"ผมอยากดัง" ปากคำจาก"เอิร์ก เลเดอเรอร์" เจ้าของมิวสิควิดีโอฉาว - วธ.ชี้ก่อปัญหาสังคม

 

"ผมอยากดัง แล้วเมืองไทยต้องฉาวเท่านั้นถึงจะดังได้" คือคำสารภาพจากใจของเอิร์ก-องอาจ เลเดอเรอร์

 

พูดเพียงเท่านี้คนส่วนใหญ่อาจส่ายหน้า ว่าไม่รู้จักแต่หลายคนคงพยักหน้าบอกว่ารู้ทันที หากบอกว่าเขานี่แหละเป็นเจ้าของเพลง "เป๊ะ" ที่นำนางแบบเซ็กซี่ ใส่ชุดชั้นใน มาร่ายลีลาในมิวสิควิดีโอที่ขนาดฉบับเต็มยังไม่ออก มีเพียงทีเซอร์พร้อมถ้อยความเชิญชวนจากสาวๆ ที่แม้จะนุ่งน้อยชิ้นอยู่แล้ว ก็ยังอุตส่าห์บอกอีกว่า ถ้าอยากจะรู้ว่าถอดขนาดไหน ต้องตามดูกัน ดูกันเยอะๆ นะคะ ซึ่งแน่นอนถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงขั้น-นี่มันเอวี ชัดๆ, รู้ไหมว่าทำให้วงการเสื่อมเสียแค่ไหน คิดแต่จะดัง

 

อย่างไรก็ตาม ในอีกทางหนึ่งก็มีคนเข้าไปให้กำลังใจอยู่บ้างว่าเป็น "งานศิลปะ"

ซึ่งทั้งหมดนี้เจ้าตัวว่ารู้ดีว่าเป็นสิ่งที่ต้องเจอ เพราะทั้งหมดที่เห็นในเอ็มวีนั้นคือความตั้งใจ ไม่ใช่ไม่ทันคิด หรืออีกสารพัดเหตุผลอย่างที่คนอื่นๆ ชอบอ้าง

"ผมอยากเดินสายหาเงินที่เมืองนอก กะเอาเป็นผลงานให้ฝรั่งดู" หนุ่มลูกครึ่งไทย-เยอรมัน วัย 25 บอก

โดยก่อนหน้านั้นเขาคือ "เอิร์ก ลูกทุ่งบอยแบนด์ สยามคันทรี่" ก่อนจะแยกเดี่ยวมาเป็น "เอิร์ก ทีซี" ที่ยังคงสังกัดบริษัท แต่รับงานร้องเพลงตามร้านอาหารไทย และงานไทยต่างๆ ที่จัดขึ้นในเยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยียม และอีกหลายประเทศในยุโรปได้รายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ยังไม่พอ

"ผมไม่ได้อยากจะดราม่า" ชั่วขณะที่คุยกันเขาออกตัวอย่างนั้น

"แต่แม่ป่วยเป็นมะเร็งรักษาตัวอยู่ที่เยอรมนี ต้องใช้เงินเยอะ" 

จึงตัดสินใจออกมาตั้งค่าย "เลเดอเรอร์" เอง เพื่อรับเงินเต็มๆ 

"ผมตั้งใจจะยกระดับลูกทุ่งให้ไม่เชย ไม่ให้ถูกมองว่าเป็นเพลงเฉพาะของคนรากหญ้า" 

ขณะเดียวกันก็รู้ว่าถ้ามาแบบธรรมดาคงไม่เกิด เลยสร้างความฮือฮาด้วยการมาแบบเซ็กซี่

"เตรียมใจไว้อยู่แล้วว่าคงโดนด่า แต่ถ้าแลกกับการมีงาน ได้เดินสายเมืองนอก ผมว่ามันก็คุ้ม 

"แล้วที่นั่นเขาวัดกันที่ยอดวิวในยูทูบว่าใครดังหรือไม่ดัง

"ผมก็ไม่ได้หวังขายในเมืองไทย แค่ขอพื้นที่ในยูทูบให้คนได้รู้จักเท่านั้น"

ส่วนคำวิจารณ์ที่ได้ เขาก็ว่า ถ้าไม่นำมาคิด มันก็จบ

"การทำงานทุกอย่างมันมาคู่กับคำวิจารณ์ ถ้าโดนด่าแล้วไม่เข้มแข็ง คงตายไปแล้ว แต่ถ้าใจเราฟังแต่ไม่คิด มันก็จบ"

ส่วนถ้าจะมองในมุมทำให้วงการลูกทุ่งเสื่อมเสีย เขาไม่เห็นด้วย

"ความเป็นลูกทุ่งยังมีอยู่ ถ้าฟังเพลงแล้วคุณจะรู้ ทั้งเนื้อหา อักขระ ลูกเอื้อน เพียงแต่เราทำให้ร่วมสมัยโดยเอ็มวีให้เซ็กซี่เหมือนของเมืองนอก"

แล้วเหมาะสมกับเมืองไทยไหม? 

กับคำถามนี้เขาตอบทันที

"ขนาดนักร้องหญิงที่มายืนเกา ยังมีเพลงออกมาได้ ของผมเบากว่าตั้งเยอะ ทำไมจะออกไม่ได้

"แล้วคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จริง เอะอะก็ด่า

"มีใครรู้บ้างว่าเพลงฉ่อย ลำตัดเขาก็ใช้เสน่ห์ทางเพศเป็นจุดขาย อย่างลิเกพอลาโรงก็มีผู้หญิงแต่งตัวโป๊ๆ เขาเรียกตัวยายฉิม มาเต้น

"ถ้าจะว่าผมทำเพราะเงิน ก็ใช่ แต่ศิลปิน ดาราที่ไหนไม่ทำเพราะเงินบ้าง"

ทำ..แม้หลายคนจะค้านว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมหรือ?

"เอาอะไรมาวัดว่าดีหรือไม่ดี เหมาะหรือไม่เหมาะล่ะ" เขาย้อนถาม

โดยเฉพาะกับสังคมไทยที่ตอนนี้ที่ "ความดัง" ดูเหมือนจะมีค่ายิ่งกว่าใดๆ


ความน่ากลัวของเรื่องที่"ใครๆ ก็ทำกัน"

"จริงๆ เพลงลูกทุ่งเป็นสิ่งที่สวยงาม จริงอยู่ที่มีความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แต่เพลงลูกทุ่งที่ได้รับการยอมรับ ได้รับความนิยม ดังมาทุกจนวันนี้เพราะมันมีความดีงามอยู่ในตัว การเอาอะไรที่ไม่ใช่ลูกทุ่งแท้มาสร้างกระแส มันก็จะเป็นกระแสเพียงชั่วคราว" คือสิ่งที่ ประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ให้ความเห็น

"ถ้าพูดโดยรวมๆ ทั่วไป จริงอยู่ว่าอะไรที่ไม่ผิดกฎหมายสามารถทำได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม"

กรณีอย่างเพลง "เป๊ะ" นี้ เขาว่าความจริงแล้วมีให้เห็นบ่อย ทั้งจากเพลง หนังสือ และสื่ออื่นๆ 

"เป็นเรื่องที่กระทรวงเห็นว่าเกิดขึ้นบ่อย เป็นเรื่องเรื้อรัง และควรแก้ปัญหาร่วมกันโดยหาทางออกร่วมกัน"

หนึ่งในวิธีที่จะทำนั้น คือ การจัดเสวนา ระดมความเห็นเรื่องการใช้ผู้หญิงเป็นสื่อโฆษณา หรือกิจกรรมส่งเสริมการตลาด 

"ต้องการให้ดูว่าสิ่งเหล่านี้เมื่ออยู่ในบริบทสังคมไทยเราควรทำได้แค่ไหน โดยจะเชิญทุกภาคส่วน ถ้าด้านคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรสตรี สมาคมโฆษณา สื่อทุกแขนง นักวิชาการ ผู้ชม รวมถึงเด็กและเยาวชน เพื่อคุยกันว่าปรากฏการณ์เช่นนี้สังคมไทยยอมรับได้ไหม และอะไรคือมาตรการกลางที่เราจะใช้แก้ปัญหากัน"

งานเสวนาดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมรอยัล ซิตี้ ปิ่นเกล้า

"หลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นเราไม่ได้โจมตีว่าเขาผิดหรือใครผิด เราใช้คำว่าเป็นวิธีการเดิมๆ ทำให้เป็นการคุ้นชินของสังคมไทยว่านี่เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำ เราไม่ต้องการให้เกิดความคุ้นชินอย่างนั้น ซึ่งถ้าเราเปลี่ยนตรงนี้ได้มันจะยั่งยืน"

"ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ไม่ใช่แค่กระทรวงวัฒนธรรมเท่านั้น"

"เพราะนี่คือสังคมไทยของเรา ที่ลูกหลานจะต้องเราเติบโตมา ถ้าเราปล่อยภาพแบบนี้อะไรจะเกิดขึ้น เราต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ อย่างน้อยก็ในฐานะที่เป็นพลเมืองคนหนึ่ง"

 

ที่มา : มติชน

17 ก.พ. 56 เวลา 11:20 4,405 1 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...