เด็กๆ…คือ”เหยื่อ” ตลอดกาล…
บทความโดย ... ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์
“พ่อเหี้ยม-หื่นข่มขืนลูกทั้งบ้าน”!
“แม่โหดทุบลูกหน้าเละ”!!
“แค่ขวบครึ่ง โดนบุหรี่จี้ทั้งตัว – ฝีมือพ่อเลี้ยงซาดิสต์”!!!
สลดหดหู่ และทำใจยากจริงๆ ทุกครั้งที่อ่านเจอข่าวเด็กโดนทารุณกรรม…ตั้งแต่จำความได้จนอายุปูนนี้ เหตุการณ์ที่เด็กๆต้องตกเป็น”เหยื่อ”ของผู้ใหญ่จิตโหดนั้น ไม่เคยจางหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ เหมือนเป็น”วงจรแห่งความชั่วร้าย”ที่วนเวียนไปอย่างไม่จบสิ้น สถิติเด็กและเยาวชนที่ต้องโทษต้องคดีนั้น 95.7%เคยถูกพ่อแม่เฆี่ยนตีอย่างรุนแรง เด็กผู้หญิงที่ขายบริการทางเพศนั้น ส่วนใหญ่ล้วนมาจากครอบครัวที่พ่อแม่ขาดความรับผิดชอบต่อลูก แและลงโทษลูกด้วยความรุนแรง (จากงานวิจัย ของภาควิชาการสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ม.มหิดล โดย รศ.ดร.สมพร เตรียมชัยศรี)
20 พ.ย. 2502
องค์การสหประชาชาติได้ประกศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก และเยาวชนรวม10ข้อ โดยในข้อ9 ระบุไว้ชัดเจนว่า…
“ เด็ก และเยาวชนพึงได้รับการปกป้องให้พ้นจากการถูกทอดทิ้ง จากการถูกทารุณ และจากการถูกข่มเหงทุกชนิด…”แต่เมื่อหันมาดู”เด็กๆ”ในบ้านเมืองของเรา…ไม่ว่าจะเป็นในแหล่งสลัม..ห้องแถว..หรือแม้แต่ในคฤหาสน์หรู …
“เด็ก”ก็ยังคงมีสิทธิเป็น”เหยื่อ” เป็น”แพะรับบาป” ที่ไม่มีหนทางปกป้องตนเองได้เลย… จากการถูกพ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูถีบ เตะ หรือเหวี่ยงชนกำแพง … กระชากผมจนหน้าหงาย… บีบคอจนเลือดทะลักออกจากปากและจมูก… ทิ่มช้อนเข้าไปในปาก… กระแทกจมูกด้วยปลายด้ามไม้กวาด…นาบหลังด้วยเตารีด… จับมัดโยงกับขื่อแล้วเฆี่ยนด้วยเข็มขัดหนัง…ฯลฯ…ฯลฯ…ฯลฯ…ดังนั้นความรุนแรงจึงยังไม่ยุติ แม้วันที่ 20พ.ย.ของทุกปีคือ “วันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” และ “ไม่ซีเรียส-ไม่ได้แล้ว “
ในเมื่อไทยแลนด์แดนสไมล์ของเราติดอันดับโลก 1 ใน 10 ตั้งแต่ปี 2546 ในเรื่องของความรุนแรงต่อเด็กและสตรี”!!!
ปัญหาทางจิตใจ ของเด็กที่โดนทารุณกรรม
1 ) เขามักจะล่องลอยอยู่ในจินตนาการอันแสนสุข (fantasy) การเพ้อฝันถึง” อ้อมกอดของแม่ “ …”แม่คือนางฟ้าแสนใจดี” เพื่อผ่อนคลายความคับข้องใจ และเพื่อทดแทนความว้าเหว่ในชีวิตจริง
2 ) รู้สึกว่าตนเองเป็นเหมือน “สินค้าที่ชำรุดแล้ว” (damaged good) ที่รอเพียงวันถูกกวาดทิ้งลงถังขยะ มองตนเองอย่างด้อยค่า และไร้พลังที่จะปกป้องตนเองจากการถูกทารุณ
3 ) มีความขัดแย้งทางจิตใจอยู่เสมอ ระหว่างความรักและความเกลียดชัง เมื่อเกิดความคิดอยากทำลาย ก็จะเกิดความรู้สึกผิดบาปตามมา กระทั่งความชิงชังนั้นย้อนกลับสู่ตนเอง(aggression turned inward) จนกลายเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ
ซึมเศร้า และมีแนวโน้มฆ่าตัวตายในอนาคต
4 ) มองจากภายนอกเขาจะเหมือนเงียบขรึม สยบยอม แต่เมื่อมีเหตุกระต้นเร้าถึงขีดจำกัดหนึ่ง เขาก็จะระบายโทสะอย่างรุนแรง ถึงขั้นกลายเป็นฆาตกรได้อย่างคาดไม่ถึง !
5 ) การถูกกระทำทารุณอยู่เสมอ ได้กลายเป็นแบบอย่างอันเลวร้าย ประกอบกับความกดดันที่โดนผู้ใหญ่ข่มเหงเสมอมา ทำให้เกิดความฝังใจว่า “ ความรุนแรง คืออำนาจ และการแก้ปัญหา “
6 )มักหนีวงจรแห่งความชั่วร้ายไม่พ้น จากการเป็นผู้ถูกกระทำในวัยเด็กก็จะกลายเป็นผู้กระทำในยามเติบใหญ่ เมื่อมีครอบครัว…มีลูก (เด็กที่ถูกลงโทษรุนแรง มักจะกลายเป็นพ่อแม่ที่ทารุณลูก -จากงานวิจัยของ Edgerton 1981 เด็กที่ถูกลงโทษรุนแรง มักจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ข่มเหงพ่อแม่-จากงานวิจัยของ Cornell – Gells 1982)
7 )เหตุแห่งการหนีออกจากบ้าน จนกลายเป็นเด็กเร่ร่อนนั้น โดยมากแล้วเกิดจากเบื่อหน่ายการทะเลาะตบตีกันของพ่อแม่
และทนไม่ไหวแล้วกับการโดนพ่อแม่ทำร้ายทารุณ (จากการสำรวจของ สนง.สวัสดิการสังคม ปี2544)
เหตุใด…พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่(บางคน)จึงทำรุณกรรมเด็กๆได้อย่างโหดเหี้ยม?
1…เขามักมีประวัติในวัยเด็กที่โดนลงโทษอย่างรุนแรงอยู่เสมอหรือแม้แต่การเติบโตมาในบรรยากาศแห่งความรุนแรง เช่น อยู่ในแวดวงของเจ้าพ่อ มือปืน หรือเหล่าอันธพาล กระทั่งบ้านที่ผู้ใหญ่ลงไม่ลงมือกันเป็นประจำ
2…มักมีบุคลิกแบบ Implusive คือโกรธง่าย โมโหร้าย มีปัญหาในการควบคุมตนเอง ทนต่อผิดหวังได้น้อย ทนต่อคำตำหนิไม่ได้เลย
3…มักชอบโทษผู้อื่น และหา“แพะรับบาป”( Scapegoat )อยู่เสมอ ดังนั้น”ลูก” ในความรู้สึกของเขาจึงมักจะเป็น “ตัวซวย”อยู่เสมอ
4…มักมีบุคลิกแบบ Immature คือขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ ขาดสำนึกรับผิดชอบ ยังรักสนุกรักอิสระ เห็นลูกเป็น”ตัวถ่วง”ของชีวิต พ่อแม่ที่มีบุคลิกเช่นนี้มักทำรุนแรงกับลูก ด้วยอารมณ์ชั่ววูบ และนั่งคร่ำครวญสำนึกผิดเมื่ออารมณ์สงบลง แต่ก็มีหลายรายที่ทารุณลูกโดยมั่นใจอย่างเต็มที่ว่า ลูกคือสมบัติของตนที่ตนมีสิทธิกระทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะย่ำยีจนลูกร้องโหยหวนอย่างแสนเจ็บปวด ...เลือดโชก…พิการ หรือ …ตาย …
5…จากงานวิจัยของมูลนิธิคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2540 ได้รวบรวมเหตุผลของพ่อแม่ที่กระทำทารุณต่อลูกของตนเอง ดังนี้…
- เห็นว่า ลูกเป็นตุ้มถ่วงของชีวิต 26%
- เห็นว่า เป็นเรื่องชอบธรรมที่จะลงโทษลูกอย่างไรก็ได้เพราะพ่อแม่ของตนเองก็เคยกระทำเช่นเดียวกันนี้ 36%
-เชื่อคำทำนายของ “หมอดู”ที่บอกว่า ลูกคนนี้จะเป็น “ตัวกาลกิณี” 36%
เมื่อดูตัวเลขจากศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และมูลนิธิปวีณา ปรากฏว่าสถิติของเด็กๆที่โดนทำร้าย หรือทารุณทางเพศนั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง และสิ่งที่ยิ่งน่าห่วงตามมาก็คือ การ”เยียวยารักษาจิตใจ”ของเด็กๆที่น่าสงสาร ว่าเป็นไปอย่างจริงจังจริงใจได้ผลดี และมีการติดตามผลโดยต่อเนื่องหรือไม่ ?
ปัญหาทางจิตใจของเด็กที่โดนทำร้ายทางเพศ
1.. หลังเกิดเหตุร้ายนั้น เด็กจะยังขวัญผวา กังวลกลัว ความเครียด ยังมีอยู่สูง หวาดระแวง กลัวคนแปลกหน้า(โดยเฉพาะเพศชาย) และมีอาการนอนไม่หลับ
2…ในวันต่อมา เด็กเริ่มนอนหลับได้และมีอาการฝันร้ายตกใจตื่น หรือนอนละเมอ กินอาหารได้น้อย หลายๆรายกลับไปมีพฤติกรรมเหมือนเช่นเด็กเล็กๆ เช่นหงุดหงิดงอแง ดูดนิ้ว ปัสสาวะรดที่นอน
3… เมื่อมีการซักถามที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี เด็กบางคนอาจจะไม่ยอมพูดเลย เหมือนจะกดความทรงจำอันเลวร้ายนั้น พยายามจะลืมให้ได้ ในขณะที่บางคนกลับพูดถึงเหตุร้ายนั้นซ้ำๆเหมือนคุมไม่ได้
4… แม้เด็กจะตกเป็นเหยื่อของคนเลว แต่พวกเขากลับมักรู้สึกผิด โกรธ โทษตนเอง อับอาย และรู้สึกต่ำต้อย
5… พ่อแม่และผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็ก ควรให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และแพทย์และ”จำเป็นอย่างยิ่ง”ที่จะต้องช่วยกันปลอบโยน คลายทุกข์ให้เด็กผู้เคราะห์ร้ายให้เขารู้ว่าเราเห็นใจและเข้าใจเขา ให้เขามั่นใจว่าเหตุร้ายนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก
สิ่งที่เด็กๆผู้น่าเวทนาเหล่านี้ต้องการก็คือ”กำลังใจ” เพื่อให้ตนเองเข้มแข็งขึ้น เรียกความมี“คุณค่า”ในตนเองให้คืนกลับมาเพื่อความหวังที่สดใส และก้าวไปสู่วันใหม่ด้วยความมั่นใจ…