วันที่ 8 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชากรในโลกไซเบอร์และเครือข่ายสังคมออนไลน์ของไทย ยังคงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบพระรูปหนึ่งที่อยู่ในภาพถ่ายขณะกำลังนั่งรับประทานอาหารเย็นสองต่อสองกับหญิงสาวผมยาวสลวยในร้านปิ้งย่างชื่อดังภายในห้างฯแห่งหนึ่งย่านสามเสนเมื่อค่ำวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา
ล่าสุด ชาวเน็ตยังคงเผยแพร่ภาพดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อทวงถามถึงข้อเท็จจริงและความรับผิดชอบ โดยบางกลุ่มตั้งชื่อภาพว่า "พระสงฆ์ทานดินเนอร์กับหญิงสาว" พร้อมเขียนบรรยายว่า พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย โปรดเข้าวัดทำบุญกันเยอะๆนะฮะ พระสงฆ์ท่านจะได้ไม่ต้องลำบากออกมาทาน dinner
วันเดียวกัน นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผย "ข่าวสด" ถึงกรณีเครือข่ายสังคมออนไลน์ของไทย เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบพระรูปหนึ่งกำลังนั่งรับประทานอาหารเย็นสองต่อสองกับหญิงสาวในร้านปิ้งย่างชื่อดังภายในห้างฯแห่งหนึ่งย่านสามเสน เมื่อค่ำวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น ว่า ตนได้สั่งการให้ทางส่วนคุ้มครองพระพุทธศาสนา สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว ในเบื้องต้นได้รับรายงานว่า เหตุเกิดในพื้นที่เขตดุสิต ร้านบาร์บีคิวพลาซ่า พร้อมทั้งได้ประสานไปยังร้านที่เกิดเหตุเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ว่า เป็นพระสงฆ์อยู่ในสังกัดของวัดใด อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้จนกว่าจะทราบว่า เป็นพระชื่ออะไร สังกัดไหน เพื่อที่จะได้ให้เจ้าคณะปกครอง ดำเนินการตักเตือนและลงโทษตามความเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ สำนักพุทธฯ ยังได้ทำหนังสือถึง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้ช่วยงดนำภาพไปเผยแพร่ต่อ ถึงแม้ว่า จะไม่เป็นการกระทำผิดร้ายแรง แต่ก็กระทบต่อความศรัทธาชาวพุทธที่มีต่อพระพุทธศาสนา
ด้านพระราชรัตนาภรณ์ หัวหน้าพระวินยาธิการ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตนได้รับรายงานว่า มีพระรูปหนึ่งไปฉันท์อาหารเย็นกับสีกา ภายในร้านปิ้งย่างในเขตดุสิต ซึ่งทางพระวินยาธิการกำลังประสานไปยังวัดประสาทบุญญาวาส ในฐานะเจ้าของพื้นที่เขตดุสิต ว่า มีความคืบหน้าทางข้อมูลหรือไม่ก่อน ส่วนความผิดทางพระวินัย ถือว่าไปนั่งกับผู้หญิงในที่อโคจร คือ ยังมีผู้คนผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก ยังไม่ถือว่าอยู่ในโทษอาบัติหนัก เช่น อยู่กับหญิงสาวเพียงสองต่อสองในที่ลับ เป็นต้น ขณะที่การฉันท์ในยามวิกาล ตามหลักพระธรรมวินัยได้ระบุไว้ว่า เป็นอาบัติปาจิตตีย์ สามารถปลงอาบัติได้ โดยบอกความผิดต่อหน้าคณะสงฆ์ แต่ในทางโลก ถือว่า เป็นโลกวัชชะ เป็นการกระทำที่สังคมติเตียน ทำให้เกิดความเสียหายต่อพระพุทธศาสนา สำหรับโทษทางปกครอง มีพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 มอบหมายให้เจ้าคณะปกครองที่ดูแลในพื้นที่ลงโทษตามความเหมาะสมที่ได้ประพฤติเช่นนั้น