นักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมปฏิบัติการในโครงการของนาซาเผย พบหลักฐานใหม่ว่ามีน้ำแข็งอยู่บนดาวพุธ ทั้งยังพบสารประกอบอินทรีย์บนดาวพุธด้วย...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบหลักฐานใหม่ ว่า ดาวพุธ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาลที่โคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด มีแผ่นน้ำแข็งอยู่บนพื้นผิวด้วย นอกจากนี้ ยังค้นพบส่วนเสี้ยวของความลับที่ว่า น้ำเดินทางออกจากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะชั้นในได้อย่างไรด้วย
เดวิด ลอว์เรนซ์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำงานวิจยร่วมกับภารกิจศึกษาดาวพุธขององค์การการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ระบุว่า "ข้อมูลใหม่พบว่ามีชั้นน้ำแข็งกระจายอยู่บริเวณขั้วโลกของดาวพุธ พื้นที่โดยรวมของน้ำแข็งใกล้เคียงกับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (เมืองหลวงสหรัฐฯ)" โดยจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า แกนของดาวพุธมีทิศทางหมุนเกือบจะขนานกับดวงอาทิตย์ หมายความว่า พื้นที่ขั้วโลกของดาวพุธ แทบไม่ถูกรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์เลย
นักวิทยาศาสตร์สงสัยมาเป็นเวลานานว่า บริเวณขั้วโลกของดาวพุธ อาจจะมีน้ำแข็งอยู่ รวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ ที่น่าสนใจ ต่อมาในปี 1991 ทฤษฎีเรื่องนี้เริ่มมีน้ำหนักขึ้น เมื่อกล้องโทรทรรศน์คุณภาพสูงในเปอร์โตริโก พบจุดเรืองแสงจำนวนหนึ่งบนเรดาร์ ที่หลุมอุกกาบาตบริเวณขั้วโลกของดาวพุธ และข้อมูลล่าสุดของยาน 'MESSENGER' ซึ่งเดินทางถึงวงโคจรของดาวพุธ เมื่อปี 2011 ได้เปิดเผยข้อมูลภายในขั้วโลกของดาวพุธเป็นครั้งแรก
ภาพถ่ายขั้เหนือของดาวพุธ จากกล้องโทรทรรศน์เมื่อปี 1991 โดยสีแดงคือจุดที่ไม่โดนแสงอาทิตย์ สีเหลืองคือจุดที่เชื่อว่ามีน้ำแข็ง
ภาพจากยาน MESSENGER ช่วยยืนยันว่า จุดเรืองแสงบนเรดาร์ทั้งหมด อยู่ภายในพื้นที่ที่มืดและเย็นกว่าบริเวณขั้วโลกดาวพุธ และตามทฤษฎี อาจมีน้ำแข็งอยู่บริเวณนั้นด้วย นอกจากนี้ ยังได้ใช้เครื่องนิวตรอนสเปกโตรมิเตอร์ บนยาน MESSENGER ในการวิเคราะห์มวลของไฮโดรเจนด้วย และพบว่าน้ำแข็งส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยสสารสีเข้ม ซึ่งมีมวลน้อยกว่าไฮโดรเจนปกคลุมอยู่ด้วย
ดาวิด เพจ นักวิจัยอีกคนในโครงการของนาซา ระบุว่า สสารสีเข้มดังกล่าวคล้ายกับสารประกอบอินทรีย์ที่ซับซ้อน ทำหน้าที่เป็นฉนวน ซึ่งถูกนำมายังดาวพุธด้วยการชนของดาวหางและอุกกาบาต ที่มีอนุภาพเคมีจำนวนมากและจุดเดือดต่ำเมื่อนานมาแล้ว สสารนี้ อาจเป็นกุญแจสำคัญในการอธิบายว่า น้ำมาอยู่บนดาวพุธได้อย่างไร.