ประชาชาติธุรกิจ : นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 สนข.จะจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ที่อยู่ในแนวเส้นทางโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน
สำหรับแนวเส้นทางตามที่บริษัทที่ปรึกษากำหนดไว้มี 4 เส้นทางให้เลือก โดยแนวทางเลือกที่ 1 จะขนานไปกับทางรถไฟสายใต้ในปัจจุบัน เริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อ ผ่าน จ.นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี มาสิ้นสุดที่อำเภอหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 225 กิโลเมตร
แนว ทางเลือกที่ 2 เริ่มจากสถานีกลางบางซื่อแล้วใช้แนวเขตทางรถไฟสายแม่กลอง ผ่าน จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม มาบรรจบกับแนวเส้นทางรถไฟสายใต้เดิมที่อำเภอปากท่อ ราชบุรี จนมาสิ้นสุดที่อำเภอหัวหิน ระยะทาง 189 กิโลเมตร
แนวทางเลือกที่ 3 เริ่มจากชุมทางตลิ่งชัน ใช้พื้นที่เขตทางของถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอก) และถนนพระรามที่ 2 ผ่าน จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม มาบรรจบกับแนวเส้นทางรถไฟสายใต้เดิมที่อำเภอปากท่อ ราชบุรี จนมาสิ้นสุดที่อำเภอหัวหิน ระยะทาง 198 กิโลเมตร
และแนวทางเลือกที่ 4 เริ่มจากชุมทางตลิ่งชัน ใช้พื้นที่เขตทางถนนกาญจนาภิเษกและถนนเพชรเกษมบางส่วน แล้วใช้แนวเส้นทางใหม่ผ่าน จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม มาบรรจบกับแนวเส้นทางรถไฟสายใต้เดิมที่อำเภอปากท่อจนมาสิ้นสุดที่อำเภอ หัวหิน ระยะทาง 200 กิโลเมตร
"แนวเส้นทางที่เป็นไปได้สูงสุดคือ แนวทางเลือกที่ 1 โดยสร้างในแนวรถไฟสายใต้เดิม 225 กิโลเมตร เทียบกับเส้นทางอื่นจะมีการเวนคืนน้อยที่สุด มี 4 สถานี ประกอบด้วยสถานีนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และปลายทางที่หัวหิน"
นาย จุฬากล่าวอีกว่า สำหรับการเวนคืนที่ดินอาจจะต้องมีเล็กน้อยเพื่อให้ได้พื้นที่มากที่สุด รวมถึงในแนวเส้นทางรถไฟเดิมอาจจะมีผู้บุกรุกอยู่บ้าง จะต้องเคลียร์เพื่อให้สามารถวางรางรถไฟความเร็วสูงได้ โดยจะใช้ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร คู่ขนานไปกับแนวรถไฟสายปัจจุบัน
ขณะ ที่ในบางจุดที่เป็นจุดตัดทางแยกอาจจะต้องมีการสร้างสะพานข้ามแยกหรืออุโมงค์ ทางลอด ซึ่งในเส้นทางนี้มีจุดตัดอยู่ประมาณ 127 แห่ง ถือเป็นการแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟไปด้วยในตัว โดยคาดว่าจะใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯไปหัวหินเพียง 1 ชั่วโมง