ปฐมบท "396 โรงพัก" เชื่อม-โยง-แตะ "ใคร" บ้าง?

 

ทิ้งร่องรอยไว้เพียบสำหรับโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 หลัง ที่จวนเจียนจะครบกำหนดก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยืดอายุ ขยายระยะเวลา 3 รอบ ด้วยเหตุภัยพิบัติและอุทกภัย โดยขีดเส้นตายไว้วันที่ 14 มีนาคม 2556

การแยกประมูลเป็นรายกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค (บช.ภ.) 1-9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ถูกเปลี่ยนเป็นการรวบประมูลไว้ที่ส่วนกลาง เป็นประเด็นหลักที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และกำลังถูกตรวจสอบโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 

มีการตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทผู้ชนะการประมูลเพียงรายเดียว ไม่น่าจะก่อสร้างเสร็จพร้อมกันในคราวเดียวได้ โดยบริษัทที่ได้โครงการยักษ์ใหญ่นี้ไป คือ บริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด

โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) เดิมทีสำนักงบประมาณกำหนดให้ก่อสร้างตามที่ ครม.อนุมัติไว้ ในวงเงิน 6,672,000,000 บาท ต่อมากำหนดราคากลางไว้ 6,388,000,000 บาท ซึ่งบริษัทพีซีซีฯเสนอราคาต่ำที่สุด 5,848,000,000 บาท จึงชนะการประมูลไป 

จุดเริ่มต้นของโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) อาคารที่พักอาศัย และอาคารผู้ป่วยให้กับทางราชการตำรวจ มาจากเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2552 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ขออนุมัติก่อสร้าง ไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาและอนุมัติหลักการดำเนินการ กระทั่งวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ครม.อนุมัติหลักการโครงการก่อสร้าง 

ต่อมาสำนักงบประมาณมีความเห็นให้ ตร.ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่มีอายุการใช้งานกว่า 30 ปีขึ้นไป จำนวน 396 หลัง ประกอบด้วย อาคารสถานีตำรวจขนาดใหญ่ 88 หลัง อาคารสถานีตำรวจขนาดกลาง 136 หลัง และอาคารสถานีตำรวจขนาดเล็ก 172 หลัง ภายในวงเงิน 6,672,000,000 บาท ลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ.2552-2554)

30 มีนาคม 2552 กองพลาธิการและสรรพาวุธมีหนังสือถึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ในขณะนั้น) เสนอข้อพิจารณา เกี่ยวกับแนวทางจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน)

1.จัดจ้างโดยส่วนกลาง ตร. แบบรวมการในครั้งเดียว สัญญาเดียว 2.จัดจ้างโดยส่วนกลาง ตร. แบบรวมการในครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค และทำสัญญา 9 สัญญา และ 3.จัดจ้างโดยตำรวจภูธรจังหวัด พร้อมเห็นว่าควรแต่งตั้งคณะกรรมการระดับ ตร. เพื่อพิจารณาและเลือกแนวทางดำเนินการจัดจ้างโครงการ 

วันที่ 24 เมษายน 2552 พล.ต.อ.พัชรวาทแต่งตั้งคณะกรรมการระดับ ตร. โดยมอบให้ พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. (ในขณะนั้น) เป็นประธานกรรมการ 

ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 พล.ต.ท.พงศพัศนั่งหัวโต๊ะประชุมพิจารณาแนวทางการดำเนินการจัดจ้างและการก่อสร้าง โดยพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสีย ตามที่กองพลาธิการและสรรพาวุธเสนอ 

"ที่ประชุมมีมติเห็นควรดำเนินการจัดจ้างโดยส่วนกลางและแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 มีความรวดเร็วในการดำเนินการจัดจ้างและน่าจะเป็นผลดีต่อการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารดังกล่าว โดย ตร. จะได้รับอาคารที่ทำการสำหรับไว้ใช้ในราชการในระยะเวลาใกล้เคียงกันทุกจังหวัดในการประกวดราคาเพียงครั้งเดียว

"ทั้งนี้ จะให้แต่ละภาคช่วยประกาศเชิญชวนผู้รับจ้างในพื้นที่ทราบ เพื่อให้การดำเนินการประกวดราคาเปิดกว้าง อีกทั้งเป็นการเปิดโอกาสผู้รับจ้างในทุกส่วนภูมิภาคเข้าร่วมการเสนอราคา ส่วนการดำเนินการประกวดราคา การทำสัญญา และการบริหารสัญญา รวมทั้งการเบิกจ่ายเงิน กองพลาธิการและสรรพาวุธจะเป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมด" รายงานการประชุมระบุ

วันที่ 29 พฤษภาคม 2552 พล.ต.อ.พัชวาทเสนอความเห็นชอบไปยังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล ตร.(ในขณะนั้น) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ระบุว่า โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความอนุเคราะห์เป็นกรณีพิเศษ โดยผูกพันงบประมาณปี 2552-2554 และยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกด้วย 

"ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการประกวดราคาเปิดกว้าง และเปิดโอกาสผู้รับจ้างในส่วนกลางและภูมิภาคเข้าร่วมแข่งขันราคาด้วยความเป็นธรรม เห็นควรดำเนินการจัดจ้างโดยส่วนกลางแบบรวมการครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค1-9) ทั้งนี้ จะให้ตำรวจภูธรภาคช่วยประกาศเชิญชวนผู้รับจ้างในพื้นที่ให้เข้ามาร่วมในการเสนอราคาด้วย ส่วนการดำเนินการประกวดราคา การทำสัญญา และการบริหารสัญญา รวมทั้งการเบิกจ่ายเงินค่าก่อสร้าง ตร. โดยกองพลาธิการและสรรพาวุธจะเป็นผู้ดำเนินการ" หนังสือระบุ 

กระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน 2552 นายสุเทพปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ในครั้งแรก 

อย่างไรก็ตาม ชีวิตข้าราชการตำรวจของ พล.ต.อ.พัชรวาท เมื่อก้าวขึ้นมาตำแหน่งสูงสุด ก็มีอันต้องถูกบีบให้ต้องหลุดจากเก้าอี้ 

วาระปกติในการดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ของ พล.ต.อ.พัชรวาทเริ่มวันที่ 8 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 แต่เป็นห้วงเวลาที่ไม่ราบรื่น

สุดท้าย พล.ต.อ.พัชรวาทถูกเด้งไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2552 จนถึงเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2552 

โดยมี พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.(ในขณะนั้น) รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2552 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 

ทำให้ พล.ต.อ.พัชรวาทไม่มีโอกาสสานต่อโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน)

พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ มารักษาราชการในตำแหน่ง ผบ.ตร. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 จนถึงวันที่ 2 กันยายน 2553

ย้อนกลับไป นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พยายามเสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป เป็น ผบ.ตร.ตัวจริง ต่อ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) แต่เสียงสนับสนุนไม่เพียงพอ 

ป็นเหตุให้ชื่อของ พล.ต.อ.ปทีปถูกตีตกไป และรั้งตำแหน่งรักษาราชการ ผบ.ตร. จนเกษียณอายุราชการ

และช่วงนี้เอง พล.ต.อ.ปทีปมีหนังสือลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล ตร.(ขณะนั้น) เพื่อให้พิจารณา 

หนังสือระบุว่า ตร.พิจารณาแล้ว เพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง และการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยข้าราชการตำรวจ สามารถดำเนินการไปได้ด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 และไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง 

จึงเห็นสมควรเสนอขออนุมัติให้ ตร.ยกเลิกการดำเนินการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง วงเงิน 6,672,000,000 บาท ด้วยวิธีการจัดจ้างโดยส่วนกลาง แบบรวมการครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1-9) ตามหนังสือ ตร.ด่วนที่สุด ที่ 0009.24/03428 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 

และยกเลิกการเสนอขออนุมัติหลักการในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) 163 แห่ง วงเงิน 3,709,880,000 บาท ตามหนังสือ ตร. ด่วนที่สุด ที่ 0009.24/05312 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2552 และอาคารเรือนแถวตำรวจชั้นประทวน 227 แห่ง ในวงเงิน 771,800,000 บาท ด้วยวิธีการจัดจ้างโดยส่วนกลาง แบบรวมการครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1-9, ศชต.และ บช.น.) และให้ดำเนินการ ดังนี้

1.ให้ ตร.ดำเนินการประกาศประกวดราคาจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 แห่ง ภายในวงเงิน 6,298,000,000 บาท ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมเป็นครั้งเดียว 

2.ให้ ตร.ประกาศประกวดราคาจัดจ้างอาคารที่พักอาศัย (แฟลต) 163 แห่ง ภายในวงเงิน 3,709,880,000 บาท ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกองโยธาธิการ สำนักงานส่งกำลังบำรุง เป็นหน่วยงานจัดจ้างก่อสร้างทุกอาคารรวมกันในครั้งเดียว 

และ 3.ให้ ตร.โอนงบประมาณค่าก่อสร้างอาคารเรือนแถวตำรวจชั้นประทวน 227 แห่ง ในวงเงิน 771,880,000 บาท ให้กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (บก.ภ.จว.) เป็นผู้ดำเนินการจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ

โดยนายสุเทพอนุมัติตามที่ ตร.เสนอ พร้อมกำชับห้ามรื้อ ทุบทิ้งอาคารเดิม ให้เก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป เพราะในอนาคตของบสร้างใหม่ยาก

และนั่นคือ "ปฐมบท" ของ 396 โรงพักที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ

9 ก.พ. 56 เวลา 21:40 1,631
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...