เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับ 40 ของโลก และดื่มเหล้ากลั่นมากเป็นอันดับ 5 ของโลก คนสูบบุหรี่เพิ่มเป็น 11.5 ล้านคน พร้อมเร่งผลักดันมาตรการควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับอำเภอและชุมชน
วานนี้ (8 กุมภาพันธ์) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงสาระสำคัญและแนวทางการเนินการอำเภอควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้มแข็ง ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ โดยนายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันการสูบบุหรี่ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ โดยภาพรวมสถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทย จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2554 พบว่า อัตราการบริโภคยาสูบชนิดมีควันของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ 21.40 หรือมากถึง 11.5 เพิ่มขึ้นจากสองปีที่ผ่านมา คือใน พ.ศ. 2552 ร้อยละ 20.70 หรือ 10.91 ล้านคน และผลสำรวจการได้รับควันบุหรี่มือสองในช่วง 30 วันก่อน ของประชากรนอกเขตเทศบาล ใน พ.ศ. 2554 ยังพบว่า ตลาดสดและตลาดนัด ถือเป็นสถานที่ที่ประชาชนได้รับควันบุหรี่มือสองมากที่สุด ร้อยละ 69 รองลงมาเป็นที่บ้าน และสถานที่ทำงาน คิดเป็นร้อยละ 41.4 และ 35.2 ตามลำดับ
สำหรับสถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 40 ของโลก โดยเฉพาะเหล้ากลั่น ดื่มมากเป็นอันดับ 5 ของโลกโดยมีปริมาณ 13.59 ลิตร/คน/ปี ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เมื่อปี 2554 พบว่า มีผู้บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจร จำนวน 80,962 ราย โดยผู้บาดเจ็บ 1 ใน 3 มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย และจากคดีทำร้ายร่างกาย 15,714 ราย ก็พบว่า มีการดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 45 เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จะมีการขยายขอบเขตสถานที่สาธารณะให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ เพื่อคุ้มครองผู้ที่ไม่สูบบุหรี ไม่ให้ได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง และมีการดำเนินมาตรการด้านกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พร้อมจัดกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือในการดำเนินการอำเภอควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้มแข็งใน 12 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท จันทบุรี นครปฐม สุรินทร์ มหาสารคาม นครพนม พิจิตร สุโขทัย ลำพูน พังงา และจังหวัดสงขลา รวมถึงขยายผลให้ครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค