พบเครื่องปั้นดินเผาประเภทก๊อกสูบยาโบราณในแปลงเพาะปลูกริมฝั่งแม่น้ำโขง นักโบราณคดีขอนแก่นชี้มีอายุประมาณ 4-500 ปี เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชน
เมื่อ 12 กพ. นายสุชัย ตั้งชูพงศ์ นายอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยนายกิตติพงษ์ สนเล็ก หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น พร้อมคณะได้ลงตรวจสอบพื้นที่การเกษตรของนายหนูกร คมป้อง อายุ 53 ปี ราษฎรบ้านปากโสม ตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม หลังพบเครื่องปั้นดินเผาประเภทก๊อกสูบยาจำนวนมากขณะไถพรวนเตรียมการเพาะปลูก
นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า ก๊อกสูบยาที่พบเป็นของคนสมัยอาณาจักรล้านช้าง เมื่อประมาณ 400-500 ปีที่แล้ว เนื่องจากพบจำนวนมากจึงอาจจะเป็นแหล่งผลิตด้วยการขึ้นรูปแล้วเอา 2 ชิ้นมาปะกบกันแล้วทำลวดลายทีละชื้น หรืออาจมีแม่พิมพ์แล้วนำมากดก็ได้ พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมเนื่องจากมีแม่น้ำ 2 สายไหลมาบรรจบกัน(แม่น้ำโขงกับลำน้ำตรอนจากลาว) จึงตั้งเป็นชุมชนไว้คุมพื้นที่ตอนในอีกชั้นหนึ่ง ก๊อกสูบยาจะพบมากในชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะถูกทำลายเนื่องจากสภาพ วัน เวลาเปลี่ยนไปเพราะการใช้ประโยชน์ของพื้นที่
นายกิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่พบใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า เป็นสิ่งที่บอกได้ว่าชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขงสมัยนั้นเขานิยมใช้ก๊อกสูบยา ซึ่งภาคกลางจะไม่พบสิ่งเหล่านี้ นอกจากพวกที่ถูกกวาดต้อนไปตั้งรกรากใหม่ที่ภคกลางเท่านั้นแต่ก็ไม่ปรากฏสิ่งนี้ให้เห็น
จากนั้นคณะได้ไปดูรอยพระพุทธบาท ที่วัดพระพุทธบาทผาจ่อง ตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม ซึ่งเชื่อว่าเป็นรอยพระบาทขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนายังชมพูทวีป และประทับรอยไว้บนแผ่นหินขนาดใหญ่ ซึ่งรอยพระบาทมีความยาว 2 เมตร 37 เซนติเมตร กว้าง 80 เซนติเมตร อันเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนเข้าไปกราบไหว้บูชาไม่ขาดสายเช่นกัน