นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า วันที่ 26 ก.พ. คณะกรรมาธิการปกป้องสิทธิเด็ก และสถาบันรัฐศาสตร์ทาทา องค์กรวิจัยชั้นนำของอินเดียยืนยันว่ามีการใช้แรงงานเด็กฐานะยากจนในเหมืองแร่จริง สอดคล้องกับที่อิมพัลส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรในรัฐเมฆาลัย เปิดโปงไว้ปี 2553 ว่ามีแรงงานเด็ก 70,000 คน ในเหมือง 5,000 แห่ง โดยเด็กที่อายุน้อยสุดเพียง 5 ขวบ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐกลับปฏิเสธรายงานดังกล่าวอย่างแข็งขัน
จากการตรวจเยี่ยมช่วงฤดูมรสุม ซึ่งเหมืองหลายแห่งปิดทำการ กลุ่มทาทาเผยว่าพบเด็ก 343 คน อายุ 15 ปี หรือน้อยกว่านั้นอยู่ในเหมือง 401 แห่ง โดยเด็กต้องไต่บันไดไม้ไผ่ลงไปในหลุม จากนั้นมุดโพรง และคลานไปหลายเมตรจึงจะเริ่มงานขุด ซึ่งเด็กไม่ได้สวมเครื่องป้องกันใดๆ แต่กลุ่มนักวิจัยต้องหยุดเก็บข้อมูลกลางคันเพราะถูกกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นข่มขู่
ด้านนายปินโต เอ็ม.ลานอง รมช.เหมืองแร่และธรณีวิทยาของรัฐเมฆาลัย กล่าวแย้งว่า ไม่มีการใช้แรงงานเด็กในพื้นที่ ข้อกล่าวหานี้ไร้สาระ เหมืองทุกแห่งได้มาตรฐานปลอดภัย ในขณะที่ข้อมูลจากกลุ่มทาทาชี้ว่าเหมืองในรัฐเมฆาลัยไม่มีช่องระบายอากาศ มีทางเข้า-ออกทางเดียว แทบไม่มีเครื่องพยุงหลังคา และไม่มีอุปกรณ์ช่วยลดแรงระเบิด
อินเดียมีกฎหมายเหมือง เมื่อปี 2495 ห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปีทำเหมือง และเพิ่งมีกฎหมายห้ามใช้แรงงานเด็กอายุ 6-14 ปี เมื่อปี 2553 ซึ่งขณะนั้นมีเด็กถูกใช้แรงงานราว 28 ล้านคน พบได้ทุกแห่งทั้งร้านค้า ในครัว ไร่นา โรงงาน และพื้นที่ก่อสร้าง สาเหตุมาจากความยากจน การทุจริตคอร์รัปชั่น โรงเรียนทรุดโทรมและขาดแคลนครู
นางวันทานา กันทารี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กของกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) กล่าวว่า อินเดียมีกฎหมายที่ดีมาก แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้