ตำรวจฝรั่งเศสร่วมกับพลเมืองดีตะครุบสาวสติไม่สมประกอบหลังก่อเหตุทำลายภาพเขียนชื่อ"เสรีภาพนำประชาชน""Liberty Leading the People" ของ"เออแชน เดอลาครัวซ์" (Eugene Delacroix) จิตรกรชื่อก้องโลก
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ก่อนพิพิธภัณฑ์"ลูฟร์" แห่งใหม่ที่เมืองเลนส์ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศสจะปิด โดยหญิงสาววัย 28ปี ใช้ปากกาสีดำเขียนคำว่า "AE911"บนภาพเขียนดังกล่าว เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เห็นเหตุการณ์ช่วยกันจับตัวหญิงสาวผู้นี้ได้ทันควัน
ภายหลังการจับกุม ทางอัยการประจำเมืองเลนส์ ได้รับรายงานของจิตแพทย์ที่บันทึกสภาวะจิตของหญิงสาวผู้ก่อเหตุ ทางอัยการสรุปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หญิงสาวไม่ต้องรับผิดโทษฐานก่ออาชญกรรม
อัยการไม่ได้เปิดเผยชื่อหญิงสาว เพียงแต่ระบุเป็นคนว่างงาน มีการศึกษาระดับมหาบัณฑิต ไม่เคยมีประวัติอาชญากรมาก่อน
สำหรับคำว่า "AE911"ที่หญิงสาวฝรั่งเศสเขียนบนภาพศิลปะอันล้ำค่านั้น อาจเป็นคำย่อมาจาก" Architects & Engineers for 9/11 Truth (AE911Truth) " ซึ่งเป็นกลุ่มสถาปนิกและวิศวกร เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด(conspiracy theory)ว่า ตึกเวิลดิ์เทรดเซ็นเตอร์ ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ไม่ได้พังทลายเพราะเครื่องบินที่กลุ่มก่อการร้ายอัลกอฮิดะห์ จี้กลางอากาศขับพุ่งชน เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 แต่ที่ตึกพังยุบกองราบกับพื้นเพราะมีผู้วางแผนนำระเบิดไปวางเพื่อทำลายตึกโดยตั้งใจต่างหาก เหมือนกับการทำลายตึกเก่าๆที่เห็นกันดาษดื่นทั่วสหรัฐฯ
ด้านนายริชาร์ด เกจ ตัวแทนกลุ่ม AE911 ในสหรัฐอเมริกาให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกตกใจ คาดไม่ถึงว่าจะมีเหตุการณ์ทำลายภาพเขียนของ"เดอลาครัวซ์" คิดว่าผู้ลงมือไม่ได้เกี่ยวข้องกับสมาชิกกลุ่มAE911 ที่อยู่ในฝรั่งเศสแต่อย่างใด
ทั้งนี้ภาพเขียนของ"เดอลาครัวซ์" ไม่ได้รับความเสียหายรุนแรงและผู้เชี่ยวชาญด้านภาพเขียนลบรอยหมึกมีความยาว 12นิ้ว บริเวณด้านล่างของภาพเขียนออกเรียบร้อยแล้ว
ภาพเขียนเรื่อง"เสรีภาพ นำประชาชน"นั้น เดอลาครัวซ์ เขียนขึ้นในช่วงเหตุการณ์ปฎิวัติฝรั่งเศส เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2373
ในเวลานั้น ชาวฝรั่งเศสหลากหลายชนชั้นลุกขึ้นสู้กับการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม
ผลจากการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม บีบบังคับให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 สละราชสมบัติแก่หลุยส์-ฟิลิป ดยุกแห่งออร์ลีนส์ และรเห็จเร่ร่อนไปอยู่อังกฤษ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการปกครองขนานใหญ่ในฝรั่งเศส จนกระทั่งนำไปสู่การปกครองแบบสาธารณรัฐเต็มรูปในเวลาต่อมา