นักฟิสิกส์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เตรียมประกาศข่าวใหญ่ของโครงการค้นหาสสารมืดในอวกาศ ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า หลังจากได้รับผลการตรวจสอบของเครื่องตรวจสเปกตรัมอัลฟาแม็กเนติก...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ว่า ซามูเอล ติง นักฟิสิกส์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT)
และหัวหน้าโครงการค้นหาปฏิกิริยาสสารในอวกาศด้วยเครื่องตรวจสเปกตรัม อัลฟาแม็กเนติก (Alpha Magnetic Spectrometer : AMS)
เผยว่าจะมีการประกาศเรื่องใหญ่ในโครงการค้นหา ดาร์ก แมทเทอร์ หรือสสารมืด (Dark Matter) ในอีกสัปดาห์ข้างหน้า
นายติงกล่าวที่งานประชุมประจำปีของ สมาคมความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกาว่า ข้อมูลแรกที่ได้จากเครื่อง AMS
จะถูกตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า โดยในรายงานฉบับแรกนี้จะเป็นการระบุว่า
พบปฏิกิริยาอนุภาคอิเล็กตรอนและโพซิตรอนอย่างละเท่าไร และพลังงานของทั้งสองอนุภาคเป็นอย่างไร
แต่เขายังไม่ยอมบอกว่า อะไรคือผลลัพธ์การทดลองนี้ค้นพบกันแน่ ระบุเพียงว่า ผลลัพธ์ที่ได้มีผลกระทบต่อปริศนาของสสารมืด ที่เป็นความลับมานาน
"มันไม่ใช่กระดาษแผ่นเล็กๆ" นายติงกล่าว และว่า การค้นพบครั้งนี้สำคัญขนาดที่นักวิทยาศาสตร์ ต้องเขียนสรุปผลใหม่ถึง 30 รอบจึงมั่นใจในคำตอบ
ทั้งนี้ เครื่อง AMS ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยค่าใช้จ่ายถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.97 หมื่นล้านบาท) เพื่อตรวจจับการก่อตัวของโพซิตรอนและอิเล็กตรอน
จากการประลัยของสสารมืดในทางช้างเผือก เครื่องนี้ถูกติดตั้งที่สถานีอวกาศนานาชาติเมื่อเดือนพ.ค. 2011
และตรวจจับปฏิกิริยาอนุภาคได้แล้วถึง 2.5 หมื่นล้านครั้ง รวมถึงปฏิกิริยาอนุภาคของอิเล็กตรอนและโพซิตรอนอีกราว 8 พันล้านครั้ง
อย่างไรก็ดี นายติงย้ำว่า ผลที่ได้เป็นเพียงก้าวเล็กๆ ในการไขปริศนาตัวตนของสสารมืด และอาจจะไม่ใช้คำตอบสุดท้ายด้วย