กล้ามเนื้อคออักเสบ
สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการที่ต้องนั่งท่าเดิมๆ เป็นเวลานานเป็นประจำทุกวัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการเริ่มจากปวดบ่าทั้งสองข้าง หลังจากนั้นจะปวดคอมาก ปวดร้าวไปถึงบ่า แขน และมีอาการมือชาด้วย ปวดจนไม่สามารถหันคอได้เลย สำหรับใครที่มีอาการดังกล่าวในการรักษาคุณหมอจะให้ยาคลายกล้ามเนื้อมาทาน พร้อมกับใส่เฝือกอ่อนชั่วคราว เพื่อช่วยไม่ให้เคลื่อนไหวมาก ประมาณ 3-4 วัน อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ส่วนใครที่ยังไม่มีอาการ แต่ยังต้องขับรถอยู่แนะนำให้บริหารคอระหว่างที่รถติด เช่น หันซ้ายหันขวา ก้มหัวขึ้นลง และไม่ควรเอี้ยวคอแบบกะทันหัน เพราะจะทำให้เกิดการหันผิดท่าได้
ระบบการย่อยอาหาร และระบบขับถ่ายผิดปกติ
ใครที่ต้องขับรถอยู่เกือบตลอดเวลา เช่น คนขับแท็กซี่ มักเจอกับปัญหานี้ เพราะเนื่องจากต้องรับส่งผู้โดยสารอยู่ตลอดทำให้การทานอาหารไม่เป็นเวลา และเวลาอยากเข้าห้องไม่สามารถทำได้เลย ดังนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้เป็นประจำทุกวันก็ทำให้เป็นโรคกระเพาะอักเสบ รวมทั้งมีอาการท้องผูกอีกด้วย ซึ่งแนวทางในการแก้ไขควรจะเลือกทานอาหารประเภทผักเยอะ ๆ หรือเลือกทานอาหารเบา ๆ จะช่วยให้ระบบย่อยและระบบขับถ่ายดีขึ้น อีกทั้งก่อน ออกไปขับรถแนะนำให้ออกกำลังบริหารแขนขา และเข่า เพื่อลดการปวดเมื่อย หากต้องขับรถเป็นเวลานาน ๆ ได้
หมอนรองกระดูกเสื่อม
สำหรับคนที่ต้องขับรถเป็นระยะทางไกลมักจะพบปัญหาหมอนรองกระดูกเสื่อม รวมทั้งในคนที่ชอบยกของหนักบ่อยๆ เอี้ยวตัวผิดท่า หรือได้รับบาดเจ็บจากการตกจากที่สูง ซึ่งเริ่มแรกจะมีอาการปวดหลังเพียงเล็กน้อย จากนั้นจะเริ่มปวดมากขึ้นและลามไปยังข้างทั้งสอง เวลายืนนานจะมีอาการชาที่ขา นอกจากนี้ในบางรายอาจมีอาการของเอวคดด้วย
โดยแนวทางในการรักษาอาการต่างๆ คือ ไปทำไคโรแพกติก หลังเสร็จจากการจัดกระดูกก็ค่อยๆ ดีขึ้น และควรดูแลตัวเองโดยการเล่นเทนนิสแบบเบาๆ หากต้องเดินนานให้หยุดพักยืดเส้นยืดสายบ้าง ทำกายภาพบำบัดวันละ 3 ครั้ง ด้วยการนอนคว่ำ ศอกทั้งสองข้างตั้งฉากกับพื้น ปลายเท้าจิกทำเป็นมุมฉาก ยกตัวขึ้นแล้วแขม่วท้องเกร็งไว้นับ 1-10 ทำประมาณ 10 ครั้ง
พังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ
สาเหตุอาจเกิดการที่เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงบริเวณมือได้ไม่ทั่วถึง เพราะต้องถือพวงมาลัยไว้ตลอดเวลาเป็นระยะเวลานานๆ อีกทั้งยังเกิดขึ้นทุกวัน ถ้าใครที่ยิ่งต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ก็จะยิ่งส่งผลเร็วขึ้น จะเริ่มมีอาการปวดบริเวณข้อมือ ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการทำกายภาพบำบัดวันละ 4 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน เพื่อให้เลือดสูบฉีด ทั้งนี้หากมีการดูแลตัวเองที่ดีก็จะลดอาการที่เป็นลงได้ เช่น ฝึกโยคะ ยกของด้วยการนั่งลงแล้วยก และช่วงไหนที่มีอากาศเย็นจะรู้สึกปวดมากกว่าปกติ จึงต้องพยายามให้อบอุ่นอยู่เสมอ หรือทายาหม่อง หรือปาล์มเพื่อเพิ่มความอบอุ่นได้
การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐนะคะ ยังไงก็ต้องพยายามดูแลตัวเองให้ดี ไม่ว่าจะอยู่ในที่ไหนก็ตามค่ะ