ผม บนศีรษะของคนเราถือเป็น " มงกุฎแห่งความงดงาม " ของมนุษยชาติ สังคมให้ความสำคัญอย่างมาก ต่อผมและทรงผม หลายๆ สภาวะทำให้ผมร่วงได้ เช่น โรคภัยไข้เจ็บ และการดูแลผมที่ไม่ถูกต้อง เมื่อไรที่ผมร่วงเป็นจำนวนมากๆ หรือหวีผม และแปรงผมแล้วผมร่วงมาก ควรจะพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อการวินิจฉัย และรักษาผมที่ถูกต้อง
แพทย์ผิวหนังเป็นแพทย์เฉพาะทาง ที่ชำนาญในการรักษาโรคของผมและผิวหนัง จะซักประวัติคนไข้ เกี่ยวกับอาการและยา รวมทั้งวิตามินและอาหารเสริม ใน 6 เดือนหลัง ก่อนพบแพทย์ ประวัติผมร่วงในครอบครัว ความเจ็บป่วย และสุขนิสัยในการดูแลผม ในผู้หญิงต้องคิดถึงผลจากฮอร์โมน โดยซักประวัติ ประจำเดือน ภาวะตั้งครรภ์ และภาวะหมดประจำเดือน หลังจากตรวจดูหนังศีรษะ และเส้นผมแล้ว อาจตรวจดูเส้นผมด้วยกล้องจุลทรรศน์ บางครั้ง อาจต้องตัดชิ้นเนื้อหนังศีรษะ และเจาะเลือด เพื่อหาสาเหตุของผมร่วง
1.การเติบโตของผมตามปกติ
90% ของผมบนหนังศีรษะ เป็นผมที่กำลังเจริญเติบโต แต่ละเส้นมีอายุระหว่าง 2-6 ปี อีก 10% ของผม อยู่ในระยะพัก ซึ่งใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ จากนั้นก็จะค่อยๆ หลุดร่วงไป เมื่อผมร่วง จะมีผมเส้นใหม่ แทนที่ในรากผมอันเดิม และเริ่มวงจรผมที่เจริญเติบโตต่อไป ผมบนหนังศีรษะยาว 1/2 นิ้ว ต่อเดือน เมื่ออายุมากขึ้น จะโตช้าลง ผมสีบลอนด์จะมีเส้นผมมากกว่าสีอื่น มีประมาณ 140,000 เส้น ผมสีเข้มมีประมาณ 105,000 เส้น ผมสีแดง จะมีประมาณ 90,000 เส้น ผมที่ร่วง ส่วนใหญ่จะร่วงตามวงจรปกติ เฉลี่ย 50-100 เส้น/วัน
2.สาเหตุของผมร่วงที่ผิดปกติ
การใช้เครื่องสำอางและดูแลผมอย่างไม่ถูกต้อง
- ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ที่ใช้สารเคมีกับผม เช่น ย้อมผม, โกรกผม, กัดสีผม, ยืดผม และดัดผม ถ้าทำอย่างถูกต้องแล้ว จะไม่มีการทำลายผม ผมจะอ่อนแอและแตกหักง่าย ถ้าใช้สารเคมีพวกนี้บ่อยเกินไปหรือนานเกินไป ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ให้หยุดใช้จนกว่าผมจะงอกใหม่
- ทรงผมที่รวบตึงแน่น เช่น ทรงหางม้า หรือผูกเปีย ไม่ดึงจนรั้งมากเกินไป ควรทำสลับกับผมทรงอื่นๆ ถ้าทำนาน ผมจะร่วงบางลง โดยเฉพาะตำแหน่งด้านข้าง ของหนังศีรษะการใช้แชมพู การหวี หรือแปรงผมบ่อยเกินไป ก็ทำลายผมทำให้แตกหัก ควรใช้ครีมนวด หรือคอนดิชั่นเนอร์หลังสระผม จะทำให้หวีง่าย และจัดทรงผมได้ง่ายขึ้น เมื่อผมเปียก จะเปราะบางกว่าผมแห้ง ดังนั้น การเช็ดถูแรงๆ ด้วยผ้าเช็ดตัว หรือการหวีและแปรงผม ขณะผมเปียกน้ำควรจะหลีกเลี่ยง คำโบราณที่บอกว่า ให้แปรงผมวันละ 100 ครั้ง จึงไม่ควรทำ ควรใช้หวีซี่ห่างๆ หรือใช้แปรงที่ปลายเรียบหวีผม
ผมร่วงหรือล้านจากพันธุกรรม
- เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด ของผมร่วง พบเป็นกรรมพันธุ์ อาจได้จากทั้ง ทางพ่อหรือแม่ก็ได้ มักมีประวัติครอบครัว ผู้หญิงจะมีอาการผมบางๆ แต่ไม่ล้าน พบได้ตั้งแต่วัยรุ่น จนถึงอายุ 20-30 ปี รักษาไม่ค่อยได้ผล การใช้ยาอาจช่วยได้บ้าง
- การรักษา โดยใช้น้ำยาปลูกผม ทาหนังศีรษะวันละ 2 ครั้ง ในผู้ชายอาจกินยา ฟีนาสเตอร์ไรด์ร่วมด้วย ในผู้หญิงอาจใช้วิธีปลูกผมในกรณีที่ ผมร่วงถาวร และรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล เป็นวิธีการผ่าตัด ย้ายผมจากบริเวณที่หนาแน่น ไปปลูกถ่ายลงบริเวณที่บาง ใช้ทั้งเวลา และเงินจำนวนมาก และเจ็บตัว คงต้องคิดให้ดีก่อนตัดสินใจทำ แพทย์ผิวหนังจะช่วยแนะนำคนไข้ว่า ควรใช้วิธีใด ที่เหมาะสมกับคนไข้ ตามความต้องการ และจำนวนเงินในกระเป๋าของคนไข้
ผมร่วงเป็นหย่อมๆ จากความเครียด
- ผมร่วงชนิดนี้ ร่วงเป็นหย่อมๆ เหลือแต่หนังศีรษะเรียบๆ กลมๆ ขนาดเท่ากับเหรียญบาท หรือใหญ่กว่า อาจจะร่วงทั้งศีรษะ หรือร่วงลามถึงขนตามตัว แต่เกิดได้ค่อนข้างน้อย อาจเป็นกับเด็กหรือผู้ใหญ่ได้ทุกวัย สาเหตุไม่ทราบ นอกจากผมร่วงแล้ว คนไข้มีสุขภาพปกติดี ส่วนใหญ่แล้วจะหายได้เอง
ผมร่วงหลังคลอดลูก
- ระหว่างตั้งครรภ์ ผมของคุณแม่จะหนามากขึ้น หลังคลอดแล้ว 2-3 เดือน ผมจะร่วง อาจร่วงเป็นระยะเวลา ประมาณ 1-6 เดือน ส่วนใหญ่แล้วจะหายได้เอง
ผมร่วงหลังไข้สูง, ติดเชื้อ, ไข้หวัดใหญ่รุนแรง
ความเจ็บป่วย ทำให้ผมเข้าระยะหยุดเจริญเติบโต หลังจากไข้สูง ป่วยหนัก หรือติดเชื้อ 4 อาทิตย์ถึง 3 เดือน จะมีผมร่วงมาก จนคนไข้ตกใจ ( คนไทยเรียกว่า จับไข้หัวโกร๋น ) จะหายได้เอง
โรคของต่อมไทรอยด์ทำให้ผมร่วง
ทั้งโรคไทรอยด์ที่มีอาการ หรือไม่มีอาการ ก็สามารถทำให้ผมร่วงได้ แพทย์จะเจาะเลือด เพื่อการวินิจฉัยและรักษา เมื่อรักษาแล้ว ผมจะดกดำเหมือนเดิม
ผมร่วงจากการได้อาหารโปรตีนไม่พอ
ในกรณีคนไข้ลดน้ำหนัก หรือมีอุปนิสัยการกิน ที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการขาดโปรตีน ร่างกายจะพยายามสำรองโปรตีนไว้ โดยเปลี่ยนผม จากระยะการเจริญเติบโต เข้าสู่ระยะพัก หลังจากนั้น 2-3 เดือน ผมจะเริ่มร่วง แต่จะกลับสู่ภาวะปกติได้ ถ้าได้รับโปรตีนในอาหาร อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ผมร่วงจากยา
ยาบางอย่างอาจทำให้ผมร่วงได้ชั่วคราว เช่น ยารักษาโรคเก๊าท์ ยาแก้ปวดข้อ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาโรคความดันสูง ยาลดความเข้มข้นของเลือด ยาวิตามินเอในขนาดสูงๆ ก็ทำให้ผมร่วงได้
ผมร่วงจากยารักษามะเร็ง
ยารักษามะเร็ง จะทำให้เซลล์ผมหยุดแบ่งตัว ผมจะบางและแตก จะเกิดหลังจากได้ยา 1-3 อาทิตย์ ผมอาจจะร่วงได้ถึง 90% เมื่อหยุดยา ผมจะกลับขึ้นใหม่เหมือนเดิม ช่วงผมบางมากๆ อาจต้องใส่วิกผมไปก่อน
ผมร่วงจากยาคุมกำเนิด
ผู้หญิงที่ผมบาง ขณะกินยาคุมกำเนิด มักมีประวัติผมบางแบบพันธุกรรม ในครอบครัว ถ้าผมบางเกิดขึ้น หลังกินยาคุม อาจให้สูตินรีแพทย์ เปลี่ยนยาคุมให้เป็นตัวอื่น อาจมีผมร่วง หลังจากหยุดยาคุม 2-3 เดือน และอาจร่วงได้นาน ถึง 6 เดือน ลักษณะนี้ คล้ายๆ กับผมร่วงหลังคลอดลูก
ผมร่วงจากการขาดธาตุเหล็ก
การขาดธาตุเหล็ก บางครั้งทำให้ผมร่วง เนื่องจากรับประทานอาหาร ที่มีธาตุเหล็กไม่พอเพียง หรือร่างกายดูดซึม ธาตุเหล็กได้ไม่ดี ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามากๆ อาจเป็นสาเหตุให้ขาดธาตุเหล็กได้ การตรวจเลือด จะช่วยในการวินิจฉัย การรักษาทำได้โดยให้กินยาเม็ดที่มีธาตุเหล็ก
ผมร่วงจากการผ่าตัดใหญ่หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง
หลังผ่าตัดใหญ่ 1-3 เดือน จะเริ่มมีผมร่วง แต่จะหายได้เองภายใน 2-3 เดือน แต่คนไข้ที่มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง จะมีผมร่วงอย่างไม่มีกำหนด
ผมร่วงจากเชื้อราที่หนังศีรษะ
เกิดจากการติดเชื้อรา หนังศีรษะมีลักษณะเป็นขุยๆ และขยายวงออก ผมจะหัก และส่วนหนังศีรษะจะบวมแดง และ มีน้ำเหลืองออก โรคนี้ติดต่อได้ง่ายในเด็ก และต้องรักษา โดยให้ยากินรักษาเชื้อรา
ผมร่วงจากการดึงผมเอง
เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยการบิด หรือดึงผม ขนคิ้ว ขนตา จนหลุดร่วงออกมา บางครั้งเป็นการตอบสนอง ต่อความเครียด บางครั้งเป็นสัญลักษณ์ของผู้ป่วย ที่มีปัญหาทางจิตใจ