คาถากันเสียสาว โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข

 

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก นอกจากเหตุผลทางการแพทย์ ว่าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนช่วงตั้งครรภ์ ช่วงคลอด และหลังคลอดสูงกว่าคนทั่วไป (แท้ง ทารกพิการ น้ำหนักน้อย ขาดอาหาร ตายในครรภ์ คลอดยาก ตกเลือดหลังคลอด ฯลฯ), เหตุผลทางด้านสังคม เศรษฐกิจ จิตวิทยา (มารดาต้องหยุดเรียน รายจ่ายสูง รายรับน้อย ครอบครัวยากจนยิ่งขึ้น มารดาเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทำแท้งเถื่อน ทารกถูกทอดทิ้ง ทารกไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ทารกเติบโตมาเป็นปัญหาสังคม ฯลฯ) ยังมีเหตุผลของปัจเจกบุคคล ส่งให้ท้องในวัยรุ่นสร้างบาดแผลอันเจ็บปวดแห่งความทรงจำไม่รู้ลืม ทั้งตัววัยรุ่นและผู้ปกครองเอง (14 วิธีป้องกันท้องในวัยโจ๋ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข มติชนรายวัน 6 ก.พ.2550) แม้มีการรณรงค์ป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไทยอย่างกว้างขวาง ปัญหานี้ก็ลดลงเพียงเล็กน้อย ปัจจุบันวัยรุ่นเสียสาวเร็วขึ้น โดยมีอายุเฉลี่ยเพียง 15-16 ปี จากสถิติสาธารณสุขในปี พ.ศ.2554 เด็กวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดเฉลี่ยวันละ 370 คน และที่เป็นเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดเฉลี่ยวันละ 10 คน ส่งผลให้ปัจจุบันวัยรุ่นไทยคลอดลูกสูงเป็นอันดับสองของเอเชีย 

เรื่องมีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องเลือกได้ เชื่อแน่ว่า หากวัยรุ่นเลือกไม่มีเพศสัมพันธ์ก็ย่อมไม่มีการตั้งครรภ์ ผู้เขียนขอเสนอคาถาป้องกันการเสียสาว ดังนี้

1.A = Abstinence เว้นการมีเพศสัมพันธ์ วัยรุ่นต้องตั้งมั่นอย่างเด็ดเดี่ยวว่าจะไม่มีเพศสัมพันธ์จนกว่าถึงวัยที่จะดูแลตนเองและครอบครัวที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ได้โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองให้การสนับสนุน เมื่อตัดสินใจแล้ว ต้องเคารพการตัดสินใจตนเอง เชื่อมั่นว่าเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่จะมอบให้ตนเอง คู่ครองในอนาคต พ่อแม่และผู้ปกครอง

2.B = Birth control การคุมกำเนิด แม้ตั้งมั่นและไม่มีเพศสัมพันธ์วัยรุ่นต้องเรียนรู้วิธีคุมกำเนิดจนเข้าใจ วัยรุ่นควรทราบว่า การคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีข้อดีข้อเสียอย่างไร มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดเท่าไหร่ เพื่อไว้ป้องกันกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น 

3.C = Control factors ควบคุมปัจจัยต่างๆ พ่อแม่ผู้ปกครองและวัยรุ่นต้องควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้เสียสาว เช่น ไม่อนุญาตให้วัยรุ่นไปไหนด้วยกันหรืออยู่ด้วยกันสองต่อสอง, ไม่อนุญาตให้วัยรุ่นไปค้างคืนบ้านเพื่อน, ไม่ให้วัยรุ่นดื่มเหล้าจนเมามายหรือใช้ยาเสพติดเพราะการดื่มเหล้าและการใช้ยาเสพติดนั้นมักเป็นเหตุให้เสียสาว นอกจากนั้นควรสร้างปัจจัยสนับสนุนการไม่เสียสาว เช่น สอนให้รู้จักการตอบปฏิเสธ ระวังตัวไม่ให้บรรยากาศพาไป

4.D = Discourage early dating ไม่สนับสนุนให้มีการออกเดตเมื่อยังอายุน้อย งานวิจัยพบว่า การออกเดตตั้งแต่เป็นวัยรุ่นตอนต้น (12-15 ปี) และวัยรุ่นตอนกลาง (16-17 ปี) มีโอกาสเสียสาวสูง เพราะการเติบโตทางอารมณ์และจิตใจยังไม่เพียงพอที่จะยับยั้งชั่งใจ หรือป้องกันการเสียสาวให้ตนเองได้ 

5.E = Education teens ให้เพศศึกษาแก่วัยรุ่น ที่เหมาะสมควรให้ความรู้ตั้งแต่เป็นวัยรุ่นตอนต้น ผู้ให้ความรู้อาจจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ บุคลากรทางสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องมีทัศนคติที่ดีในเรื่องเพศ มีวิธีสอนให้รู้จักป้องกันตนเองเรื่องเพศอย่างเข้าใจได้ง่าย ในบรรยากาศที่เป็นมิตร ทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนรู้ได้ซักถาม 

6.F = Friendships การคบเพื่อนฝูง พ่อแม่ผู้ปกครองและวัยรุ่นต้องไม่ปล่อยให้เพื่อนฝูงที่เสียสาวไปแล้วกดดันให้วัยรุ่นเสียสาวตาม ในทางตรงกันข้าม ควรมีกลุ่มเพื่อนที่มีความตั้งใจไม่เสียสาวก่อนเวลาอันสมควร สนับสนุนกัน ช่วยดูแลกัน

7.G = Good parent เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองที่ดี นอกจากมีสัมพันธภาพที่ดีกับลูก พ่อแม่ต้องมีเวลาให้ลูก สื่อสารกับลูกเป็นประจำ สังเกตการเปลี่ยนแปลงของลูก ดูแลเพื่อนฝูงของลูก สอนให้ลูกรู้จักวิธีตอบปฏิเสธเมื่อมีผู้ชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ 

8.H = Hobbies งานอดิเรก รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้วัยรุ่นมีงานอดิเรกที่ชอบ สนับสนุนฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง การดิ้นรนต่อสู้เพื่อไปสู่อนาคตที่ใฝ่ฝัน ทำให้วัยรุ่นหมกมุ่นเรื่องเพศน้อยลง โอกาสเสียสาวน้อยลง 

9.I = Intensive supervision and monitoring ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด รัฐมีนโยบายต่อเนื่องจริงจังและจริงใจในการป้องกันวัยรุ่นเสียสาว

พ่อแม่ผู้ปกครองต้องรู้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เฝ้าติดตามดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด, สังคมต้องเป็นมิตรกับวัยรุ่น, สื่อสนับสนุนสร้างบทเรียนให้วัยรุ่นไม่เสียสาวฯลฯ

..............

 

 

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข (chanwalee@srisukho.com)

9 ก.พ. 56 เวลา 16:14 2,042 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...