เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
กระทรวงแรงงาน สั่ง สปส. ปรับหลักเกณฑ์ในการเก็บเงินสมทบใหม่ หลังพบว่า ไม่มีการแยกเงินเดือนกับสวัสดิการออกจากกัน ซึ่งไม่เป็นธรรมทั้งกับผู้ประกอบการและผู้ประกันตน
เมื่อวานนี้ (5 กุมภาพันธ์) นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนได้เรียกผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มาสอบถามถึงระเบียบในการเรียกเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตน เนื่องจากพบว่า การเก็บเงินสมทบในปัจจุบัน ไม่ได้มีการแยกเงินเดือนกับสวัสดิการออกจากกัน เพื่อคำนวณเงินสมทบ
ทั้งนี้ การเก็บเงินในรูปแบบดังกล่าว ส่งผลให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องส่งเงินสมทบสูงกว่าอัตราที่กำหนดของอัตราเงินเดือน เช่น เงินเดือน 13,000 บาท นายจ้างจ่ายสวัสดิการเพิ่มอีก 2,000 บาท สปส. ก็นำรายได้ทั้ง 2 ส่วนมารวมกันเพื่อคำนวณอัตราเงินสมทบ ส่งผลให้ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบอัตราร้อยละ 5 อยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน แต่หากคิดเฉพาะเงินเดือน 13,000 บาท ผู้ประกันตนจะส่งเงินสมทบลดลง 100 บาท คือจ่าย 650 บาทต่อเดือน
นายสง่า ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาศาลแรงงานกลางได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้ว่า เงินเดือนกับสวัสดิการเป็นคนละส่วนกัน ไม่สามารถนำมาคำนวณอัตราเงินสมทบได้ ดังนั้นจึงมองว่า ไม่เป็นธรรมกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งได้แนะนำให้ผู้บริหาร สปส. ไปปรับปรุงวิธีการเก็บเงินสมทบใหม่ แต่หากเกรงว่าจะขัดกับระเบียบ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ก็ควรมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ในการเก็บเงินสมทบใหม่ เพื่อความเป็นธรรมกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก