สะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 เชื่อม "ไทย-ลาว" สู่อาเซียน

 

หลายประเทศในอาเซียนคาดหมายว่า การเปิด "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ในปี พ.ศ.2558 จะนำมาซึ่ง "โอกาส" และ "ความหวัง" ในการสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง ในหมู่ประเทศสมาชิก

สำหรับประเทศไทยเอง ตั้งเป้าจะเป็น "Trading Hub" หรือศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากได้เปรียบเรื่องที่ตั้ง ที่เป็นศูนย์กลางคมนาคมทางเหนือจากจีนลงมาใต้ และทางตะวันออกจากอินเดียไปถึงอ่าวตังเกี๋ย ประเทศเวียดนาม หากเดินทางโดยเครื่องบิน ก็สามารถบินไปได้ทุกประเทศในอาเซียนภายใน 3 ช.ม. เท่านั้น

ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่าง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ก็มองไกลถึงขั้นเป็น "แบตเตอรี่แห่งเอเชีย" เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนดิน ใต้ดิน อยู่อย่างมหาศาล และกำลังเป็นแหล่งขุมทรัพย์ใหม่ของนักลงทุนจากทั่วโลก

เพื่อผนึกกำลังผลักดันโครงการความร่วมมือต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้า พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ และความเข้มแข็งของกลุ่มประชาคมอาเซียนในภาพรวม รัฐบาลไทยและลาวจึงเห็นพ้องต้องกัน ดำเนินโครงการก่อสร้าง "สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)" ขึ้น

โดยในวันที่ 20 ก.พ.นี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม พร้อม พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม และคณะ จะลงพื้นที่ จ.บึงกาฬ และเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งใหม่นี้ และเยี่ยมชมเส้นทางเชื่อมโยงทางถนนสู่ประเทศเวียดนามด้วย

"โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)" เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 54 นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ และคณะ ได้เข้าหารือพิจารณาจุดก่อสร้าง สะพานฯ ต่อท่านเจ้าแขวงบอลิคำไซ โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นของที่ตั้งโครงการ คือ

แยกออกจากทางหลวงหมายเลข 212 ตอนหนองคาย-บึงกาฬ บริเวณ ก.ม.123+500 ด้านซ้ายทางบ้านเชือมเหนือ ต.ไคลี จ.บึงกาฬ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 13 ก.ม. ความกว้างของแม่น้ำโขงบริเวณนี้ อยู่ที่ประมาณ 0.98 กม.

และข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 13 ที่บ้านกล้วย เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.สาว ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาทางหลวง ที่ สปป.ลาว จะก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองปากซันด้านตะวันออก

ต่อมา ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 22 ก.พ.55 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ ควรให้มีการศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุน และผลกระ ทบด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม 

และวันที่ 2 มิ.ย.55 นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว ได้เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และร่วมหารือทวิภาคีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งแถลงภายหลังการหารือร่วมกันในวันนั้นว่า ไทยยินดีพิจารณาโครงการ อื่นๆ ในอนาคต เช่น การก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) และการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างกัน 

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีทองสิง ทำมะวง ยังเห็นพ้องกันว่า ควรจะต้องมีความร่วมมือกัน ในการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน และการยกระดับจุดผ่านแดนในจุดที่มีความพร้อมด้วย

สำหรับสะพานเชื่อมฝั่งไทย-ลาว ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 4 แห่ง แห่งที่ 1 ข้ามแม่น้ำโขงที่หนองคาย-ท่านาแล้ง เชื่อมสู่ภาคเหนือของ สปป.ลาว แห่งที่ 2 ที่มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต เชื่อมสู่ภาคใต้ของ สปป.ลาว และเวียดนาม แห่งที่ 3 ที่นครพนม-แขวงคำม่วน เชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ไปสู่ภาคกลางของ สปป.ลาว รวมถึงภาคกลางของเวียดนามและจีน แห่งที่ 4 ที่เชียงราย-แขวงบ่อแก้ว เชื่อมต่อเชียงราย-คุนหมิง ผ่าน สปป.ลาว

โครงการก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) นี้ ทั้ง 2 ประเทศ ตั้งใจจะใช้เสริมสร้างโครงข่ายเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศไทย-ลาว-เวียดนาม และจีน ให้มีความสะดวก ปลอดภัย ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ปัจจุบัน จ.บึงกาฬ มีด่านสากลไทย-ลาว (บึงกาฬ-ปากซัน) เปิดให้บริการประชาชนที่เดินทางและขนส่งสินค้าเข้า-ออกระหว่างประเทศ ผ่านเรือและแพขนานยนต์เป็นหลัก 

ที่ผ่านมา การขนส่งสินค้าทางแพขนานยนต์ผ่านด่านสากลนี้ มีมูลค่าเฉลี่ยในปี 2554 ประมาณ 5,185 พันล้านบาท และปี 2555 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 5,373 พันบ้านบาท อีกทั้งยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีประชาชนสัญจรไปมา ปีละ 128,000 คน รถยนต์โดยเฉลี่ยปีละ 20,000 คัน แต่ศักยภาพของแพขนานยนต์ที่ใช้ขนส่งในปัจจุบัน สามารถรองรับ ได้เพียงรถบรรทุกทั่วไป ส่วนรถคอนเทนเนอร์ นั้น ยังไม่สามารถรองรับได้ โครงการก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิ คำไซ) จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะแก้ปัญหานี้

อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มเส้นทางการขนส่งจากประเทศไทย-ลาว-เวียดนาม และจีน จากเมืองปากซัน-เมืองวิงห์ ระยะทาง 313 ก.ม. และจากเมืองวิงห์-เมืองหนานหนิง ระยะทาง 795 ก.ม.

นับเป็นอีกก้าวของการเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-ลาว 

และเป็นก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งจะเป็นภูมิภาคสำคัญที่ทั่วโลกต้องจับตามองในอนาคต
20 ก.พ. 56 เวลา 10:52 3,402 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...