ไทยก็โดน "อุกกาบาต"พุ่งถล่ม

เผยเมื่อปี 2552 เคยตกพิษณุโลก "รัสเซีย"เจ็บเพิ่ม ตึกพัง3พันแห่ง!

 


จุดตก - หลุมขนาดใหญ่ในทะเลสาบ น้ำแข็งเชบาร์คูล ใกล้เทือกเขาอูราล ที่เกิดจากชิ้นส่วนอุกกาบาตก้อนมหึมาตกใส่ ช่วงที่เกิดฝนอุกกาบาตถล่ม 6 เมืองตอนกลางของรัสเซีย จนมีผู้บาดเจ็บเพิ่มเป็น 1,200 คน

ปธน.รัสเซียส่งทีมกู้ ภัย 20,000 นาย รุดเข้าเก็บกวาดซากความเสียหายจากเหตุระทึก "เศษอุกกาบาต" พุ่งจากอวกาศตกลงมาระเบิดกลางฟ้า ส่งคลื่นกระแทกช็อกเวฟทำลายกระจก-อาคารบ้านเรือนในภาคกลางของแดนหมีขาวเสียหายยับ 6 เมือง ยอดผู้บาดเจ็บพุ่งเป็น 1,200 คน ด้านดาวเคราะห์น้อย "2012 DA14" โคจรเฉียดโลกผ่านไปโดยปลอดภัย ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติยันปรากฏการณ์เหมือนกับที่รัสเซียนั้นเกิดขึ้นเป็นปกติทุกวัน ไม่ต้องตื่นตระหนกเกินเหตุ แต่ที่เห็นระเบิดกันจะจะเช่นนี้เพราะปัจจุบันพื้นที่ชุมชนเมืองขยายตัวมากขึ้น สำหรับไทยก็เคยโดนเศษอุกกาบาตลักษณะคล้ายกันนี้ตกใส่ที่พิษณุโลกเมื่อปี"52



จากเหตุช็อกโลกเมื่อวันที่ 15 ก.พ. เศษของอุกกาบาตพุ่งตกลงมาจากท้องฟ้า และเกิดระเบิดอย่างรุนแรงบริเวณภาคกลางของประเทศรัสเซีย ในเขตเชลยาบินสก์ บริเวณเทือกเขาอูราล ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม ห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันออก 1,500 ก.ม. จากนั้นสะเก็ดอุกกาบาตแตกกระจัดกระจายลงมาสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ 6 เมือง มี ผู้บาดเจ็บประมาณ 1,000 คน กระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติรัสเซียแถลงว่า ชิ้นส่วนที่ตกลงมาเป็นส่วนที่เหลือของอุกกาบาตเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศไม่หมด จากการตรวจสอบแล้วไม่พบรังสีใดๆ ตกค้างในอากาศ พร้อมส่งหน่วยกู้ภัยกว่า 20,000 นาย ลงพื้นที่ดูแลสถานการณ์ นอกจากนั้น เหตุสะเก็ดอุกกาบาตระเบิดดังกล่าว ยังเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่ดาวเคราะห์น้อย "2012 DA14" จะโคจรเฉียดโลก



ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 16 ก.พ. สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ทางการรัสเซียประกาศว่า ยอดผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นไปเป็น 1,200 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 200 คน ส่วนใหญ่มีบาดแผลจากเศษกระจกบาด แต่มีอาการสาหัส 112 คน แรงระเบิดทำให้เกิดคลื่นเสียงโซนิก หรือช็อกเวฟ กระแทกกระจกหน้าต่างอาคารบ้านเรือนพังเสียหายราว 3,000 แห่ง ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียสั่งทีมกู้ภัย 20,000 นาย เข้าเก็บกวาดซากความเสียหาย พร้อมกล่าวว่าขอบคุณพระเจ้าที่ชิ้นส่วนใหญ่ๆ จากอุกกาบาตขนาด 10 ตัน ไม่หล่นใส่พื้นที่ชุมชน 



กระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติรัสเซีย แถลงว่า อุกกาบาตดังกล่าวพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ที่ระยะ 30-50 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน ปลดปล่อยพลังงานมหาศาลหลายกิโลตันเทียบเท่าอาวุธนิวเคลียร์ ส่งชิ้นส่วนอุกกาบาตกระจายตัวในลักษณะฝนดาวตก โดยพบชิ้นส่วนขนาดใหญ่แล้ว 3 ชิ้น ชิ้นหนึ่งทำให้เกิดหลุมใหญ่ที่ทะเลสาบเชบาร์คูล พร้อมทั้งปฏิเสธข่าวที่ว่ากองทัพอากาศรัสเซียยิงจรวดขึ้นไปทำลายอุกกาบาต พื้นที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือเมืองเชล ยาบินสก์ ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม และมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ด้วย แต่ไม่ได้รับอันตรายใดๆ โรงงานที่เสียหายหนักที่สุดคือโรงงานสัง กะสี ซึ่งหลังคาพังถล่ม



ด้านสำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ "นาซ่า" ถ่ายทอดสดนาทีดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 โคจรเฉียดโลกผ่านทางเว็บไซต์ www.ustream.tv/nasajpl2 สดจากหอสังเกตการณ์ ประเทศออสเตรเลีย ในภาพมองเห็นดาวเคราะห์น้อยโคจรผ่านเข้ามาภายในเส้นทางวงโคจรของดาวเทียม 



จากการศึกษานักดาราศาสตร์พบว่า มีอุกกาบาตขนาดเท่าๆ กับ 2012 DA14 ที่โคจรใกล้โลกแบบนี้อีกกว่า 500,000 ดวง ซึ่งคิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของอุกกาบาตที่โคจรมาใกล้โลกทั้งหมด หากอุกกาบาตขนาดเท่า 2012 DA14 ชนโลก จะเกิดเหตุคล้ายกับการเกิดระเบิดที่ทุ่งทังกัสก้าในแคว้นไซบีเรียของรัสเซีย เมื่อปี 2451 ซึ่งทำให้เกิดทุ่งราบกว้างกว่า 2,200 ตารางกิโลเมตร โดยขนาดของอุกกาบาตที่ทำลายทังกัสกามีขนาดเล็กกว่า 2012 DA14 เพียงเล็กน้อย



วันเดียวกัน นายบุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีสะเก็ดอุกกาบาตตกลงบริเวณเทือกเขาอูราล ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ว่า สะเก็ดอุกกาบาตดังกล่าวคงเป็นส่วนหนึ่งของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย ไม่น่าจะมาจากดาวเคราะห์น้อย "2012 DA14" เนื่องจากโคจรอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของโลก แต่รัสเซียที่ถูกอุกกาบาตชนนั้นอยู่ทางทิศเหนือ และเนื่อง จากมีขนาดเล็กทำให้เครื่องมือ การตรวจจับวัตถุไม่สามารถพบเห็นได้ จนกระทั่งมาเห็นเป็นภาพลูกไฟเคลื่อนที่อยู่บนท้องฟ้า ซึ่งเกิดจากการที่วัตถุเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลกทำให้ติดไฟแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไม่น่าจะเกิดจากการที่กองทัพอากาศยิงจรวดใส่ จนกระทั่งระเบิดเกิดแรงดันขนาดใหญ่



นายบุญรักษากล่าวว่า วัตถุดังกล่าวมีน้ำหนักมากและเดินทางด้วยความเร็วสูงก็ทำให้เกิดคลื่นกระแทก จึงเป็น 2 สาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งกระจกแตก ตึกร้าว หรือหลังคาถล่ม และทำให้อุณหภูมิลดลง ไม่ใช่เกิดจากการที่วัตถุนั้นตกลงกระทบโลก เพราะมีการคาดการณ์ว่าสะเก็ดอุกกาบาตก่อนที่จะแตกกระจายหลังจากเสียดสีชั้นบรรยากาศน่าจะหนักประมาณ 10 ตัน ซึ่งถ้าหากมันตกกระทบพื้นโลกความเสียหายคงจะประเมินค่าไม่ได้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คล้ายกับที่เกิดในประเทศไทยเมื่อปี 2552 ที่ จ.พิษณุโลก พบเศษอุกกาบาตขนาดเท่ากำปั้นตกลงใส่หลังคาบ้านประชาชน ซึ่งเราก็ไม่สามารถจะบอกหรือคำนวณได้ว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร เนื่องจากมันมีขนาดเล็ก



"ไม่ต้องตกใจหรือตื่นกลัวต่อเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ขอให้ตระหนักเอาไว้บ้างว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปกติทุกวันของโลก เพราะวันๆ หนึ่งจะมีเศษอุกกาบาตตกลงมาเป็นตันตามทะเล มหาสมุทร หรือป่าเขา แต่เนื่องด้วยปัจจุบันความเป็นชุมชนเมืองของมนุษยชาติได้ขยายตัวมากขึ้น ทำให้โอกาสที่จะถูกวัตถุนอกโลกพุ่งชนก็มีมากขึ้นตามไปด้วย" ผอ. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุ



ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติระบุว่า จากการดูคลิปเหตุการณ์ในรัสเซียจากสำนักข่าวต่างประเทศ สันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นอุกกาบาตขนาดเล็กที่หลุดเข้ามาในวงโคจรของโลกและระเบิดในบรรยากาศโลก ทำให้เห็นเป็นแสงสว่างวาบ อุกกาบาตขนาดเล็กนี้เข้ามาสู่บรรยากาศด้วยความเร็วมากกว่าเสียงจนสังเกตเห็นภาพแสงขาวๆ พุ่งพาดผ่านท้องฟ้าก่อนจะมีเสียงและคลื่นกระแทกตามมา และเนื่องจากอุกกาบาตชิ้นนี้ระเบิดในบรรยากาศจึงยังไม่พบรายงานว่ามีผู้พบเห็นเศษชิ้นส่วนของอุกกาบาตนี้ ทั้งนี้ ยังสรุปไม่ได้แน่ชัดว่าวัตถุนี้คืออะไรจนกว่าจะนำชิ้นส่วนมาศึกษาวิเคราะห์หาองค์ประกอบและที่มา



"ตามปกติจะมีอุกกาบาตขนาดเล็กหลุดเข้ามาในบรรยากาศของโลกทุกๆ วัน โดยทั่วไปไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ แต่ครั้งนี้วัตถุนี้อาจมีขนาดใหญ่กว่าและมีมวลรวมหลายตัน เมื่อเข้ามาในบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงจึงเกิดการระเบิดเหนือพื้นโลก 20-30 ก.ม. เห็นแสงสว่างวาบและมีเสียงระเบิดตามมาเป็นระลอกในภายหลัง และถึงแม้ว่าจะมีโครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกของนาซ่าและหลายหน่วยงานคอยติดตามวัตถุลักษณะเช่นนี้ แต่ยังไม่สามารถตรวจจับวัตถุขนาดเล็กๆ ที่อาจมีวงโคจรผ่านเข้าใกล้โลกได้ทั้งหมด เนื่องจากสว่างน้อยและมีจำนวนมากนับล้านวัตถุ" ดร.ศรัณย์กล่าว

17 ก.พ. 56 เวลา 11:27 8,789 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...