ครรภ์เป็นพิษ ภัยร้ายใกล้ตัวของเหล่าคุณแม่

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          หลังจากกรณี สาวมาด เมกะแดนซ์ นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง เจ้าของเพลงฮิตดาวมหาลัย มีอาการครรภ์เป็นพิษต้องคลอดก่อนกำหนด จนทำให้ขณะนี้เธอมีอาการโคม่าและต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดในห้องไอซียู โรงพยาบาลกรุงเทพ  เหตุเมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ตามที่ได้รายงานข่าวไปนั้น เรื่องนี้สร้างความวิตกกังวลให้กับคนที่กำลังตั้งครรภ์ หรือคุณผู้หญิงที่วางแผนมีบุตรกันเป็นอย่างมาก หวั่นว่าหากตั้งครรภ์แล้วจะเป็นดังกรณีสาวมาด

          และเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง ครรภ์เป็นพิษ เพื่อให้คุณแม่ทั้งหลายได้รู้จัก อาการครรภ์เป็นพิษ สาเหตุครรภ์เป็นพิษ เพื่อไว้ระมัดระวังและป้องกันตัวเอง และวันนี้กระปุกดอทคอมมีสาระน่ารู้เรื่อง ครรภ์เป็นพิษเกิดจากอะไร มาฝากกันค่ะ  

 ครรภ์เป็นพิษคืออะไร?

          ภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือ ภาวะพิษแห่งครรภ์ (Pregnancy-induced Hypertension หรือ Pre-eclampsia/Preeclamsia ซึ่งศัพท์ดั้งเดิม คือ Toxemia of pregnancy) หมายถึง ภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตร (มม.) ปรอท ร่วมกับมีภาวะโปรตีน หรือไข่ขาวในปัสสาวะในสตรีตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ ไปจนกระทั่งหลังคลอด 1 สัปดาห์ และภายหลังคลอดภาวะครรภ์เป็นพิษจะค่อย ๆ หายไปเอง

 สาเหตุของครรภ์เป็นพิษคืออะไร?

          สาเหตุของการเกิดครรภ์เป็นพิษ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหรือฮอร์โมนต่อมไร้ท่อบางตัว หรือจากกรรมพันธุ์ สันนิษฐานว่าเกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างโปรตีนบางตัวที่สร้างขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในสตรีตั้งครรภ์ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างหลอดเลือดไปเลี้ยงรกได้เพียงพอ บางส่วนของรกจึงขาดเลือด เกิดการตายของเนื้อรกบางส่วน มีการปล่อยสารที่ส่งผลให้หลอดเลือดทั่วร่างกายของสตรีตั้งครรภ์หดตัว

 สตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษคือใคร?

          1.สตรีตั้งครรภ์แรกหรือตั้งครรภ์แรกกับคู่สมรสใหม่

          2.สตรีตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี

          3.ระยะห่างของการตั้งครรภ์ ห่างจากครรภ์ก่อนมากกว่า 10 ปี

          4.สตรีตั้งครรภ์ที่มีประวัติครรภ์เป็นพิษในครรภ์ครั้งก่อน

          5.สตรีตั้งครรภ์ที่มีญาติพี่น้องสายตรง (มารดา และ/หรือ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน) มีภาวะครรภ์เป็นพิษ

          6.สตรีตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัวก่อนตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงโรคไต / โรคไตเรื้อรัง / โรคลูปัส / โรคเอสแอลอี

          7.สตรีตั้งครรภ์แฝด

 ครรภ์เป็นพิษแบ่งออกเป็นกี่ชนิด อะไรบ้าง?

          ครรภ์เป็นพิษแบ่งตามความรุนแรงเป็น 2 ชนิด คือ

          1. ชนิดรุนแรงน้อย คือ สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษโดยมีความดันโลหิตสูงไม่เกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท หรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน หรือไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย และทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์

          2. ชนิดรุนแรงมาก คือ ภาวะครรภ์เป็นพิษที่มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอท หรือมีโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 2 กรัมต่อวัน หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัว มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักขณะตั้งครรภ์โดยที่ไม่เคยมีอาการชักมาก่อนตั้งครรภ์ (Eclampsia) และอาจเกิดภาวะเลือดออกในสมองจนมีอันตรายต่อชีวิตได้

 อาการของครรภ์เป็นพิษมีอะไรบ้าง?

          1.มีความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท

          2.ตรวจพบโปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะ

          3.น้ำหนักเพิ่มมากอย่างรวดเร็ว

          4.มีอาการบวมตามใบหน้า มือ ข้อเท้าและเท้า

          5.ปวดศีรษะโดยเฉพาะบริเวณท้ายทอย หน้าผาก โดยรับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ดีขึ้น

          6.มีตาพร่ามัว อาจตาบอดชั่วขณะได้

          7.จุกแน่นหน้าอก หรือบริเวณลิ้นปี่

          8.หากอาการรุนแรงอาจมีอาการชักกระตุกทั้งตัว เกิดเลือดออกในสมองได้

 ภาวะแทรกซ้อนของครรภ์เป็นพิษมีอะไรบ้าง?

          ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้จากครรภ์เป็นพิษ คือ

   1. ภาวะแทรกซ้อนต่อมารดา

        เสียชีวิต มักเกิดจากมีเลือดออกในสมองจากหลอดเลือดในสมองแตก

        เกิดอาการชัก

        ตาบอด อาจเป็นชั่วคราว หรือถาวร

        มีภาวะน้ำท่วมปอด

        มีเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ จากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

   2. ภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์

        มีภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์

        มีภาวะน้ำคร่ำน้อย ส่งผลให้ทารกถูกกดเบียดทับจากน้ำหนักมารดา ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตผิดปกติได้

        มีการคลอดก่อนกำหนด

        มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

        ทารกเสียชีวิตในครรภ์

        หัวใจทารกเต้นช้า จากการขาดออกซิเจน

 อาการผิดปกติที่สงสัยภาวะครรภ์เป็นพิษที่ต้องรีบมาพบแพทย์มีอะไรบ้าง?

        เมื่อตั้งครรภ์ และมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ หรือรีบพบแพทย์ก่อนวันนัด คือ

        ปวดศีรษะรุนแรง และมีอาการตาพร่ามัว หรือมองเห็นแสงวูบวาบ

        มีอาการจุกแน่นใต้ลิ้นปี่

        มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนมาก

        น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

        มีอาการบวมตาม ใบหน้า มือ ข้อเท้า และเท้า

 ครรภ์เป็นพิษรักษาอย่างไร?

          ในภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดไม่รุนแรง อาจไม่มีความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ต้องมาติดตามการรักษา อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด นอนพักมาก ๆ ลดอาหารรสจัด สังเกตนับลูกดิ้นทุกวัน วัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ

          เฝ้าระวังอาการของโรคที่ต้องรีบมาพบแพทย์ เช่น ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นใต้ลิ้นปี่ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง สามารถรอจนครบกำหนดคลอด แล้วจึงกระตุ้นให้คลอด สามารถคลอดทางช่องคลอดโดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศ หรือคีมคีบช่วยคลอดได้

          หากเป็นครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน มีการวัดความดันโลหิตอย่างใกล้ชิด หากความดันโลหิตสูงมากกว่า หรือเท่ากับ 160/110 มิลลิเมตรปรอท จำเป็นต้องได้รับยาลดความดันโลหิต เพื่อป้องกันหลอดเลือดในสมองแตก มีการติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์โดยเครื่องอัลตราซาวด์เป็นระยะ ๆ จำเป็นต้องได้รับยาป้องกันการชักระหว่างรอคลอดจนถึงหลังคลอด 24 ชั่วโมง

          ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีความจำเป็นต้องรับยุติการตั้งครรภ์ซึ่งอาจให้ยากระตุ้นชักนำการคลอด ทั้งนี้ สามารถคลอดทางช่องคลอดโดยใช้เครื่องดูดสูญญากาศหรือคีมช่วยคลอด แต่จะผ่าตัดคลอดเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น มารดามีภาวะปากมดลูกไม่เปิด เป็นต้น

 ควรดูแลผู้ป่วยครรภ์เป็นพิษหลังคลอดอย่างไร?

          ในรายที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรง มีความจำเป็นต้องได้รับยาป้องกันการชักต่อจนครบ 24 ชั่วโมงหลังคลอด หากมีความดันโลหิตสูงเกิน 160/110  มิลลิเมตรปรอท อาจจำเป็นต้องได้ รับยาลดความดันโลหิต และอาจจำเป็นต้องวัดความดันโลหิตเป็นระยะ ๆ ทุก 1-2 วัน อย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ ต่อจากนั้นอาจวัดความดันโลหิตทุกสัปดาห์ จนอย่างน้อยประมาณ 6-12 สัปดาห์หลังคลอด หรือจนกว่าจะหยุดยาลดความดันโลหิต หรือตามแพทย์ที่รักษาดูแลแนะนำ

          สามารถให้นมทารกได้ปกติ โดยยาป้องกันการชัก ไม่มีผลต่อทารกที่ได้รับนมมารดา แต่ทั้งนี้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษา

          โดยทั่วไปอาการต่าง ๆ จะดีขึ้นหลังคลอด โดยหากเกิน 12 สัปดาห์หลังคลอดแล้วยังคงมีความดันโลหิตสูง อาจเป็นโรคความดันโลหิตสูงชนิดเรื้อรัง ควรพบแพทย์อย่างต่อเนื่องตามแพทย์นัด เพื่อทำการรักษาต่อไป

          เฝ้าระวังภาวะครรภ์เป็นพิษในครรภ์ต่อไป โดยควรฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่รู่ว่าตั้งครรภ์ และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

ข้อห้ามสำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่ครรภ์เป็นพิษมีดังนี้

          1. งดทำงานหนัก งดเดินชอปปิ้ง ให้พักผ่อนมาก ๆ

          2. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม

          3. งดมีเพศสัมพันธ์อย่างเด็ดขาด เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์มีผลทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น เลือดสูบฉีดจากหัวใจมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

 เมื่อมีครรภ์เป็นพิษ เมื่อไหร่ต้องมาโรงพยาบาลฉุกเฉิน?

          โดยปกติ เมื่อได้รับวินิจฉัยว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษ ในช่วงแรกแพทย์จะให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการ และเฝ้าระวังผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อน เมื่อมั่นใจว่าเป็นชนิดไม่รุนแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ แพทย์จึงอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล โดยให้พัก ผ่อนอยู่บ้าน ให้วัดความดันโลหิตที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือที่บ้าน (ถ้าสามารถมีเครื่องวัดความดันโลหิตไว้ใช้เอง) ตรวจนับการดิ้นของทารกเองโดยนับเมื่อประมาณ 1 ชั่วโมงหลังอา หาร รวมกันสามครั้ง ต้องดิ้นมากกว่าวันละ 10 ครั้ง และแพทย์อาจนัดพบสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค และตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์

แต่หากพบอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบมาโรงพยาบาลฉุกเฉิน

        ความดันโลหิตมากกว่า หรือเท่ากับ 160/110 มิลลิเมตรปรอท

        ทารกดิ้นน้อยกว่าวันละ 10 ครั้ง

        มีอาการน้ำเดิน (มีน้ำผิดปกติไหลออกทางช่องคลอด)

        ปวดศีรษะรุนแรง ตาพร่ามัว จุกแน่นใต้ลิ้นปี่

 มีวิธีป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างไร?

          ยังไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้ 100% แต่เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ หรือเมื่อเตรียมตั้งครรภ์ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้โดยมีวิธีการดังนี้

        ลดอาหารรสเค็ม

        ดื่มน้ำให้มากกว่า หรือเท่ากับ 8 แก้วต่อวัน เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม

        เพิ่มโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม ตับ ในอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน อาหารผัดน้ำมัน และอาหารทอด

        พักผ่อนให้เพียงพอ

        ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

        พยายามยกขาสูงเมื่อมีโอกาส เช่น ขณะนั่ง นอน

        หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ โคล่า และเครื่องดื่มชูกำลัง)

        ฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าตั้งครรภ์ หลังจากนั้นปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ และ/หรือลดโอกาสเกิดความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษ

 



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

- haamor.com

- siamhealth.net

- dumex.co.th

- 2jfk.com
 

Credit: http://baby.kapook.com/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88-56459.html
12 ก.พ. 56 เวลา 15:00 1,184 1 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...