ประหลาดใจ “พายุใหญ่” บนดาวเสาร์

 



นักวิทยาศาสตร์ประหลาดใจ “พายุใหญ่” บนดาวเสาร์ ทำชั้นบรรยากาศอุณหภูมิสูงขึ้นผิดปกติ เปรียบเทียบเหมือนอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างฤดูหนาวของอลาสกากับฤดูร้อนในทะเลทรายโมจาวี อีกทั้งยังเป็นพายุที่อยู่นานผิดปกติ และระหว่างพายุยังพบก๊าซที่เคยสังเกตพบมาก่อนแต่คาดว่ามีมากถึง 100 ของที่คาดไว้

แคสสินี (Cassini) ยานอวกาศขององค์การบริหารการบินอวกาสหรัฐ (นาซา) ตรวจพบพายุลูกใหญ่ดังกล่าวครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค.2010 และจากรายงานของสเปซด็อทคอมการสำรวจของยานได้ตรวจพบว่า พายุลูกใหญ่นี้ได้ทำให้ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์มีอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นไปกว่าปกติ 66 องศาเซลเซียส

บริเกตต์ เอสแมน (Brigette Hesman) จากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Maryland) และศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) ของนาซากล่าวว่า อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นนี้สูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ ซึ่งปกติจะค่อนข้างคงที่

หากเปลี่ยนเทียบการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เกิดขึ้นในระดับโลก เอสแมนกล่าวว่าจะเปรียบเทียบได้กับอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างช่วงหนาวที่สุดในฤดูหนาวของบริเวณแฟร์แบงก์ส (Fairbanks) ในอลาสกา กับช่วงร้อนที่สุดของฤดูร้อนในทะเลทรายโมฮาวี (Mojave Desert)

เอสแมนและทีมได้เขียนรายงานผลการสังเกตดาวเสาร์ครั้งนี้ในวารสารดิแอสโทรฟิสิคัลเจอร์นัล (The Astrophysical Journal) และพวกเขายังตรวจพบก๊าซเอทิลีนขนาดใหญ่ในช่วงเกิดพายุ ซึ่งพบว่ามีก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นนี้มากกว่า 100 เท่าของที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้ และยังไม่ทราบถึงกำเนิดของก๊าซเหล่านี้

ไมเคิล ฟลาเซอร์ (Michael Flasar) จากก็อดดาร์ด และอยู่ในทีมเครื่องมือบันทึกภาพย่านอินฟราเรดของยานแคสสินีซึ่งโคจรรอบดาวเสาร์กล่าวว่า พวกเขาไม่สามารถพบก๊าซเอทีลีนบนดาวเสาร์ได้มาก่อน ดังนั้น สิ่งที่พบนี้จึงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง
สำหรับพายุยักษ์บนดาวเสาร์นี้เป็นส่วนหนึ่งของจุดขาวใหญ่ (Great White Spots) บนดาวเคราะห์วงแหวนดวงนี้ ซึ่งพบว่ามีโอกาสที่จะผุดขึ้นมาทุก 30 ปีโลก หรือราวๆ 1 ปีดาวเสาร์

แคสสินีพบว่าพายุลูกล่าสุดนี้ได้วนรอบดาวเสาร์ตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.2011 และแผ่อาณาเขตจากเหนือลงใต้ไกลถึง 15,000 กิโลเมตร แล้ววิ่งวนไปรอบๆ ก่อนจะหายไปเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ปีเดียวกัน และโพล่มาอีกในเดือน ต.ค.ก่อนจะหายไปในเดือน ม.ค.2012

พายุดังกล่าวคงที่อยู่ยาวนานที่สุดนับแต่เริ่มสังเกตดาวเสาร์ อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกของการศึกษาพายุตามวัฏจักรนี้อย่างใกล้ชิดด้วยยานโคจร นอกจากนี้แคสสินียังสำรวจพบรอยแต้มแปลกๆ ของอากาศร้อน 2 รอยที่ส่องแสงสว่างในชั้นสตราโทสเฟียร์ระหว่างเกิดพายุ ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่ามีการปลดปล่อยพลังงานมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอื่นที่ปรากฏในวารสารอิคารัส (Icarus) ซึ่งพิจารณาข้อมูลภาพถ่ายอินฟราเรดของยานแคสสินีและกล้องโทรทรรศน์บนโลกอีก 2 ตัว ซึ่งสเปซด็อทคอมระบุว่า พวกเขาได้อธิบายว่า รอยแต้มทั้งสองนั้นรวมกันแล้วกลายเป็นลมหมุนขนาดใหญ่ที่สุดและร้อนที่สุดในระบบสุริยะของเราได้อย่างไร และยังเป็นพายุหมุนที่มีขนาดใหญ่กว่าจุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) บนดาวพฤหัสบดีเสียอีก

แม้ว่าตอนนี้จะไม่เห็นสัญญาณของพายุบนดาวเสาร์แล้ว แต่จนถึงวันนี้พายุดังกล่าวก็ยังคงอยู่ และแตกต่างไปจากจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสที่อยู่มานานมากกว่า 300 ปีแล้ว สำหรับพายุหมุนบนดาวเสาร์นี้นักวิทยาสาสตร์คาดว่าจะค่อยๆ จางหายไปในช่วงปลายปี 2013

สก็อตต์ เอ็ดดิงตัน (Scott Edgington) นักวิทยาศาสตร์ระดับหัวหน้าในโครงการแคสสินีจากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ของนาซา กล่าวว่า การศึกษาเหล่านี้จะทำให้เราได้ความเข้าใจที่มากขึ้นในกระบวนการเคมีแสงที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ของดาวเสาร์ ซึ่งดาวเคราะห์ขนาดใหญ่อีกดวงในระบบสุริยะของเรา


Credit: Dominic
20 ก.พ. 56 เวลา 14:49 2,443 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...