น.ส.ปาร์ก กึน เฮ ชนะการเลือกตั้งในการชิงชัยเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555 นี้และจะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์
ของเกาหลีใต้ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ดังนั้น น.ส.ปาร์ก กึน เฮ จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศสตรีคนที่ 16 จากบรรดาผู้นำประเทศสตรี 17 คนในโลกปัจจุบัน ที่เรียกว่าผู้นำประเทศหมายความว่าเป็นผู้นำที่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศนะครับ ไม่ใช่ผู้นำในเชิงสัญลักษณ์เช่นเป็นประธานาธิบดีหรือพระราชินีที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
อีทีนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจนะครับที่จะพิจารณาประเทศต่างๆ ในโลกของเราใบนี้ที่มีประเทศต่างๆ ร่วม 200 ประเทศและในขณะนี้จะมีผู้นำของประเทศ 17 ประเทศ คิดคร่าวๆ ก็เกือบ 10% ซึ่งก็มี 1.เยอรมนี 2.ไลบีเรีย (ตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือเป็นประเทศที่สหรัฐอเมริกาตั้งขึ้นเพื่อเอาทาสนิโกรที่เป็นอิสระมาอยู่ได้เป็นเอกราชเมื่อ พ.ศ.2390 ปลายสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) 3.อาร์เจนตินา 4.บังกลาเทศ
5.ไอซ์แลนด์
6.ลิทัวเนีย 7.คอสตาริกา (ตั้งอยู่ในอเมริกากลาง) 8.ตรินิแดดแอนด์โตเบโก (เป็นเกาะอยู่ในทะเลแคริบเบียน) 9.ออสเตรเลีย
10.สโลวาเกีย 11. บราซิล 12.โคโซโว 13.ไทย 14.เดนมาร์ก
15.จาเมกา (เป็นเกาะในทะเลแคริบเบียน 16.มาลาวี (ตั้งอยู่ในตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกาไม่มีทางออกทะเล) 17.เกาหลีใต้
แต่หากดูย้อนไปในอดีตแล้วในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นี้ได้มีผู้นำสตรีของนานาประเทศได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ซึ่งมีทั้งประธานาธิบดีที่เป็นประมุขของประเทศโดยมีอำนาจเต็มในการบริหารบ้างหรือเป็นเพียงประมุขในเชิงสัญลักษณ์บ้างในอดีตอันใกล้ที่ไม่นับในปัจจุบันถึง 29 ประเทศ
ส่วนสตรีที่เป็นนายกรัฐมนตรีผู้เป็นผู้นำและมีอำนาจเต็มในการบริหารในอดีตอันใกล้นี้ (ช่วงท้ายของศตวรรษที่ 20) มีอยู่ถึง 31 ประเทศ (ข้อมูลทั้งหมดนี้สามารถตรวจสอบได้ที่ http://www.filibustercartoons.com/charts_rest_female-leaders.php)
สำหรับประเทศที่มีพลเมืองมากที่สุด 10 ประเทศของโลกคือ
1) จีน 2) อินเดีย 3) สหรัฐอเมริกา 4) อินโดนีเซีย 5) บราซิล 6) ปากีสถาน7) บังกลาเทศ 8) ไนจีเรีย 9) รัสเซีย 10) ญี่ปุ่น
ปรากฏว่ามี 5 ประเทศอันได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล ปากีสถาน และบังกลาเทศ เคยมีและกำลังมีผู้นำสตรีที่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ พิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ไม่ยากว่าแนวโน้มที่สตรีจะครองโลกในอนาคตอันใกล้คงจะได้เห็นกัน
ครับ! ก็มาถึงผู้นำของประเทศที่ออกมาเปิดเผยว่าท่านเป็นเกย์ (ชายรักชาย) หรือเลสเบียน (หญิงรักหญิง) ให้ประชาชนคนทั้งโลกรู้ซึ่งความที่ผู้นำประเทศเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนนั้นมีมาเยอะแล้วละครับแบบว่ารู้ๆ กันอยู่แต่ไม่เป็นที่เปิดเผยและเจ้าตัวก็ไม่เคยยืนยันต่อสาธารณชนมาก่อนเท่านั้นเอง
ท่านแรกคือนายกรัฐมนตรีหญิงโยฮันนา ซีกือร์ดาร์โตตีร์แห่งประเทศไอซ์แลนด์ ท่านได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2552 เมื่อท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วท่านได้ทำการผลักดันกฎหมายที่ให้มีการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันได้และเมื่อกฎหมายผ่านรัฐสภาใช้บังคับใน พ.ศ. 2553 ท่านนายกรัฐมนตรีก็ทำพิธีแต่งงานกับเพื่อนหญิงของท่านเป็นสามีภรรยาทันทีเลยทีเดียว
ท่านที่สองคือนายกรัฐมนตรีแอลีโย ดี รูว์โป แห่งประเทศเบลเยียมท่านได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2554 หลังจากที่ประเทศเบลเยียมไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งได้เป็นเวลาถึง 541 วัน (เกือบปีครึ่งทีเดียว) จึงตกลงได้ท่านนายกรัฐมนตรีผู้ประกาศตัวว่าเป็นเกย์มาร่วม 20 ปีแล้ว (ตั้งแต่ทศวรรษ 2530) แต่ตอนนี้ท่านนายกรัฐมนตรีเบลเยียมยังโสดอยู่นะครับ นัยว่ายังหาผู้ชายที่ถูกใจยังไม่ได้นั่นเอง
แนวโน้มของการเลือกตั้งประมุขของประเทศที่มีอำนาจในการบริหารและนายกรัฐมนตรีในโลกปัจจุบันจะเห็นได้ว่าประชาชนมักจะเลือกผู้ที่ทำงานได้ ผู้ที่พอจะไว้ใจในการทำงานทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่เป็นคนดีตามมาตรฐานทาง
ศีลธรรมตามบรรทัดฐาน (norm) ของสังคม ทำนองว่าเป็นคนดีอย่างเดียวดูจะไม่พอเสียแล้ว