได้รับสมญานามว่า "สมองผีเสื้อ" แต่บางครั้ง โลกก็จำเทสลาได้และยกย่องเขา

ยกตัวอย่างเช่น ในวันเกิดครบรอบ 75 ปี เทสลาขึ้นปกนิตยสาร TIME ในขณะที่เขาพำนักฟรีอยู่ในโรงแรมชื่อ Grosvoner Clinton ด้วยความเอื้อเฟื้อของผู้จัดการ หลังจากที่ถูกเชิญออกจากโรงแรมหลายแห่งก่อนหน้านี้เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าห้อง หลังจากเหตุการณ์นี้ เขาต้องอพยพออกจากโรงแรม Grosvoner Clinton และยอมทิ้งสัมภาระไว้แทนค่าห้อง วิกฤตทางเศรษฐกิจ (Great Depression) ในอเมริกาช่วงนั้นซ้ำเติมให้เทสลามีปัญหาการเงินมากกว่าเดิม เขาพบ 'บ้าน' ที่จะอาศัยอยู่ไปชั่วชีวิตก็ต่อเมื่อรัฐบาลยูโกสลาเวีย ประเทศบ้านเกิดเมืองนอน รู้สึกสงสารพลเมืองที่โด่งดังที่สุดของประเทศ เลยอนุมัติเงินบำนาญให้เทสลาจำนวน 7,200 เหรียญสหรัฐต่อปี แต่ถึงกระนั้นเทสลาก็ยังต้องย้ายโรงแรมบ่อยครั้ง เพราะเขาชอบให้อาหารนกบนโต๊ะ ทำให้มีนกพิราบบินเข้ามาในห้องอยู่เสมอ

เทสลาชอบอ้างว่า เขาสาบานตอนเป็นเด็กว่าจะทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับงาน และจะไม่มีวันเสียเวลากับการแต่งงาน แต่เมื่อเขาแก่ตัวลง ปากจัดมากขึ้นและมีคนนับถือน้อยลง เทสลาคงรู้สึกเสียดายที่ไม่มีคนใกล้ชิดคอยเป็นคนฟัง พี่สาวน้องสาวของเทสลาทุกคนตายก่อนเขา และสมาชิกในครอบครัวเพียงคนเดียวที่เขาติดต่อด้วยในช่วงบั้นปลายชีวิตคือหลานชายชื่อ ซาวา โคซาโนวิช (Sava Kosanovich) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆ ดอนๆ ความว้าเหว่ทำให้เทสลามักตีสนิทกับนักข่าวสายวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้ชาย และโทรไปคุยกับพวกเขาเป็นชั่วโมงๆ ไม่เว้นเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน

เทสลาฉลองวันเกิดที่เขาอ้างว่าไม่มี (เพราะไม่รู้วันที่แน่ชัด) ด้วยการจัดงานเลี้ยงใหญ่โตที่เขาไม่มีปัญญาจ่าย ในร้านอาหารหรูๆ ของกรุงนิวยอร์ค เชิญนักข่าวมางานเลี้ยง ให้พวกเขา 'จ่าย' ค่าอาหารเย็นอย่างสาสมด้วยการบังคับให้ฟังปาฐกถาอันยืดยาวเกี่ยวกับอนาคต เทสลามีสุขภาพแข็งแรงจนกระทั่งเขาถูกรถแท็กซี่นิวยอร์คชนขณะเดินข้ามถนน ตอนเขาอายุ 81 ปี สุขภาพของเขาเริ่มทรุดโทรมลงหลังจากนั้น

หลังจากถูกรถชนไม่นาน สมองของเทสลาก็ยังใสพอที่จะให้เขาวิพากษ์ทฤษฏีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ในคำประกาศที่เขาแจกในงานวันเกิดของเขาในปีนั้น แทนที่จะพูดปาฐกถาเหมือนทุกปีที่ผ่านมา:

"ผมได้คิดค้นทฤษฎีแรงโน้มถ่วงที่มีพลวัต (dynamic theory of gravity) ในรายละเอียดเสร็จสิ้นแล้ว และผมหวังว่าจะมอบทฤษฎีนี้ให้กับโลกในไม่ช้า ทฤษฎีนี้อธิบายสาเหตุต่างๆ ของแรงโน้มถ่วง และการเคลื่อนไหวของดวงดาวต่างๆ ภายใต้อิทธิพลของมัน อย่างน่าพอใจเสียจนทุกคนจะเลิกตั้งสมมุติฐานผิดๆ และเลิกเข้าใจผิด เช่นเรื่องอวกาศที่โค้งได้ เหล่านักทฤษฎีสัมพัทธภาพเชื่อว่า อวกาศมักจะโค้งงอเนื่องจากคุณสมบัติของวัตถุต่างๆ ในอวกาศ

แม้ว่าเราจะเชื่อว่าไอเดียนี้มีทางเป็นไปได้จริง มันก็ยังขัดแย้งในตัวเองอยู่ดี การกระทำทุกชนิด (action) ย่อมก่อให้เกิดแรงสะท้อนกลับ (reaction) ในทางตรงกันข้ามเสมอ ดังนั้นถ้าดวงดาวทำให้อวกาศรอบๆ โค้งงอ ผมก็คิดง่ายๆ ว่าอวกาศที่โค้งงอนั้นก็ต้องมีแรงสะท้อนกลับไปที่ดวงดาวเหล่านั้น ทำให้เส้นโค้งกลับเป็นเส้นตรง เพราะการกระทำและแรงสะท้อนเป็นของคู่กันเสมอ การโค้งงอของอวกาศจึงเป็นไปไม่ได้เลย และถึงมันจะมีอยู่จริง การโค้งงอนั้นก็ไม่สามารถอธิบายการเคลื่อนไหวของวัตถุต่างๆ ที่เราสังเกตได้ มีเพียงสนามพลังเท่านั้นที่อธิบายได้ และสมมุติฐานต่างๆ ในข้อนี้ก็หักล้างแนวคิดเรื่องการโค้งงอทั้งหมด ข้อเขียนทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไร้ประโยชน์ และในที่สุดก็จะถูกลืม"

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เทสลาไม่เคยตีพิมพ์ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงที่มีพลวัติของเขา องค์ความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงในปัจจุบันบอกว่า เมื่อวัตถุหนักเคลื่อนที่ มันจะแผ่คลื่นแรงโน้มถ่วง (gravity wave) ออกมา ซึ่งมีความเร็วเท่ากับความเร็วแสง คลื่นแรงโน้มถ่วงนี้มีคุณสมบัติคล้ายกันกับคลื่นชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด สิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเทสลาล้วนตั้งอยู่บนองค์ความรู้เกี่ยวกับคลื่น เขาเชื่อมั่นว่า เสียง แสง ความร้อน รังสีเอ็กซ์เรย์ และวิทยุ ล้วนเป็นคลื่นที่เกี่ยวข้องกัน และเราสามารถค้นคว้าได้ด้วยสมการคณิตศาสตร์ประเภทเดียวกัน ความเห็นของเทสลาที่ไม่ตรงกันกับไอน์สไตน์ สะท้อนให้เห็นว่าเขาได้ขยายแนวคิดนี้ไปสู่แรงโน้มถ่วงด้วย

ในคริสตทศวรรษ 1980 ความคิดของเทสลาได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง ผลการวิจัยเรื่องการสูญเสียพลังงานในพัลซาร์ดาวคู่นิวตรอน (double neutron star pulsar) ชื่อ PSR 1913+16 พิสูจน์ว่าคลื่นแรงโน้มถ่วงมีอยู่จริง ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจกับไอเดียของเทสลาที่ว่า แรงโน้มถ่วงเป็นสนามพลัง มากกว่าที่ไอน์สไตน์ให้ความสนใจ โชคร้ายที่เทสลาไม่เคยอธิบายว่าอะไรทำให้เขาสรุปแบบนี้ และไม่เคยอธิบายทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของเขาให้โลกรู้ การโจมตีงานของไอน์สไตน์ทำให้แวดวงวิทยาศาสตร์ตอนนั้นโจมตีเทสลาอย่างมหาศาล เราเพิ่งจะเข้าใจแรงโน้มถ่วงมากพอที่จะระลึกได้ว่า ความคิดของเทสลานั้นถูกต้อง เมื่อไม่นานมานี้เอง

หลังจากนั้น เทสลาออกประกาศอีกฉบับหนึ่งที่อุกอาจกว่าเดิม เรื่องนี้ช่วยให้เขากลายเป็นคนที่โลกลืมหลังจากตายไปแล้ว:

"ผมทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ในรอบปีที่ผ่านมา ไปกับการประดิษฐ์เครื่องมือใหม่ชิ้นเล็กๆ ที่สามารถส่งพลังงานปริมาณมหาศาลผ่านห้วงอวกาศได้ โดยปราศจากการแพร่กระจาย(ของพลังงาน) ผมกำลังจะส่งคำอธิบายเครื่องมือตัวนี้ พร้อมข้อมูลและผลการคำนวณต่างๆ ไปให้สถาบันฝรั่งเศส (Institute of France) เพื่อขอรับเงินรางวัล Guzman Prize จำนวน 100,000 ฟรังค์ ที่ประกาศให้กับคนที่คิดค้นวิธีติดต่อสื่อสารกับโลกอื่น ผมมั่นใจว่ารางวัลนี้จะตกเป็นของผม แน่นอน เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ผมยินดีทุ่มเทให้เกือบทั้งชีวิต เพื่อเกียรติยศที่จะได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นคนแรกที่ทำให้ปาฏิหาริย์นี้เป็นจริง"

เทสลาไม่ได้รับรางวัลนั้น และไม่เคยอธิบายงานชิ้นนี้ของเขา รัฐบาลฝรั่งเศสไม่เคยได้รับการติดต่อจากเทสลาอีกเลย หลังจากที่เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเกินการคาดเดาของทั้งสองฝ่าย ฮิตเลอร์เริ่มขยายอิทธิพลเข้ามาในยุโรป และยกทัพบุกฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2483

สิ่งประดิษฐ์ที่เทสลาพูดถึงข้างต้น น่าจะเป็นปืนพลาสมา หรือไม่ก็เครื่องยิงแสงเลเซอร์ เพื่อผลิตอนุภาคพลังงานสูงในบรรยากาศชั้นสูงของโลก บันทึกจากโคโลราโดของเขาแสดงให้เห็นว่า เทสลารู้ดีถึงความเป็นไปได้ทั้งสองอย่างนี้ และสิ่งประดิษฐ์ทั้งสองอย่างก็จะเป็นผลสืบเนื่องอันมีเหตุผลจากการทดลองเกี่ยวกับฟ้าแลบของเขา

ในปี 2483 หลังจากวันเกิดครบรอบ 84 ปีของเขาไม่กี่วัน เทสลาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ New York Times ซึ่งลงตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 22 กันยายน ว่า:

"นิโคลา เทสลา หนึ่งในนักประดิษฐ์ที่เก่งที่สุด ซึ่งเพิ่งฉลองวันเกิดอายุ 84 ปีของเขาไปเมื่อวันที่ 10 กรกฏาคมที่ผ่านมา บอกกับผู้เขียนว่า เขาพร้อมที่จะเปิดเผยความลับเกี่ยวกับพลัง 'โทรกำลัง' (teleforce) ต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา พลังนี้มีอานุภาพหลอมละลายเครื่องยนต์ของเครื่องบินจากระยะไกลถึง 250 ไมล์ ทำให้สามารถสร้างแนวกำแพงป้องกันรอบประเทศแบบกำแพงเมืองจีน แต่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า"
                                                                                         
                                                                                        

                                                                    ( Teleforce Tower )

ไม่มีนักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยคนไหนวิจารณ์บทความชิ้นนี้ เมื่อมาถึงตอนนี้ ชื่อเสียงของเทสลาในฐานะคนอยากดัง พุ่งสูงกว่าความสามารถของเขาที่จะทำให้คนเชื่อในสิ่งที่พูด และในขณะที่ฮิตเลอร์กำลังกรีฑาทัพเข้าสู่ยุโรป ทุกคนมีเรื่องอื่นให้ปวดหัวมากกว่า

เมื่อถึงปีถัดมาคือ พ.ศ. 2484 สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง และเทสลาเองก็คงเป็นกังวลกับการที่ประเทศบ้านเกิดของเขาพ่ายแพ้ต่อกองทัพเยอรมันในเวลาเดียวกัน เขาจะทำอย่างไรกับ 'รังสีหายนะ' (Death Ray) ซึ่งเป็นชื่อที่หนังสือพิมพ์ขนานนามให้กับขีปนาวุธ 'โทรกำลัง' ของเขา? เทสลาต้องการยกมันให้กับรัฐบาลอเมริกัน เพื่อช่วยทั้งประเทศบุญธรรม และประเทศบ้านเกิดของเขา

ในวันที่ 5 มกราคม 2586 เทสลาโทรศัพท์ไปหาพันเอกเออร์สไกน์ (Erskine) รัฐมนตรีสงครามของอเมริกา เสนอยกความลับของขีปนาวุธ 'โทรกำลัง' ให้ทั้งหมด เออร์สไกน์ไม่รู้ว่าเทสลาคือใคร ก็เลยคิดว่าเขาเป็นแค่คนบ้าคนหนึ่ง ให้สัญญากับเทสลาว่าจะติดต่อกลับ แล้วหลังจากนั้นก็ลืมเขา นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เทสลาติดต่อกับโลกภายนอก ถึงตอนนี้เขาล้มป่วยอย่างรุนแรง หัวใจที่อ่อนแอของเขาก่อให้เกิดอาการเวียนหัวบ่อยครั้ง ตอนนั้นเทสลาพักอยู่ในโรงแรม New Yorker ในเย็นวันที่ 5 มกราคม วันเดียวกัน เทสลาแจ้งโรงแรมว่าไม่ต้องการให้ใครรบกวน แล้วหลังจากนั้นก็เข้านอน เขามักแจ้งโรงแรมว่าไม่ให้รบกวนช่วงละ 2-3 วัน แต่นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่มีคนเห็นเขาขณะมีชีวิต

เหตุการณ์ต่อจากจุดนั้นเกิดขึ้นเหมือนในหนังเร้าใจเรื่องแย่ๆ เรื่องหนึ่ง เทสลาตายด้วยอาการหัวใจล้มเหลวระหว่างเย็นวันอังคารที่ 5 มกราคม และเช้าวันศุกร์ที่ 8 มกราคม พนักงานทำความสะอาดเป็นคนพบศพเขาในเช้าวันศุกร์ ญาติคนเดียวของเทสลาที่คนรู้จัก คือหลานชายที่ชื่อ ซาวา โคซาโนวิช นั้น เป็นผู้อพยพจากยูโกสลาเวียที่หลบหนีกองทัพเยอรมันมายังอเมริกา เขาก็เหมือนผู้อพยพอื่นๆ อีกหลายคน คืออยู่ภายใต้การสอดแนมของตำรวจ FBI ในฐานะคนที่อาจเป็นสายลับของศัตรู

ในคืนวันที่ 8 มกราคม ซาวา โคซาโนวิช และชายอีกสองคนคือ จอร์จ คลาร์ก (George Clark) และเคนเน็ธ สวีซีส์ (Kenneth Sweezey) ซึ่งเป็นนักข่าวหนุ่มสายวิทยาศาสตร์ ไปที่ห้องของเทสลาในโรงแรม พร้อมกับช่างทำกุญแจเพื่อเปิดตู้เซฟข้างใน โคซาโนวิชบอกชายอีกสองคนว่าเขามาหาพินัยกรรมของลุง ผู้ช่วยผู้จัดการโรงแรมสามคน และตัวแทนจากกงสุลประเทศยูโกสลาเวีย อยู่ในห้องนั้นด้วยในฐานะพยาน สวีซีส์หยิบหนังสือเล่มหนึ่งออกมาจากเซฟ และหลังจากนั้นตู้เซฟก็ถูกล็อคด้วยรหัสใหม่ ที่มอบให้กับโคซาโนวิช ถ้าเขาพบพินัยกรรมของเทสลา เขาไม่เคยบอกให้ใครรู้ เพราะเทสลาถูกบันทึกว่าตาย

Credit: Dominic
28 ก.พ. 56 เวลา 11:25 1,378 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...